ฉบับปรับปรุงเดือน : กุมภาพันธ์ |
(๐๓-๐๒-๒๕๖๓-๑๑:๓๐) |
---|
ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป |
ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป |
---|---|
มาตรา ๘๓-๘๙ |
หมวด ๖ ตัวการและผู้สนับสนุน |
มาตรา ๘๓ ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา ๘๔ ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วย การใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น
* มาตรา ๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ.๒๕๕๙ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๓๑ ก หน้า ๔ วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๙)
มาตรา ๘๕ ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และความผิดนั้นมีกำหนดโทษไม่ต่ำกว่าหกเดือนผู้นั้นต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ถ้าได้มีการกระทำความผิด เพราะเหตุที่ได้มีการโฆษณาหรือประกาศตามความในวรรคแรก ผู้โฆษณาหรือประกาศต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ
มาตรา ๘๕/๑ ถ้าผู้ถูกใช้ตามมาตรา ๘๔ หรือผู้กระทำตามคำโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดตามมาตรา ๘๕ ได้ให้ข้อมูลสำคัญอันเป็นการเปิดเผยถึงการกระทำความผิดของผู้ใช้ให้กระทำความผิดหรือผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินคดีแก่บุคคลดังกล่าว ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
* มาตรา ๘๕/๑ เพิ่มเติมโดย มาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๕) พ.ศ.๒๕๕๙ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓ ตอนที่ ๓๑ ก หน้า ๔ วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๙)
มาตรา ๘๖ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น
มาตรา ๘๗ ในกรณีที่มีการกระทำความผิดเพราะมีผู้ใช้ให้กระทำตามมาตรา ๘๔ เพราะมีผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดตามมาตรา ๘๕ หรือโดยมีผู้สนับสนุนตามมาตรา ๘๖ ถ้าความผิดที่เกิดขึ้นนั้น ผู้กระทำได้กระทำไปเกินขอบเขตที่ใช้หรือที่โฆษณาหรือประกาศ หรือเกินไปจากเจตนาของผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดแล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาเพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้หรือที่โฆษณาหรือประกาศ หรืออยู่ในขอบเขตแห่งเจตนาของผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเท่านั้น แต่ถ้าโดยพฤติการณ์อาจเล็งเห็นได้ว่า อาจเกิดการกระทำความผิดเช่นที่เกิดขึ้นนั้นได้ จากการใช้ การโฆษณา หรือประกาศ หรือการสนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่เกิดขึ้นนั้น
ในกรณีที่ผู้ถูกใช้ ผู้กระทำตามคำโฆษณา หรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือตัวการในความผิด จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้นเพราะอาศัยผลที่เกิดจากการกระทำความผิด ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป ให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย แต่ถ้าโดยลักษณะของความผิด ผู้กระทำจะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้นเฉพาะเมื่อผู้กระทำต้องรู้หรืออาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นนั้นขึ้น ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด จะต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นก็เฉพาะเมื่อตนได้รู้ หรืออาจเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดผลเช่นที่เกิดขึ้นนั้น
มาตรา ๘๘ ถ้าความผิดที่ได้ใช้ ที่ได้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำ หรือที่ได้สนับสนุนให้กระทำ ได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้ใช้ ผู้โฆษณาหรือประกาศหรือผู้สนับสนุน ผู้กระทำได้ก็ทำไปไม่ตลอดหรือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้ใช้หรือผู้โฆษณาหรือประกาศ คงรับผิดเพียงที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๔ วรรคสอง หรือมาตรา ๘๕ วรรคแรก แล้วแต่กรณี ส่วนผู้สนับสนุนนั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา ๘๙ ถ้ามีเหตุส่วนตัวอันควรยกเว้นโทษ ลดโทษหรือเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิดคนใด จะนำเหตุนั้นไปใช้แก่ผู้กระทำความผิดคนอื่นในการกระทำความผิดนั้นด้วยไม่ได้ แต่ถ้าเหตุอันควรยกเว้นโทษ ลดโทษหรือเพิ่มโทษเป็นเหตุในลักษณะคดีจึงให้ใช้แก่ผู้กระทำความผิดในการกระทำความผิดนั้นด้วยกันทุกคน