มาตรา 136 | ประมวลกฎหมายอาญา |

 

ประมวลกฎหมาย
อาญา
ภาค ๒ ความผิด

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

หน้าก่อน

 

     มาตรา ๑๓๖  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๑๓๖  แก้ไขโดย มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๓ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา
คำอธิบาย

    ...

คำพิพากษาศาลฎีกา

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 05:58:09
    ปรับปรุงล่าสุด : วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 05:58:09


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136    มาตรา ๑๓๖
        ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1608 / 2564
    การดูหมิ่นอันเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หมายถึง การด่า ดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่า การกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม หรือสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว พันตำรวจเอก ส. โจทก์ร่วม เรียกจำเลยกับพวกไปสอบถามถึงเหตุที่แจ้งความให้ดำเนินคดีแก่คนร้ายที่ร่วมกันปลันรถยนต์ ซึ่งได้ความว่ารถยนต์คันดังกล่าว มีชื่อ ส. เป็นผู้ครอบครอง มิใช่จำเลย โจทก์ร่วมจึงให้ ส. เป็นผู้ให้ข้อเท็จจริง ส. แจ้งว่าวันเกิดเหตุ พนักงานของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อมายึดรถยนต์ของตน เป็นเหตุให้จำเลยเกิดความไม่พอใจกล่าวต่อโจทก์ร่วมว่า "ผู้กำกับเหลี่ยมใส่เราแล้ว" ทั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ร่วมเป็นไปตามขั้นตอนการทำงานตามปกติ เพราะก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะรับแจ้งความเรื่องใดย่อมต้องสอบถามข้อเท็จจริงให้ได้ความชัดแจ้งว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นเสียก่อน เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ให้เกิดการกลั่นแกลังกันโดยการนำเอาความเท็จมาแจ้ง ที่จำเลยพูดกับโจทก์ร่วมด้วยถ้อยคำดังกล่าว อันหมายถึงโจทก์ร่วมใช้เล่ห์เหลี่ยมไม่รับแจ้งความตามที่ ส. แจ้ง ทำให้ผู้ที่ได้ยินเข้าใจว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริต ถ้อยคำดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่เป็นการกล่าวถ้อยคำสบประมาทโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่ เป็นการดูหมิ่นโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 02:36:26
    ปรับปรุงล่าสุด : วันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 02:36:26


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136    มาตรา ๑๓๖
        ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1485 / 2566
    จำเลยกล่าวร้ายผู้เสียหายต่อหน้าด้วยถ้อยคำพูดดังที่ปรากฎในสำเนาบันทึกถ้อยคำที่ถอดเป็นข้อความสนทนาจากคลิปเสียง เอกสารหมาย จ.๒ ว่า "คุณปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ" บ้าง" คุณยัดยาเสพติดให้ผู้ต้องหานะครับ" บ้าง "คุณนะเป็นแค่โจรคนหนึ่ง" เป็นต้น ซึ่งแม้แต่วิญญูชนทั่วไปเมื่อได้รับฟังถ้อยคำพูดเช่นนั้นแล้ว ย่อมรู้สึกได้ว่าเป็นการด้อยค่าทั้งความประพฤติส่วนตัวและการปฏิบัติหน้าที่ราชการของผู้เสียหาย จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทนายความย่อมต้องมีความรู้พิเศษในข้อกฎหมายมากยิ่งกว่าบุคคลทั่วไปที่มิได้ศึกษาวิชากฎหมายว่าถ้อยคำพูดที่ตนได้พูดออกไปนั้นอาจถูกผู้เสียหายกล่าวหาได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ทั้งยังเป็นความผิดซึ่งหน้าที่ผู้เสียหายสามารถจับกุมจำเลยได้ทันทีโดยไม่ต้องมีหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๗๘ (๑)


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

แสดงความคิดเห็น

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 01:25:51
    ปรับปรุงล่าสุด : วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 01:25:51


    ม.136 เอาผิดการ "ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน" ไม่เอาผิดการ "วิจารณ์รัฐบาล"
    .
    หลังจากที่ที่สังคมไทยตกอยู่ในภาวะสับสนเกี่ยวกับนโยบายการให้เงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ในสถานการณ์ #โควิด19 และชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวเตือนผู้ที่จะโพสข้อความใดๆ ลงในโซเชียล ว่า ขอให้คิดให้หนักก่อนโพส หากข้อความดังกล่าวเป็นเท็จและได้เงินเยียวยามาจากการให้ข้อมูลเท็จ หรือแม้แต่การดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยคำหยาบคายต่างๆ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 3 ข้อหาหนัก ใครรู้ตัวทำผิดสามารถใช้บริการปุ่มยกเลิกการลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัhttp://xn--q3c.com/ ได้
    .
    โดยชาญกฤช ยังกล่าวว่า การตั้งใจกรอกข้อมูลหลอกลวงรัฐ เพื่อหวังลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาลเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกง มาตรา 341 มีโทษขั้นสูงจำคุก 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 มีโทษขั้นสูงจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่โพสหมิ่นรัฐบาลมีความผิดตาม มาตรา 136 มีโทษขั้นสูงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแม้ว่าผู้โพสจะลบข้อความไปแล้ว แต่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สามารถดึงข้อมูลที่ลบไปแล้วกลับมาได้
    .
    จากกรณีที่ชาญกฤชออกมาข่มขู่ประชาชนเช่นนี้ มีส่วนที่ถูกต้องอยู่บ้าง กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 เอาผิดฐาน "แจ้งความเท็จ" จริง โดยการแจ้งความเท็จที่จะเป็นความผิดจะต้องมีลักษณะที่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ถ้าเป็นการโกหกธรรมดาไม่ทำให้ใครเสียหายไม่เป็นความผิด กรณีการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิเงินเยียวยาครั้งนี้ หากผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตัวเองไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินเยียวยาแต่ตั้งใจกรอกข้อความเท็จลงในระบบ ทำให้ระบบทำงานตรวจสอบได้ช้า และทำให้ผู้มีสิทธิตัวจริงไม่ได้รับเงิน หรือได้รับเงินช้า ก็อาจเป็นความผิดตามมาตรา 137 ได้
    .
    อย่างไรก็ดี การที่ชาญกฤชกล่าวว่า ผู้ที่โพสหมิ่นรัฐบาลมีความผิดตาม มาตรา 136 ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน นั้น ยังไม่เป็นความจริงเสียทั้งหมด
    ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 บัญญัติไว้ ดังนี้
    "ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
    .
    การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 ได้ ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยสามประการประกอบกัน คือ
    1. ดูหมิ่น
    2. เจ้าพนักงาน
    3. ซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่
    << องค์ประกอบข้อที่ 1 ดูหมิ่น >>
    ไม่ได้มีกฎหมายใดให้คำนิยามคำว่า "ดูหมิ่น" ไว้ชัดเจน แต่มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกามากมายที่ตีความความหมายของการดูหมิ่นเอาไว้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551 อธิบายว่า "ดูหมิ่น" หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่
    .
    ตัวอย่าง ถ้อยคำที่ศาลฎีกาเคยพิพากษาว่า เป็นการดูหมิ่น เช่น เฮงซวย ตอแหล อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย ไอ้หน้าโง่ ฯลฯ ซึ่งเห็นได้ว่า ถ้อยคำที่จะเข้าข่ายการ "ดูหมิ่น" นั้นจะมีลักษณะหยาบคาย เหยียดหยาม มุ่งโจมตีด้วยบุคคล ทำให้ได้รับความเจ็บใจ ทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรี หรือเป็นการลดทอนคุณค่า ลดทอนสถานะของบุคคลที่ถูกกล่าวหานั้นๆ หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต โดยไม่ได้มุ่งลดทอนศักดิ์ศรีของตัวบุคคลย่อมไม่ใช่การดูหมิ่น
    << องค์ประกอบข้อที่ 2 เจ้าพนักงาน >>
    ก่อนหน้าปี 2558 คำว่า "เจ้าพนักงาน" ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนในประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็มีแนวทางการตีความของศาลฎีกาที่ยึดถือกันมายาวนาน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1787/2524 ที่กล่าวไว้ว่า เจ้าพนักงานย่อมหมายถึงบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย กล่าวคือในการแต่งตั้งนั้นมีกฎหมายระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้นั้น
    .
    แต่ต่อมาข้อถกเถียงเรื่องคำนิยามของคำนี้ก็หมดไป เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในปี 2558 กำหนดนิยามไว้ในมาตรา 1(16) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาของศาล ดังนี้ "เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่"
    .
    จากคำนิยามนี้ จึงจำกัดว่า บุคคลที่จะเป็นเจ้าพนักงานและได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 136 ต้องได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ "ราชการ" ซึ่งคณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาล หรือ ส.ส. เป็นฝ่ายการเมืองเมื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ออกนโยบาย จึงไม่ได้ทำหน้าที่ของราชการเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองของมาตรา 136
    .
    อย่างไรก็ดี หากรัฐมนตรีทำงาน หรือปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะเช่นเดียวกับหน้าที่ของข้าราชการทั่วไป เช่น การแสวงหาข้อเท็จจริง การไปร่วมประชุม ก็อาจอยู่ในขอบข่ายที่ได้รับความคุ้มครอง โดยพิจารณาจากการกระทำ หรืออำนาจหน้าที่ที่ใช้อันเป็นเหตุให้ถูกดูหมิ่นเป็นหลัก
    << องค์ประกอบข้อที่ 3 ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ >>
    การดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 จะต้องเป็นการดูหมิ่นที่เกี่ยวกับการทำงานด้วย เช่น ดูหมิ่นตำรวจที่ตั้งด่านตรวจ ดูหมิ่นครูที่สอนหนังสือ ดูหมิ่นหมอที่รักษาคนไข้ แต่ถ้าหากเป็นการดูหมิ่นในเรื่องอื่น หรือประเด็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานตามหน้าที่ ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 136 เช่น การกล่าวถึงตำรวจในประเด็นว่า มีชู้ การกล่าวถึงครูว่า มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการกล่าวถึงหมอว่า เอาเวลาทำงานไปเที่ยวสนามกอล์ฟ
    .
    อย่างไรก็ดีการดูหมิ่นในเรื่องส่วนตัวแม้ไม่ผิดตามมาตรา 136 ก็อาจเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า เช่นเดียวกับการดูหมิ่นคนทั่วไปได้ ตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 393 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    .
    การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 จะต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งสามข้อที่กล่าวมา หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่เป็นความผิดทันที
    .
    ดังนั้น หากเป็นการ "วิพากษ์วิจารณ์" รัฐบาล แต่ไม่ได้มุ่งใช้ถ้อยคำหยาบคายให้เกิดความเจ็บใจ ลดทอนศักดิ์ศรี ลดทอนคุณค่า ก็ไม่ใช่การ "ดูหมิ่น" ก็ขาดองค์ประกอบข้อที่ 1
    .
    หากเป็นการมุ่งโจมตีที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจออกนโยบาย ก็ไม่ใช่การโจมตี "เจ้าพนักงาน" ก็ขาดองค์ประกอบข้อที่ 2
    หากเป็นการวิจารณ์ในพฤติกรรมส่วนตัวหรือเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ก็ขาดองค์ประกอบข้อที่ 3
    .
    มาตรา 136 ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อคุ้มครองเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้สามารถทำงานได้โดยราบรื่นไม่ให้ถูกคุกคาม กดดัน หรือขัดขวาง จนทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ แต่มาตรา 136 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะห้ามประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ใช่ความผิดฐาน "หมิ่นรัฐบาล" ตามที่ชาญกฤษกล่าวไว้
    .
    โดยมาตรา 136 สมัยก่อนมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หลังการรัฐประหาร 2519 มาตรานี้ถูกแก้ไขเพิ่มโทษ พร้อมกับการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูหมิ่นครั้งใหญ่ เช่น ความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามมาตรา 198 จนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ก่อนที่ในปี 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทั้งฉบับ ให้เพิ่มโทษปรับขึ้น 10 เท่า เมื่อถึงปีปี 2563 มาตรา 136 จึงมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ที่มา : iLaw
    1 กรกฎาคม 2564 เวลา 10:36 น.

    อาญา-136-หมิ่นรัฐบาล-หรือ-หมิ่นเจ้าพนักงาน.png



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 1 Online
» 7 Today
» 124 Yesterday
» 892 Week
» 4499 Month
» 201431 Year
» 1452836 Total
Record: 10208 (10.06.2023)
Free PHP counter

ทบทวน สรุปย่อ สอบทนายความ ภาคทฤษฎี"
Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ

ทบทวน สรุปย่อ สอบทนายความ ภาคปฏิบัติ"