นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 18:41:30
ปรับปรุงล่าสุด : วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 18:42:36
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 มาตรา ๓
ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อสำนวนความปรากฏแก่ศาล หรือเมื่อผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้นหรือพนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ในการที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่นี้ ถ้าปรากฏว่า ผู้กระทำความผิดได้รับโทษมาบ้างแล้ว เมื่อได้คำนึงถึงโทษตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังหากเห็นเป็นการสมควรศาลจะกำหนดโทษน้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดไว้ถ้าหากมีก็ได้ หรือถ้าเห็นว่าโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับมาแล้วเป็นการเพียงพอ ศาลจะปล่อยผู้กระทำความผิดไปก็ได้
(๒) ถ้าศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตผู้กระทำความผิด และตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง โทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ถึงประหารชีวิต ให้งดการประหารชีวิตผู้กระทำความผิด และให้ถือว่าโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาได้เปลี่ยนเป็นโทษสูงสุดที่จะพึงลงได้ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา ๒๘๘
ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 มาตรา ๒๙๑
ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 มาตรา ๓๐๐
ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2255 / 2522คำพิพากษาย่อสั้น
บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาจะให้รถยนต์ที่ผู้ตายขับชนกับรถโดยสารประจำทางซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นอยู่แล้วว่า เมื่อรถโดยสารแล่นสวนทางมาในระยะใกล้ หากจำเลยได้หยุดและหักรถหลบเข้ามาทางซ้าย ผู้ตายต้องหลบมาทางขวา จะชนกับรถโดยสารในทันที ผู้ตายและผู้โดยสารต้องถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส และรถทั้งสองชนกันมีคนตายและบาดเจ็บสาหัสดังเจตนาของจำเลย หรือมิฉะนั้นก็ขับรถด้วยความประมาทแสดงว่าฟ้องมีความประสงค์ให้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง หาใช่ขอให้ลงโทษทั้งสองอย่างไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และจำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1547/2511)
จำเลยขับรถปิดเส้นทางไม่ยอมให้ผู้ตายซึ่งขับรถตามหลังมาแซงขึ้นหน้า เมื่อรถโดยสารประจำทางแล่นสวนทางมา จำเลยก็แกล้งเบรคให้รถหยุดในทันที การกระทำเช่นนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าผู้ตายต้องหักรถหลบไปทางขวาและชนกับรถโดยสารนั้น ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลยได้ว่าจะมีผู้ได้รับอันตรายบาดเจ็บและตายเกิดขึ้นจากเหตุที่รถชนกันนั้น ฉะนั้นเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยผลแห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าว จงได้ชื่อว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเจตนาให้รถยนต์ที่ผู้ตายขับชนกับรถยนต์ประจำทาง ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นอยู่แล้วว่าต้องมีคนตายและบาดเจ็บสาหัส หรือมิฉะนั้นก็ขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บ เกิดเหตุแล้วจำเลยไม่กระทำการช่วยเหลือตามสมควร และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทันที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 291, 300, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29, 30, 66, 68 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 พ.ศ.2515 ข้อ 6, 11, 13 ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 20 ปี ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 30, 68 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที 59 ข้อ 6, 3 จำเลย 1 ปี เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมเป็นโทษจำคุก 21 ปี ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฟ้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด ว่าจำเลยมีเจตนาจะให้รถยนต์ที่นายจำนงค์ขับชนกับรถโดยสารประจำทางซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นแล้วว่าเมื่อรถโดยสารประจำทางแล่นสวนทางมาในระยะใกล้ หากจำเลยได้หยุดและหักรถหลบเข้ามาทางซ้าย นายจำนงค์ ต้องหลบมาทางขวา จะชนกับรถโดยสารประจำทางในทันที นายจำนงค์และผู้โดยสารต้องถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส และรถยนต์ที่นายจำนงค์ขับก็ได้ชนกับรถประจำทาง มีคนตายและบาดเจ็บสาหัสสมดังเจตนาของจำเลย หรือมิฉะนั้นก็ขับชนด้วยความประมาท แสดงว่าฟ้องมีความประสงค์จะให้ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือมิฉะนั้นก็ขอให้ลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท อย่างใดอย่างหนึ่ง หาใช่ขอให้ลงโทษทั้งสองอย่างไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และจำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยขับรถปิดเส้นทางไม่ยอมให้ผู้ตายซึ่งขับรถตามหลังมาแซงขึ้นหน้า และเมื่อจำเลยเห็นรถยนต์โดยสารประจำทางแล่นสวนทาง จำเลยก็แกล้งเบรคให้รถหยุดในทันที การที่จำเลยกระทำเช่นนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าสู้ตายต้องหักรถหลบไปทางขวาและชนกับรถโดยสารประจำทางนั้น ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำของจำเลยได้ว่าจะมีผู้ได้รับอันตรายบาดเจ็บและตายเกิดขึ้นจากเหตุที่รถยนต์ชนกันนั้น ฉะนั้นเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยผลแห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงได้ชื่อว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ออกใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2522 เป็นต้นมา ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกที่ออกใช้ใหม่นี้ ได้บัญญัติถึงความผิดฐานเมื่อเกิดเหตุแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและแจ้ง เหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ในมาตรา 78 และ 160 ซึ่งในกรณีที่เป็นเหตุให้ผู้ได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนและปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเป็นคุณยิ่งกว่าโทษพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 477 มาตรา 30, 68 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิดหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 98, 160 จำคุก 2 เดือน เมื่อรวมกับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 อีกกระทงหนึ่ง คงจำคุกจำเลย รวม 20 ปี 2 เดือน นอกจากที่แก้นี้แล้วคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
พยนต์ ยาวะประภาษ
ผสม จิตรชุ่ม
สุทิน เลิศวิรุฬห์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!