นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 19:44:46
ปรับปรุงล่าสุด : วันศุกร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 19:44:46
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 มาตรา ๑๗๐
ผู้ใดขัดขืนหมายหรือคำสั่งของศาลให้มาให้ถ้อยคำ ให้มาเบิกความหรือให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใดในการพิจารณาคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2046 / 2533คำพิพากษาย่อสั้น
-----------------
บทบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 มีความมุ่งหมายจะเอาโทษแก่ผู้ที่ได้ขัดขืนหมายหรือคำสั่งของศาลให้มาให้ถ้อยคำ ให้มาเบิกความหรือให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใดในการพิจารณาคดีอันเป็นบทบัญญัติถึงการกระทำความผิดต่อศาลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมโดยเฉพาะแม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยขัดขืนคำสั่งศาลไม่ส่งเงินที่อายัดไว้ไปยังศาลแพ่ง แต่ก็ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการกระทำผิดของจำเลย เพราะโจทก์จำเลยมิได้มีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการล่วงสิทธิของโจทก์โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.
คำพิพากษาย่อยาว
--------------------
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 170, 83, 91
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ได้รับหมายอายัดของศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10243/2530 ให้อายัดเงินบำเหน็จและเงินพ้นหน้าที่ของนางเชาวนาวลัย ภูรีปติภาณ จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าว เพื่อให้ส่งเงินไปที่ศาลแพ่ง แต่จำเลยที่ 1 กลับร่วมกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ขัดขืนคำสั่งศาลไม่ส่งเงินที่อายัดไว้ไปยังศาลแพ่งเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ และขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 170 เห็นว่า มาตรานี้บัญญัติไว้ในภาค 2 ความผิดลักษณะ 3 ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม หมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม อันมีความมุ่งหมายจะเอาโทษแก่ผู้ที่ได้ขัดขืนหมายหรือคำสั่งของศาลให้มาให้ถ้อยคำ ให้มาเบิกความหรือให้ส่งทรัพย์หรือเอกสารใดในการพิจารณาคดี อันเป็นบทบัญญัติถึงการกระทำความผิดต่อศาลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมโดยเฉพาะ แม้ในคดีนี้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย แต่ก็ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงอันเกิดจากการกระทำผิดของจำเลยเพราะโจทก์จำเลยมิได้มีสิทธิและหน้าที่ต่อกันการกระทำของจำเลยไม่เป็นการล่วงสิทธิของโจทก์ โจทก์มิใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรานี้..."
พิพากษายืน.
ผู้พิพากษา
อากาศ บำรุงชีพ
ถวิล ทองสว่างรัตน์
พัลลภ พิสิษฐ์สังฆการ
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!