นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 20:10:48
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 20:10:48
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 มาตรา ๓๓
ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
(๑) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
(๒) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด
เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 มาตรา ๘๐
ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 มาตรา ๑๙๐
ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรกได้กระทำโดยแหกที่คุมขัง โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา ๒๘๘
ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 มาตรา ๒๘๙
ผู้ใด
(๑) ฆ่าบุพการี
(๒) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่
(๓) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้น กระทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
(๔) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
(๕) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
(๖) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ
(๗) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้
ต้องระวางโทษ ประหารชีวิต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มาตรา ๓๗๑
ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย หรือโดยไม่มีเหตุสมควร หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริงหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376 มาตรา ๓๗๖
ผู้ใดยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 772 / 2536คำพิพากษาย่อสั้น
หลังจากจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพันตำรวจโท บ. พันตำรวจโท บ. สอบปากคำจำเลยจำเลยขออนุญาตกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้าน เพราะเสื้อผ้าเปื้อนเลือด พันตำรวจโท บ. ขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่บ้าน เมื่อไปถึงบ้านของจำเลย จำเลยเดินเข้าไปในบ้าน พันตำรวจโท บ. นั่งคอยจำเลยอยู่ที่ห้องรับแขก กับมีเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คน คอยอยู่นอกบ้านแม้ไม่ปรากฏว่าพันตำรวจโท บ. ทำบันทึกการมอบตัวหรือแจ้งข้อหาแก่จำเลย แต่ก็ถือได้ว่าพันตำรวจโท บ. ได้คุมขังจำเลยไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนต่อไปตามอำนาจหน้าที่แล้ว การที่จำเลยไม่กลับมาพบพันตำรวจโท บ. แล้วหลบหนีออกทางประตูหลังบ้านไป ถือได้ว่าจำเลยได้หลบหนีไปจากความควบคุมของพันตำรวจโท บ. เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 แล้ว แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยเคยไปเก็บเงินค่าสินค้าที่ต่างอำเภอและถูกคนร้ายชิงทรัพย์ก็ตาม การที่จำเลยพาอาวุธปืนไปเก็บเงินที่อำเภอดังกล่าวในวันเกิดเหตุก็ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เพราะไม่แน่ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่สมควรลงโทษจำเลยสถานเบา
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพาอาวุธปืนพกติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว กับใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายสุภาพ งามวงศ์ ผู้เสียหาย โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหาย และยิงพระมหาสีทันดรหรือพระมหาสีทัน บุญญาโสผู้ตายหลายนัดโดยเจตนาและโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กระสุนปืนถูกผู้ตายที่ต้นคอด้านขวาและซ้ายถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุพันตำรวจโทบุญสม เพชรรุ่ง พนักงานสอบสวนควบคุมตัวจำเลยไว้ จำเลยได้หลบหนีไปจากการควบคุมของพันตำรวจโทบุญสม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 190, 288, 289, 371, 376, 33, 80, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 เป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 376 ลงโทษบทหนักตามมาตรา 288 จำคุก 18 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 190 วรรคแรก จำคุก 4 เดือน ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง กับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จำคุก 20 วันรวมจำคุก 18 ปี 4 เดือน 20 วัน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 13 ปี 9 เดือน 15 วัน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายโดยเจตนา แล้ววินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่า หลังเกิดเหตุจำเลยไปพบพันตำรวจโทบุญสม เพชรรุ่งสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเลิงนกทา พันตำรวจโทบุญสมมิได้ทำบันทึกการมอบตัวหรือแจ้งข้อหาแก่จำเลย ถือว่าจำเลยยังไม่ถูกคุมขัง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังของพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญานั้นข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า หลังเกิดเหตุจำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพันตำรวจโทบุญสม เมื่อพันตำรวจโทบุญสมสอบปากคำจำเลยได้ประมาณ4-5 นาที จำเลยขออนุญาตกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้านจำเลย เนื่องจากเสื้อผ้าเปื้อนเลือด พันตำรวจโทบุญสมได้พาจำเลยขึ้นรถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจไปส่งจำเลยที่บ้านจำเลยโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจขับรถยนต์ไปคนหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ตามไป เมื่อไปถึงบ้านจำเลย จำเลยเดินเข้าไปในบ้าน พันตำรวจโทบุญสมเข้าไปนั่งคอยที่ห้องรับแขก ส่วนเจ้าพนักงานตำรวจอีก 2 คน คอยอยู่นอกบ้านภายหลังทราบว่าจำเลยหลบหนีไป ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะไม่ปรากฏว่าพันตำรวจโทบุญสมได้ทำบันทึกการมอบตัวหรือแจ้งข้อหาแก่จำเลยก็ตามแต่ก็ถือได้ว่าพันตำรวจโทบุญสมได้คุมขังจำเลยไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนต่อไปตามอำนาจหน้าที่แล้ว การที่จำเลยไม่กลับมาหาพันตำรวจโทบุญสมอีก แล้วหลบหนีออกทางประตูหลังบ้านไป ถือได้ว่าจำเลยได้หลบหนีไปจากความควบคุมของพันตำรวจโทบุญสม การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดแล้ว
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปโดยฝ่าฝืนกฎหมายนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า อาวุธปืนของจำเลยเป็นอาวุธปืนที่จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ตามกฎหมาย จำเลยเคยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้มีอาวุธปืนติดตัว แต่ใบอนุญาตพกพาอาวุธปืนของจำเลยหมดอายุตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2524 ขณะเกิดเหตุจำเลยไม่มีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์" ดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ดังที่จำเลยนำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยไปเก็บเงินค่าขายสินค้าที่อำเภอกุดชุม ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ30 กิโลเมตร และจำเลยเคยถูกคนร้ายชิงทรัพย์ก็ตาม การที่จำเลยพาอาวุธปืนไปดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ เพราะไม่แน่ว่าจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้น แต่เป็นกรณีที่สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบา
ศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงมูลเหตุที่ทำให้เกิดคดีนี้ และพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยและของนางสุลีพร จงเจริญเวทย์ ภริยาจำเลยว่า เดิมจำเลยและนางสุลีพรมีความเคารพนับถือผู้ตายซึ่งเป็นพระภิกษุ และได้ช่วยเหลือผู้ตายสร้างวัดใหม่ขึ้นวัดหนึ่งคือวัดปาวังน้ำทิพย์จำเลยกับนางสุลีพรบริจาคเงินในการก่อสร้างประมาณ 100,000 บาทต่อมาจำเลยกับนางสุลีพรเห็นว่าผู้ตายเป็นพระภิกษุที่ไม่รักษาสัจจะและแสดงความเป็นคนเจ้าชู้กับนางสุลีพร และหญิงอื่นอีกหลายรายจนถึงกับมีปากเสียงกับจำเลยและนางสุลีพร วันเกิดเหตุเมื่อจำเลยด่าว่าผู้ตาย แทนที่ผู้ตายจะให้อภัยไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วยตามวิสัยของพระภิกษุ แต่ผู้ตายกลับลงจากรถเดินไปหาจำเลยจึงเกิดเหตุเป็นคดีนี้ นับว่าผู้ตายมีส่วนที่ทำให้เกิดเหตุคดีนี้ด้วย จำเลยควรได้รับโทษสถานเบา ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยมานั้นหนักเกินไปศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคแรก,72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกข้อหาหนึ่งให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด จำคุก15 วัน ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ให้จำคุก 15 ปีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 วรรคแรก จำคุก 3 เดือนรวมจำคุก 15 ปี 3 เดือน 15 วัน ทางนำสืบของจำเลยและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี 2 เดือน10 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1
ผู้พิพากษา
มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ
จองทรัพย์ เที่ยงธรรม
สังเวียน รัตนมุง
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!