นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 05:35:22
ปรับปรุงล่าสุด : วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 01:18:13
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มาตรา ๕๖
ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น
(๑) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ
(๒) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ
(๓) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
และเมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกําหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปี
นับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้
เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อตามควรแก่กรณีได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์
(๒) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(๓) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
(๔) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(๕) ให้เข้ารับการฝึกอบรม ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(๖) ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งนี้ จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางด้วยก็ได้
(๗) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเยียวยาความเสียหายโดยวิธีอื่นให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายตกลงกัน
(๘) ให้แก้ไขฟื้นฟูหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม หรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการดังกล่าว
(๙) ให้ทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินตามที่ศาลเห็นสมควรว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายหรือก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน
(๑๐) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อ แก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก หรือเงื่อนไขในการเยียวยาผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร
เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคสองนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการ หรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใดตามที่กล่าวในวรรคสองที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้หรือถ้ามีการกระทำผิดทัณฑ์บนให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 มาตรา ๑๗๕
ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 มาตรา ๑๗๗
ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 3963 / 2543การออกเช็คเพื่อค้ำประกัน แต่เจ้าหนี้นำไปฟ้องเป็นคดีอาญา เจ้าหนี้มีความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ ถือเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม
ศาลจำคุกโดยไม่รอลงอาญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3963/2543
การที่โจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาทให้แก่จำเลยนั้น เป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้ไปจากจำเลยจำนวน120,000 บาทเมื่อจำเลยนำเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวไปฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์ออกเช็คให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตรา 4 จึงเป็นการฟ้องคดีอาญาต่อศาลว่าโจทก์กระทำความผิดการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ
จำเลยเบิกความในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้นยืนยันตามฟ้องว่าเช็คพิพาทตามที่จำเลยฟ้องเป็นเช็คที่โจทก์ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ออกเช็คพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลย คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในคดี เพราะถ้าศาลชั้นต้นฟังว่าเช็คพิพาทโจทก์ออกให้จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ ศาลชั้นต้นก็อาจพิพากษาลงโทษจำคุกโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จ
การที่จำเลยฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีอาญา ถึงแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง แต่โจทก์ผู้ถูกฟ้องย่อมได้ความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
การที่โจทก์ออกเช็คพิพาทและเขียนหนังสือประกอบการออกเช็คให้จำเลยมิใช่เพื่อจำเลยนำมาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ โจทก์จึงมิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย
การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จนั้น ก็โดยเจตนาให้โจทก์ต้องโทษทางอาญา หากศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังคำฟ้องและคำเบิกความของจำเลยแล้ว โจทก์อาจถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุก
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2531 จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ ช. 3149/2531 คดีหมายเลขแดงที่ ช.1484/2533 ระหว่างนายสุรินทร์ แสงขำ โจทก์ นายนิทัศน์ ละอองศรี จำเลยว่าโจทก์ได้กระทำความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 ใจความว่าโจทก์ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน500,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินยืมให้แก่จำเลยอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วโจทก์ออกเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่จำเลยเพื่อเป็นการค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ที่โจทก์ได้กู้จากจำเลยไปจำนวน 120,000 บาท และต่อมาจำเลยได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีของศาลชั้นต้นดังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2530โจทก์ไปพบจำเลยที่บ้านเพื่อขอยืมเงิน 500,000 บาท โดยก่อนหน้านี้ 7 ถึง 8วัน โจทก์ได้ติดต่อจำเลยมาก่อน จำเลยตกลงให้ยืมเงิน โจทก์จึงได้ออกเช็คให้แก่จำเลย 1 ฉบับจำนวน 500,000 บาท โจทก์ได้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวต่อหน้าจำเลย และจำเลยได้มอบเงินให้แก่โจทก์รับไปครบถ้วนแล้วในวันดังกล่าว ต่อมาเมื่อเช็คฉบับดังกล่าวถึงกำหนดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์2531 จำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัดสาขาลาดพร้าว เพื่อให้เรียกเก็บเงินตามเช็ค ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างเหตุผลว่า "มีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงิน" จำเลยได้ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังโจทก์และผู้สลักหลังเช็ค แต่บุคคลทั้งสามเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามเช็คให้จำเลย การกระทำของโจทก์เป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความเท็จ ความจริงแล้วตามวันที่จำเลยอ้างโจทก์มิได้กู้เงินจำเลย จำเลยมิได้มอบเงิน 500,000 บาทให้แก่โจทก์ เช็คฉบับที่จำเลยนำมาฟ้องโจทก์เป็นเช็คค้ำประกันเงินกู้จำนวน 120,000 บาทจำเลยมีอาชีพออกเงินกู้ การให้กู้เงินทุกรายจำเลยมิได้เรียกหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่จะใช้วิธีให้ผู้กู้ออกเช็คให้จำนวน 2 ฉบับ ฉบับแรกสั่งจ่ายตรงกับเงินกู้ ฉบับที่สองเป็นเช็คค้ำประกันสั่งจ่ายสูงกว่าเงินกู้มาก โจทก์พร้อมที่จะชำระหนี้ให้แก่จำเลย แต่จำเลยไม่ยอมรับ จำเลยบังคับให้โจทก์เบิกความเท็จในคดีที่จำเลยฟ้องนาวาอากาศเอกไพศาล ศรีภักดี มิฉะนั้นจำเลยจะนำเช็คดังกล่าวมาฟ้องโจทก์ โจทก์ไม่ยินยอม จึงถูกจำเลยฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาอันเป็นการฟ้องเท็จ และมีผลให้จำเลยต้องเบิกความเท็จ ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์กู้เงินจำเลยไป 500,000 บาท แล้วออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 500,000 บาท ให้จำเลยเพื่อชำระหนี้เป็นความจริงหรือไม่ ย่อมเป็นสาระสำคัญในคดี หากศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังที่จำเลยฟ้องและเบิกความ โจทก์ก็ต้องถูกลงโทษทางอาญาขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175, 177 วรรคสอง, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 175 และ 177 วรรคสอง ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฟ้องเท็จจำคุก 1 ปี ฐานเบิกความเท็จจำคุก 1 ปี รวม 2 กระทงเป็นจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดโทษจำเลยหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยกระทงละ 9 เดือนรวม2 กระทง เป็นจำคุก 18 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ กรณีความผิดฐานฟ้องเท็จนั้น เมื่อโจทก์และพยานโจทก์ต่างก็เบิกความว่าเป็นลูกหนี้เงินกู้ของจำเลย และจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์และพยานโจทก์ต่างเป็นลูกหนี้เงินกู้ของจำเลยจริงและจำเลยยังให้บุคคลอื่นกู้เงินอีกหลายราย พฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่าจำเลยมีอาชีพให้กู้เงินด้วย ดังนั้น ที่จำเลยนำสืบว่าให้บุคคลอื่นกู้เงินโดยไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนนั้น จึงไม่น่าเชื่อถือและไม่สมเหตุผล เพราะเมื่อจำเลยเป็นผู้มีอาชีพให้กู้เงินย่อมจะมีความต้องการผลประโยชน์ตอบแทนอันเป็นปกติธรรมดา และในการกู้เงินโดยทั่วไปแล้ว ผู้กู้ย่อมจะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้เงินกู้ให้แก่ผู้ให้กู้ แต่คดีนี้จำเลยเบิกความยอมรับว่าให้โจทก์กู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่จะให้ผู้กู้ออกเช็คชำระหนี้เงินกู้และมีผู้สลักหลังเช็คให้เท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นจริงดังคำเบิกความ จำเลยในฐานะมีอาชีพให้กู้เงินย่อมมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียเงินที่ให้กู้ไปได้โดยไม่มีความมั่นคงว่าจะได้รับต้นเงินกู้คืน ดังนั้น การที่จำเลยให้ผู้กู้เงินออกเช็คอีกฉบับหนึ่งก็เพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้และค้ำประกันเช็คฉบับแรกที่ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จึงมีเหตุผลให้รับฟังและเป็นไปได้อย่างยิ่งดังที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ออกเช็คพิพาทจำนวนเงิน 500,000บาท เพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้ของโจทก์ที่ค้างชำระจำเลยจำนวน 120,000 บาทส่วนที่โจทก์ทำหนังสือประกอบการออกเช็คไว้ตามเอกสารหมาย ล.2 หรือ จ.5ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช. 1484/2533 โดยระบุว่าโจทก์ออกเช็คจำนวน 500,000 บาท เพื่อชำระหนี้เงินกู้นั้นโจทก์และพยานโจทก์ต่างก็เบิกความว่าเป็นข้อบังคับของจำเลยที่จะให้ผู้กู้ทำหนังสือดังกล่าว มิฉะนั้นจำเลยก็จะไม่ให้กู้หรือเรียกเงินกู้ที่ค้างชำระคืนทันที โจทก์จึงจำเป็นต้องทำบันทึกให้ ดังนั้น การที่โจทก์ทำหนังสือประกอบการออกเช็คให้จำเลยดังกล่าวจึงมิได้เป็นไปโดยความสมัครใจตามความเป็นจริงและเมื่อพิจารณาถึงการที่โจทก์มีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงินตามเช็คจำนวน 500,000 บาทตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.13 (อยู่ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช.1484/2533 ของศาลชั้นต้น) ซึ่งได้ระบุว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คค้ำประกันประกอบกับบันทึกแจ้งความของโจทก์ที่สถานีตำรวจตามเอกสารหมาย จ.12ซึ่งมีรายละเอียดตรงกับที่โจทก์เบิกความแล้วแสดงให้เห็นว่าโจทก์เห็นว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คค้ำประกันจึงมีคำสั่งห้ามธนาคารจ่ายเงิน กับได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเมื่อฟังพยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการที่โจทก์ออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาอินทามระ 832 เลขที่ 0842769ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2531 สั่งจ่ายเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่จำเลยนั้น เป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้ไปจากจำเลยตามที่โจทก์อ้างเมื่อจำเลยนำเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวไปฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์ออกเช็คให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 4 จึงเป็นการฟ้องคดีอาญาต่อศาลว่าโจทก์กระทำความผิด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จตามฟ้อง ที่จำเลยนำสืบปฏิเสธต่อสู้อ้างเหตุว่าเป็นการฟ้องตามความเป็นจริงจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดนี้ต้องกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนกรณีความผิดฐานเบิกความเท็จนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยเบิกความในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้นตามเอกสารหมาย จ.2 ยืนยันตามฟ้องว่าเช็คพิพาทตามที่จำเลยฟ้องเป็นเช็คที่โจทก์ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ออกเช็คพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลย คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในคดี เพราะถ้าศาลชั้นต้นฟังว่าเช็คพิพาทโจทก์ออกให้จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ ศาลชั้นต้นก็อาจพิพากษาลงโทษจำคุกโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จตามฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดนี้ต้องกันมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายนั้น เห็นว่า คำว่า "ผู้เสียหาย"หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญา และเบิกความเท็จในคดีดังกล่าว ถึงแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง แต่โจทก์ผู้ถูกฟ้องย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายและมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลย จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ออกเช็คพิพาทและเขียนหนังสือประกอบการออกเช็คให้จำเลย มิใช่เพื่อให้จำเลยนำมาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ โจทก์จึงมิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยตามที่จำเลยอ้าง ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์สืบพยานเปลี่ยนแปลงเอกสารหนังสือประกอบการออกเช็คตามเอกสารหมาย ล.2 หรือ จ.5 ของคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ช. 1484/2533 ของศาลชั้นต้น ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่า หนังสือประกอบการออกเช็คไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงจึงไม่ต้องห้ามสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาของจำเลยล้วนฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า สมควรลงโทษจำเลยในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานฟ้องเท็จมีกำหนด 1 ปีและเบิกความเท็จมีกำหนด 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี และศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยได้บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะโดยการช่วยเหลือสังคม จึงลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงเหลือจำคุกจำเลยกระทงละ9 เดือนรวม 2 กระทง เป็นจำคุก 18 เดือนนั้น นับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ส่วนที่จำเลยขอให้รอการลงโทษจำคุกให้นั้น เห็นว่า การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จนั้น ก็โดยเจตนาให้โจทก์ต้องโทษทางอาญา หากศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังคำฟ้องและคำเบิกความของจำเลยแล้วโจทก์อาจถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมจึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน"
พิพากษายืน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2
ผู้พิพากษา
วิชัย วิสิทธวงศ์
พิชัย เตโชพิทยากูล
วินัย ตุลยภักดิ์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!