ภาค ๒ ความผิด
มาตรา ๑๓๖ ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
* มาตรา ๑๓๖ แก้ไขโดย มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๓ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)
ม.136 เอาผิดการ "ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน" ไม่เอาผิดการ "วิจารณ์รัฐบาล"
.
หลังจากที่ที่สังคมไทยตกอยู่ในภาวะสับสนเกี่ยวกับนโยบายการให้เงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ในสถานการณ์ #โควิด19 และชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) กล่าวเตือนผู้ที่จะโพสข้อความใดๆ ลงในโซเชียล ว่า ขอให้คิดให้หนักก่อนโพส หากข้อความดังกล่าวเป็นเท็จและได้เงินเยียวยามาจากการให้ข้อมูลเท็จ หรือแม้แต่การดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยคำหยาบคายต่างๆ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 3 ข้อหาหนัก ใครรู้ตัวทำผิดสามารถใช้บริการปุ่มยกเลิกการลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัhttp://xn--q3c.com/ ได้
.
โดยชาญกฤช ยังกล่าวว่า การตั้งใจกรอกข้อมูลหลอกลวงรัฐ เพื่อหวังลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาลเข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกง มาตรา 341 มีโทษขั้นสูงจำคุก 3 ปี หรือปรับ 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามมาตรา 137 มีโทษขั้นสูงจำคุก 6 เดือน หรือปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ที่โพสหมิ่นรัฐบาลมีความผิดตาม มาตรา 136 มีโทษขั้นสูงจำคุก 1 ปี หรือปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และแม้ว่าผู้โพสจะลบข้อความไปแล้ว แต่ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สามารถดึงข้อมูลที่ลบไปแล้วกลับมาได้
.
จากกรณีที่ชาญกฤชออกมาข่มขู่ประชาชนเช่นนี้ มีส่วนที่ถูกต้องอยู่บ้าง กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137 เอาผิดฐาน "แจ้งความเท็จ" จริง โดยการแจ้งความเท็จที่จะเป็นความผิดจะต้องมีลักษณะที่อาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ถ้าเป็นการโกหกธรรมดาไม่ทำให้ใครเสียหายไม่เป็นความผิด กรณีการลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิเงินเยียวยาครั้งนี้ หากผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตัวเองไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินเยียวยาแต่ตั้งใจกรอกข้อความเท็จลงในระบบ ทำให้ระบบทำงานตรวจสอบได้ช้า และทำให้ผู้มีสิทธิตัวจริงไม่ได้รับเงิน หรือได้รับเงินช้า ก็อาจเป็นความผิดตามมาตรา 137 ได้
.
อย่างไรก็ดี การที่ชาญกฤชกล่าวว่า ผู้ที่โพสหมิ่นรัฐบาลมีความผิดตาม มาตรา 136 ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน นั้น ยังไม่เป็นความจริงเสียทั้งหมด
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 บัญญัติไว้ ดังนี้
"ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
.
การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 ได้ ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อยสามประการประกอบกัน คือ
1. ดูหมิ่น
2. เจ้าพนักงาน
3. ซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่
<< องค์ประกอบข้อที่ 1 ดูหมิ่น >>
ไม่ได้มีกฎหมายใดให้คำนิยามคำว่า "ดูหมิ่น" ไว้ชัดเจน แต่มีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกามากมายที่ตีความความหมายของการดูหมิ่นเอาไว้ เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551 อธิบายว่า "ดูหมิ่น" หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่
.
ตัวอย่าง ถ้อยคำที่ศาลฎีกาเคยพิพากษาว่า เป็นการดูหมิ่น เช่น เฮงซวย ตอแหล อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย ไอ้หน้าโง่ ฯลฯ ซึ่งเห็นได้ว่า ถ้อยคำที่จะเข้าข่ายการ "ดูหมิ่น" นั้นจะมีลักษณะหยาบคาย เหยียดหยาม มุ่งโจมตีด้วยบุคคล ทำให้ได้รับความเจ็บใจ ทำลายเกียรติยศศักดิ์ศรี หรือเป็นการลดทอนคุณค่า ลดทอนสถานะของบุคคลที่ถูกกล่าวหานั้นๆ หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต โดยไม่ได้มุ่งลดทอนศักดิ์ศรีของตัวบุคคลย่อมไม่ใช่การดูหมิ่น
<< องค์ประกอบข้อที่ 2 เจ้าพนักงาน >>
ก่อนหน้าปี 2558 คำว่า "เจ้าพนักงาน" ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจนในประมวลกฎหมายอาญา แต่ก็มีแนวทางการตีความของศาลฎีกาที่ยึดถือกันมายาวนาน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1787/2524 ที่กล่าวไว้ว่า เจ้าพนักงานย่อมหมายถึงบุคคลผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับแต่งตั้งตามกฎหมาย กล่าวคือในการแต่งตั้งนั้นมีกฎหมายระบุถึงวิธีการแต่งตั้งไว้ และได้มีการแต่งตั้งถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้นั้น
.
แต่ต่อมาข้อถกเถียงเรื่องคำนิยามของคำนี้ก็หมดไป เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในปี 2558 กำหนดนิยามไว้ในมาตรา 1(16) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคำพิพากษาของศาล ดังนี้ "เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่"
.
จากคำนิยามนี้ จึงจำกัดว่า บุคคลที่จะเป็นเจ้าพนักงานและได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 136 ต้องได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ "ราชการ" ซึ่งคณะรัฐมนตรี หรือรัฐบาล หรือ ส.ส. เป็นฝ่ายการเมืองเมื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ออกนโยบาย จึงไม่ได้ทำหน้าที่ของราชการเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไป จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองของมาตรา 136
.
อย่างไรก็ดี หากรัฐมนตรีทำงาน หรือปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะเช่นเดียวกับหน้าที่ของข้าราชการทั่วไป เช่น การแสวงหาข้อเท็จจริง การไปร่วมประชุม ก็อาจอยู่ในขอบข่ายที่ได้รับความคุ้มครอง โดยพิจารณาจากการกระทำ หรืออำนาจหน้าที่ที่ใช้อันเป็นเหตุให้ถูกดูหมิ่นเป็นหลัก
<< องค์ประกอบข้อที่ 3 ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ >>
การดูหมิ่นเจ้าพนักงานที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 จะต้องเป็นการดูหมิ่นที่เกี่ยวกับการทำงานด้วย เช่น ดูหมิ่นตำรวจที่ตั้งด่านตรวจ ดูหมิ่นครูที่สอนหนังสือ ดูหมิ่นหมอที่รักษาคนไข้ แต่ถ้าหากเป็นการดูหมิ่นในเรื่องอื่น หรือประเด็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการทำงานตามหน้าที่ ก็ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 136 เช่น การกล่าวถึงตำรวจในประเด็นว่า มีชู้ การกล่าวถึงครูว่า มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการกล่าวถึงหมอว่า เอาเวลาทำงานไปเที่ยวสนามกอล์ฟ
.
อย่างไรก็ดีการดูหมิ่นในเรื่องส่วนตัวแม้ไม่ผิดตามมาตรา 136 ก็อาจเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า เช่นเดียวกับการดูหมิ่นคนทั่วไปได้ ตามประมวลกฎหมายอาญมาตรา 393 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
.
การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 136 จะต้องมีองค์ประกอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งสามข้อที่กล่าวมา หากขาดองค์ประกอบข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่เป็นความผิดทันที
.
ดังนั้น หากเป็นการ "วิพากษ์วิจารณ์" รัฐบาล แต่ไม่ได้มุ่งใช้ถ้อยคำหยาบคายให้เกิดความเจ็บใจ ลดทอนศักดิ์ศรี ลดทอนคุณค่า ก็ไม่ใช่การ "ดูหมิ่น" ก็ขาดองค์ประกอบข้อที่ 1
.
หากเป็นการมุ่งโจมตีที่รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจออกนโยบาย ก็ไม่ใช่การโจมตี "เจ้าพนักงาน" ก็ขาดองค์ประกอบข้อที่ 2
หากเป็นการวิจารณ์ในพฤติกรรมส่วนตัวหรือเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับงานในหน้าที่ก็ขาดองค์ประกอบข้อที่ 3
.
มาตรา 136 ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อคุ้มครองเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายให้สามารถทำงานได้โดยราบรื่นไม่ให้ถูกคุกคาม กดดัน หรือขัดขวาง จนทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ แต่มาตรา 136 ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะห้ามประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ และไม่ใช่ความผิดฐาน "หมิ่นรัฐบาล" ตามที่ชาญกฤษกล่าวไว้
.
โดยมาตรา 136 สมัยก่อนมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หลังการรัฐประหาร 2519 มาตรานี้ถูกแก้ไขเพิ่มโทษ พร้อมกับการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการดูหมิ่นครั้งใหญ่ เช่น ความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ตามมาตรา 198 จนมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ก่อนที่ในปี 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทั้งฉบับ ให้เพิ่มโทษปรับขึ้น 10 เท่า เมื่อถึงปีปี 2563 มาตรา 136 จึงมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา : iLaw
1 กรกฎาคม 2564 เวลา 10:36 น.