มาตรา 368 | ประมวลกฎหมายอาญา |

 

ประมวลกฎหมาย
อาญา
ภาค 3 ลหุโทษ

ภาค 3 ลหุโทษ

ลหุโทษ

หน้าก่อน

 

     มาตรา ๓๖๘  ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าการสั่งเช่นว่านั้น เป็นคำสั่งให้ช่วยทำกิจการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้สั่งให้ช่วยได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๖๘  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ.๒๕๕๘ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๐ ก หน้า ๔๔ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา

 

คำอธิบาย

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 20:35:04
    วันที่ปรับปรุง : วันศุกร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 20:35:04


    องค์ประกอบภายนอก
    1.ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้
    2.ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
    องค์ประกอบภายใน
    ไม่มี



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

คำพิพากษาศาลฎีกา

แสดงความคิดเห็น

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 03:08:17
    ปรับปรุงล่าสุด : วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 03:08:17


    คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๒/๒๕๖๕
    วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

    เรื่อง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง หรือไม่
    ศาลจังหวัดกาญจนบุรีส่งคำโต้แย้งของจำเลย (นายว.) ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ ๒๘๘/๒๕๖๔ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ ข้อเท็จจริงตามหนังสือส่งคำโต้แย้งของจำเลยและเอกสารประกอบ สรุปได้ดังนี้
    พนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายว. เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี ความผิดฐานทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ โดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองกาญจนบุรีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีคำสั่งให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อใช้ตรวจสอบประวัติอาชญากรและนำมาประกอบสำนวนการสอบสวนในคดีอาญา ที่ ๔๒๑/๒๕๖๓ ซึ่งจำเลยถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน เข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข และทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย อันเป็นการสั่งการตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๒ (๑) จำเลยทราบคำสั่งแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
    ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดกาญจนบุรี จำเลยยื่นคำโต้แย้งว่า การไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งพนักงานสอบสวนไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๒/๒๕๖๒ กล่าวถึงมาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง ว่า มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของบุคคล และตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดย่อมถือเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถือเป็นความผิดทางอาญาฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือได้ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสั่งให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๒ (๑) จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรคสอง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง จำเลยขอให้ศาลจังหวัดกาญจนบุรีส่งคำโต้แย้งดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒
    โจทก์โต้แย้งคัดค้านว่า การที่พนักงานสอบสวนสั่งให้จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นการใช้อำนาจตรวจสอบประวัติอาชญากรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมของการจัดทำสำนวนการสอบสวนเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐาน เป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๒ (๑) เมื่อจำเลยปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือโดยไม่ได้อ้างเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร คงอ้างเพียงว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒/๒๕๖๒ ซึ่งวินิจฉัยให้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๕เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ลงวันที่ ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้เป็นความผิดและโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรคสอง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ได้วินิจฉัยครอบคลุมถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๒ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่และจำเลยฝ่าฝืนไม่กระทำการจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ อันเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
    ศาลจังหวัดกาญจนบุรีเห็นว่า จำเลยโต้แย้งว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรคสอง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่งซึ่งศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวบังคับแก่คดี และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้ จึงส่งคำโต้แย้งดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ วรรคหนึ่ง
    ประเด็นพิจารณาเบื้องตันมีว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับหนังสือส่งคำโต้แย้งของจำเลยไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่าศาลจังหวัดกาญจนบุรี ส่งคำโต้แย้งของจำเลยเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรคสอง มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีจะใช้บังคับแก่คดี เมื่อจำเลยโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้ กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๒ วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งรับไว้พิจารณา วินิจฉัย
    ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำโต้แย้งของจำเลยและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงไม่ทำการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่งสำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ วรรคสอง เป็นบทบัญญัติในหมวด ๑ บททั่วไป มิได้มีข้อความที่เป็นการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพไว้เป็นการเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญไม่จำต้องวินิจฉัยในส่วนนี้ กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง หรือไม่
    พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ และมาตรา ๒๘ เป็นบทบัญญัติในหมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย" และมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย"
    สำหรับประมวลกฎหมายอาญามีเจตนารมณ์มุ่งควบคุมพฤติกรรมของบุคคลในสังคม คุ้มครอง ความปลอดภัย รักษาความสงบสุขให้แก่สมาชิกของสังคม รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สังคมโดยกำหนดลักษณะการกระทำที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ ให้เป็นความผิดและกำหนดโทษทางอาญาไว้ เพื่อให้รัฐได้ใช้บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาเป็นเครื่องมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ปกป้อง คุ้มครองสังคมและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดอาญา สำหรับความผิดลหุโทษ บัญญัติไว้ในภาค ๓ ลหุโทษ มีลักษณะเป็นข้อตกลงระหว่างคนในสังคม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือสังคมส่วนรวมในอนาคตอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ของรัฐโดยแท้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว โดยเน้นการป้องกันและระงับข้อพิพาทระหว่างบุคคลมิให้ใช้สิทธิของตนก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น เพื่อป้องปรามมิให้ความผิดอาญาลุกลามหรือขยายขอบเขตจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข ความผิดลหุโทษเป็นความผิดอาญาที่มีโทษไม่รุนแรง ได้แก่ โทษปรับหรือโทษจำคุกระยะสั้น ใช้สำหรับการละเมิดกฎหมายเล็กน้อยที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง แต่จำเป็นต้องบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ในการวางระเบียบกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในสังคมโดยทั่วไป โดยมาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" คำสั่งของเจ้าพนักงานตามมาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง เป็นคำสั่งเรื่องทั่วไป รวมถึงคำสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือในฐานะผู้ต้องหาในคดีอาญา การให้พิมพ์ลายนิ้วมือในกระบวนการสอบสวนเป็นการกระทำเพื่อตรวจสอบข้อมูลบุคคลเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ถูกกล่าวหา การรวบรวมและเก็บข้อมูลมิใช่เพื่อประโยชน์ของรัฐเท่านั้นแต่เป็นประโยชน์ในการยืนยันตัวบุคคลของผู้ถูกกล่าวหาด้วย ดังนั้น การสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการสอบสวน ไม่เป็นการปรักปรำตนเอง ไม่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์การกระทำความผิดซึ่งเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป รัฐย่อมมีอำนาจที่จะรวบรวมและเก็บข้อมูลของบุคคลได้ภายในขอบเขตความจำเป็น นอกจากนี้ การพิมพ์ลายนิ้วมือก็เพื่อใช้ตรวจสอบประวัติอาชญากรอันเป็นการตรวจสอบประวัติการกระทำความผิด เพื่อประกอบการพิจารณาเงื่อนไขในการเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ หรือมาตรา ๙๓ เพราะการให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบให้กล่าวมาในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๙วรรคหนึ่ง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีตามมาตรา ๑๓๒ (๑) อันเป็นอำนาจที่กฎหมายให้แก่พนักงานสอบสวนสั่งการให้พิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหา แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติมาตรการหรือวิธีการใดสำหรับผู้ต้องหาที่ฝาฝืนไม่กระทำการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ จำเป็นต้องนำบทกฎหมายทั่วไปที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาปรับใช้กับผู้ที่ผ่าฝืน ดังนั้น เมื่อผู้ต้องหาในคดีอาญาไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง ได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับคดีหรือไม่เป็นประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในกรณีที่มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นหรือกฎหมายกำหนดโทษที่ฝ่าฝืนไว้เป็นการเฉพาะ หรือกฎหมายกำหนดความผิดและมาตรการสำหรับกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งไว้ก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ อันเป็นบททั่วไปอีก
    ข้อโต้แย้งของจำเลยที่ว่า การไม่พิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งพนักงานสอบสวนไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๒/๒๕๖๒ กล่าวถึงมาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง ว่ามีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของบุคคล ตราบใดที่ศาลไม่มีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดย่อมถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิดังกล่าวได้รับความคุ้มครอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้ว่าต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง ที่กำหนดมาตรการลงโทษแก่ผู้ที่ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้แล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มี เหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร และให้ผู้ที่ฝ่าฝืนมีความผิดฐานขัดคำสั่งของเจ้าพนักงาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นการบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์ในการวางระเบียบกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยทั่วไป สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญาที่มุ่งประสงค์คุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสงบสุขดังนั้น การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่งจึงกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองจำต้องบัญญัติให้เป็นความผิดที่มีโทษทางอาญาเมื่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง เป็นบทกฎหมายทั่วไปในการกำหนดความผิดและโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร จึงเป็นมาตรการที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายบรรลุวัตถุประสงค์ได้ ประกอบกับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๘ วรรคหนึ่ง เป็นเพียงการกำหนดอัตราโทษชั้นสูงโดยไม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำเอาไว้ทั้งโทษจำคุกหรือโทษปรับ ศาลย่อมสามารถใช้ดุลพินิจสั่งลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษชั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นกรณี ๆ ไป นอกจากนี้ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๒/๒๕๖๒ ได้วินิจฉัยเฉพาะในส่วนการกำหนดให้ความผิดและโทษทางอาญาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๒๕ ว่าชัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มิได้มีประเด็นวินิจฉัยในส่วนของการกำหนดให้ผู้ต้องหามีหน้าที่พิมพ์ลายนิ้วมือว่าเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดข้อโต้แย้งของจำเลยฟังไม่ขึ้น
    เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่ง อันเป็นประเด็นแห่งคดีนี้เป็นมาตรการลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรโดยมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เห็นว่า เป็นอัตราโทษที่เหมาะสมกับการกระทำฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว เพราะทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นบทกำหนดโทษที่เหมาะสมได้สัดส่วนกับความผิดนั้นตามหลักความได้สัดส่วนหรือหลักความพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิได้เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและไม่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปแก่ผู้ต้องหาทุกคนโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง เป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายที่ไม่ชัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง
    อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ วรรคหนึ่งไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 1 Online
» 6 Today
» 124 Yesterday
» 891 Week
» 4498 Month
» 201430 Year
» 1452835 Total
Record: 10208 (10.06.2023)
Free PHP counter