ข้อ ๑ ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. ๒๕๒๙”
ข้อ ๒ ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยมรรยาททนายความและการแต่งกายของทนายความตามข้อบังคับของเนติบัณฑิตยสภาและตามบทกฎหมายอื่นที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๔ ทนายความผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่าทนายความผู้นั้นประพฤติผิดมรรยาททนายความ
ข้อ ๕ ไม่รับหน้าที่เมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญา เว้นแต่จะมีข้อแก้ตัวโดยสมควร
ข้อ ๖ ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาลหรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา
ข้อ ๗ กล่าวความ หรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลง หรือกระทำการใดเพื่อทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย
ข้อ ๘ สมรู้เป็นใจโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อทำพยานหลักฐานเท็จ หรือเสี้ยมสอนพยานให้เบิกความเท็จ หรือโดยปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานใดๆ ซึ่งควรนำมายื่นต่อศาล หรือสัญญาจะให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน หรือสมรู้เป็นใจในการให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน
ข้อ ๙ กระทำการใดอันเป็นการยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดีกันในกรณีอันหามูลมิได้
ข้อ ๑๐ ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่างหรือแก้ต่าง
(๑) หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้
(๒) อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความอื่น
(๓) อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใดๆ ได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดีนั้นจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้
ข้อ ๑๑ เปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล
ข้อ ๑๒ กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ
(๑) จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี
(๒) จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ
ข้อ ๑๓ ได้รับปรึกษาหารือ หรือได้รู้เรื่องกรณีแห่งคดีใดโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องกับคู่ความฝ่ายหนึ่ง แล้วภายหลังไปรับเป็นทนายความหรือใช้ความรู้ที่ได้มานั้นช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นปรปักษ์อยู่ในกรณีเดียวกัน
ข้อ ๑๔ ได้รับเป็นทนายความแล้ว ภายหลังใช้อุบายด้วยประการใดๆ โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร เพื่อจะให้ตนได้รับประโยชน์นอกเหนือจากที่ลูกความได้ตกลงสัญญาให้
ข้อ ๑๕ กระทำการใดอันเป็นการฉ้อโกง ยักยอก หรือตระบัดสินลูกความ หรือครอบครองหรือหน่วงเหนี่ยว เงินหรือทรัพย์สินของลูกความที่ตนได้รับมาโดยหน้าที่อันเกี่ยวข้องไว้นานเกินกว่าเหตุ โดยมิได้รับความยินยอมจากลูกความ เว้นแต่จะมีเหตุอันสมควร
ข้อ ๑๖ แย่ง หรือทำการใดในลักษณะประมูลคดีที่มีทนายความอื่นว่าต่างแก้ต่างอยู่แล้วมาว่า หรือรับ หรือสัญญาว่าจะรับ ว่าต่าง แก้ต่างในคดีที่รู้ว่ามีทนายความอื่นว่าอยู่แล้ว เว้นแต่
(๑) ได้รับความยินยอมจากทนายความที่ว่าความอยู่ในเรื่องนั้นแล้ว
(๒) มีเหตุผลอันควรเชื่อว่าตัวความได้ถอนทนายความคนก่อนจากการเป็นทนายความของเขาแล้ว หรือ
(๓) ทนายความผู้ว่าความในเรื่องนั้นปฏิเสธ หรือแสดงความไม่สมัครใจที่จะว่าความในคดีนั้นต่อไปแล้ว
ข้อ ๑๗ ประกาศโฆษณา หรือยอมให้ผู้อื่นประกาศโฆษณาใดๆ ดังต่อไปนี้
(๑) อัตราค่าจ้างว่าความ หรือแจ้งว่าไม่เรียกร้องค่าจ้างว่าความ เว้นแต่การประกาศโฆษณาของทนายความเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายซึ่งดำเนินการโดยสภาทนายความเอง หรือโดยสถาบัน สมาคม องค์การ หรือส่วนราชการใดที่เกี่ยวข้อง หรือ
(๒) ชื่อ คุณวุฒิ ตำแหน่ง ถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงาน อันเป็นไปในทางโอ้อวดเป็นเชิงชักชวนให้ผู้มีอรรถคดีมาหาเพื่อเป็นทนายความว่าต่าง หรือแก้ต่างให้ เว้นแต่การแสดงชื่อคุณวุฒิ หรืออื่น ๆ ดังกล่าวตามสมควรโดยสุภาพ
ข้อ ๑๘ ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ
ข้อ ๑๙ ยินยอมตกลง หรือให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ค่านายหน้าหรือบำเหน็จรางวัลใดๆ ด้วยทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ แก่ผู้ที่หาคดีความหรือนำคดีความมาให้ หรือมีคนประจำสำนักงานดำเนินการจัดหาคดีความมาให้ว่า โดยทนายความผู้นั้นคิดค่าส่วนลดของค่าจ้างให้ หรือให้เงินเดือน หรือเงินจำนวนหนึ่งจำนวนใด หรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างใดๆ แก่ผู้ที่หาคดีความมาให้นั้น แม้บุคคลผู้หาคดีความมาให้โดยลักษณะดังกล่าวจะเป็นเสมียนหรือลูกจ้างประจำสำนักงานของทนายความผู้นั้นก็ตาม
ข้อ ๒๐ ในเวลาว่าความ ทนายความจะต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อยตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
(๑) ทนายความชาย แต่งตามแบบสากลนิยม เป็นชุดสีขาว หรือสีอื่นที่ไม่ฉูดฉาด เชิ้ตขาวผ้าผูกคอสีดำหรือสีอื่นที่สุภาพไม่ฉูดฉาดแบบเงื่อนกะลาสี หรือแต่งเสื้อชุดไทยแบบแขนสั้นหรือยาวสีสุภาพ ไม่มีลวดลาย แทนเสื้อชุดสากลก็ได้ รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาลหรือดำ ถุงเท้าสีคล้ายคลึงกับรองเท้า
*(๒) ทนายความหญิงแต่งกายตามแบบสากลนิยม กระโปรงหรือกางเกงขายาวสีขาว กรมท่า ดำ หรือสีอื่น ซึ่งเป็นสีเข้มและไม่ฉูดฉาด โดยมีรูปแบบที่เหมาะสม เสื้อสีขาวหรือสีตามกระโปรงหรือกางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้นสีขาว น้ำตาลหรือดำ เข้าชุดกันกับเครื่องแต่งกาย
(๓) ทนายความที่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบราชการ จะแต่งเครื่องแบบราชการก็ได้
(๔) ในขณะว่าความ ทนายความที่มีสิทธิ สวมเสื้อครุยเนติบัณฑิต ต้องสวมเสื้อครุยนั้นด้วย
* ข้อ ๒๐ (๒) แก้ไขโดย ข้อ ๓ แห่งข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๖๖ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๔๐ ตอนพิเศษ ๑๕๑ ง หน้า ๓๘ วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๖)
ข้อ ๒๑ ทนายความจะต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ คณะกรรมการสภาทนายความ และคณะกรรมการมรรยาททนายความ ตลอดจนบรรดาข้อบังคับหรือข้อกำหนดที่บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวได้สั่งหรือมีไว้ แล้วแต่กรณี ตามอำนาจหน้าที่ซึ่งมีอยู่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
Online: 1
Today: 2
Yesterday: 2
Week: 6
Month: 35
Year: 1005
Total: 2153
Record: 163 (03.11.2023)