ข้อ ๑๐ ใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ เพื่อจูงใจให้ผู้ใดมอบคดีให้ว่าต่างหรือแก้ต่าง
(๑) หลอกลวงให้เขาหลงว่าคดีนั้นจะชนะ เมื่อตนรู้สึกแก่ใจว่าจะแพ้
(๒) อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความอื่น
(๓) อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากทางว่าความ หรือหลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใดๆ ได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดีนั้นจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาเป็นแพ้
ทนายความต้องยึดถือหลักสุจริตในการประกอบวิชาชีพ ต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างตรงไปตรงมา (Straightforward) หากทนายความคนใดปกปิดข้อความจริง หรือกระทำการใดเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสิ่งที่ควรเข้าใจให้ถูกต้องในการประกอบวิชาชีพทนายความ ถือได้ว่ามีความผิดในข้อนี้ เป็นการควบคุมทนายความมิให้ใช้วิธีการจูงใจให้ลูกความมอบคดีให้แก่ตน ด้วยวิธีการใช้อุบายตามที่ระบุใน (1) ถึง (3) ได้แก่ การหลอกลวง หรืออวดอ้าง หรือขู่ให้ผู้ใดมอบคดีให้แก่ตน เพื่อว่าต่าง หรือแก้ต่าง
----------------
ซึ่งมีอยู่ 5 วิธี คือ
- หลอกลวงว่า ถ้ามอบคดีให้ตนว่าความให้แล้วจะชนะคดี ทั้งที่ความจริงทนายความรู้อยู่แก่ใจว่าจะแพ้
- อวดอ้างว่าตนมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความอื่น
- อวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใดอันกระทำให้เขาหลงว่าตนสามารถจะทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากทางว่าความ
- หลอกลวงว่าจะชักนำจูงใจให้ผู้นั้นช่วยเหลือคดีในทางใดๆ ได้ และ
- แอบอ้างขู่ว่า ถ้าไม่ให้ตนว่าคดีนั้นแล้วจะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาแพ้
---------------
การกระทำดังกล่าวต้องมีเจตนาพิเศษคือ จูงใจให้ผู้นั้นมอบคดีให้ตนว่าต่างหรือแก้ต่าง
---------------
เมื่อลูกความมาติดต่อทนายความเพื่อให้ว่าต่างหรือแก้ต่างให้ ส่วนใหญ่ลูกความมักจะสอบถามทนายความว่า คดีของตนจะมีทางชนะหรือไม่ ทนายความมีหน้าที่ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา หากมีความเห็นว่าคดีจะแพ้ ก็ควรจะแจ้งให้ลูกความทราบว่า คดีจะแพ้ในประเด็นใดบ้าง โดยไม่ต้องห่วงกังวลว่าถูกความจะให้ตนว่าต่างหรือแก้ต่างในคดีดังกล่าวหรือไม่ หากทนายความเห็นว่าคดีมีทางชนะ ทนายความก็ไม่ควรเข้ารับรองว่า คดีนั้นจะชนะอย่างแน่นอนเพระทนายความไม่ไช่เป็นผู้เขียนคำพิพากษาเอง และในการพิจารณาคดีคู่ความฝ่ายตรงกันข้ามอาจนำเสนอพยานหลักฐานบางอย่าง หักล้างข้อเท็จจริงที่ทนายความได้รับจากลูกความของตนก็ได้ ดังนั้น ทนายความควรแจ้งให้ถูกความทราบว่า หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ลูกความแจ้งให้ทราบ คดีน่าจะมีทางชนะได้ เพราะหลักกฎหมายในข้อใด เป็นต้น
----------------
หากทนายความพยายามจูงใจลูกความให้มอบคดีแก่ตน ด้วยการอวดอ้างความรู้ความสามารถของตนว่ามีมากกว่าทนายความคนอื่น เช่น อวดอ้างว่าตนเองเคยศึกษาในต่างประเทศ จึงมีความรู้ความสามารถในการเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีละเมิดได้มากกว่าทนายความคนอื่นๆ ในประเทศ เนื่องจากประเทศที่ตนไปศึกษามานั้น มีวิธีการเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวนสูงมาก อีกทั้งเคยทำงานเป็นหน่วยสืบราชการลับของต่างประเทศ ทำงานเกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ มีเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย สามารถดูดเสียงสนทนาของคู่ความฝ่ายตรงกันข้าม ทำให้สามารถทราบความลับเพื่อเตรียมการในการต่อสู้คดีได้อย่างดี การกระทำเช่นนี้ เป็นความผิดมรรยาททนายความในข้อนี้
----------------
การอวดอ้างว่าเกี่ยวเป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกับผู้ใด อันกระทำให้เขาได้รับผลเป็นพิเศษนอกจากทางว่าความ เช่น อวดอ้างว่าเป็นเพื่อนสนิทกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาล เพราะเป็นเพื่อนเรียนหนังสือมาด้วยกัน จะขออะไรในคดีก็จะได้อย่างแน่นอน เพียงการพูดเท่านี้ก็มีความผิดตามข้อนี้แล้ว ไม่จำต้องมีการจูงใจถึงขนาดว่า จะไปขอร้องผู้พิพากษาหัวหน้าศาลให้ทำให้คดีที่จะรับว่าต่าง หรือแก้ต่างให้ชนะคดี
----------------
การหลอกลวงว่า จะชักนำจูงใจให้คนที่เป็นสมัครพรรคพวกรู้จักคุ้นเคยกัน ให้ความช่วยเหลือคดีในทางใดๆ ได้ หรือแอบอ้างขู่ว่าถ้าไม่ให้ตนว่าคดีนั้นแล้ว จะหาหนทางให้ผู้นั้นกระทำให้คดีของเขาแพ้ เช่น หลอกลวงว่ารู้จักสนิทสนมกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเป็นอย่างดี ทุกเย็นจะดื่มสุรากันเป็นประจำ ทนายความจะไปจูงใจผู้พิพากษาหัวหน้าศาลให้ช่วยเหลือให้คดีที่จะมอบให้ตนว่าต่าง หรือแก้ต่างชนะคดีได้ หรือหากไม่มอบคดีให้ตนว่าต่างหรือแก้ต่าง ทนายความจะไปพบผู้พิพากษาหัวหน้าศาลทำให้คดีนี้แพ้ เพราะฉะนั้นควรมอบคดีให้ตนว่าคดีนี้ จึงมีความผิดตามข้อนี้
Online: 1
Today: 2
Yesterday: 2
Week: 6
Month: 35
Year: 1005
Total: 2153
Record: 163 (03.11.2023)