ข้อ ๕ ไม่รับหน้าที่เมื่อผู้พิพากษาได้ขอแรงให้เป็นทนายความแก้ต่างในคดีอาญา เว้นแต่จะมีข้อแก้ตัวโดยสมควร
หลักการของมรรยาททนายความในข้อนี้ คือ ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความต้องมีอุดมการณ์ในการรับใช้ประชาชน การที่ศาลขอแรงทนายความให้แก้ต่างคดีแก่จำเลยในคดีอาญาเป็นการขอให้ทนายความทำหน้าที่รับใช้ประชาชน วิชาชีพทนายความเป็นอาชีพที่ต้องได้รับการศึกษาอบรมและฝึกฝนมาอย่างดี เป็นอาชีพที่ผูกขาดโดยกลุ่มบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและความชำนาญดังกล่าว มีการหวงกันมิให้บุคคลอื่นที่ไม่ได้รับการศึกษาอบรมในวิชาชีพทนายความเข้ามาประกอบวิชาชีพแข่งขันด้วย และความจำเป็นของประชาชนที่มีปัญหาคดีความต้องพึ่งความรู้ความสามารถของทนายความในการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น ทนายความจึงต้องมีอุดมการณ์ในการรับใช้ประชาชน
-------------------------
การที่ศาลมีหนังสือขอแรงทนายความให้เป็นทนายความแก่จำเลยในคดีอาญา เป็นไปตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 หรือที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 242 วรรคแรก ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่ว่า ทนายความมีหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมหรือเป็นเครื่องมือในกระบวนการยุติธรรม การที่ศาลมีหนังสือขอแรงทนายความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ต้อง ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ว่า เป็นคดีที่มีโทษอัตราจำคุก และในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล และจำเลยไม่มีทนายความและมีความประสงค์ให้ศาลแต่งตั้งทนายความให้ส่วนในกรณีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 242 วรรคแรกนั้น ได้ขยายขอบเขตกำหนดหน้าที่ของรัฐต้องจัดหาทนายความให้แก่จำเลยโดยไม่มีเงื่อนไข
-------------------------
เมื่อจำเลยในคดีอาญาขอให้ศาลแต่งตั้งทนายความแล้ว ศาลจะมีหนังสือขอแรงถึงทนายความซึ่งขึ้นบัญชีเป็นทนายความขอแรงต่อศาลไว้แล้ว โดยกำหนดวันนัดพบจำเลย และกำหนดวันนัดพิจารณาให้ทนายความทราบ เมื่อทนายความได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ทนายความมีหน้าที่ต้องไปพบจำเลยตามวันนัด เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงแห่งคดี และความประสงค์ในการต่อสู้คดีของจำเลย มีทนายความหลายคนที่ไม่ให้ความสำคัญในกรณีดังกล่าว โดยคิดว่าจะไปพบกับจำเลยในวันนัดพิจารณาได้ หากในวันนัดพิจารณาทนายความไม่ไปศาล ศาลจะมีหนังสือแจ้งกล่าวหาทนายความว่าประพฤติผิดมรรยาททนายความในข้อนี้ ดังนั้น หากทนายความไม่สามารถไปพบจำเลยตามวันนัดดังกล่าวได้ทนายความต้องมีคำแถลงแจ้งให้ศาลทราบทันที และควรไปในวันนัดพิจารณา หรือขอเลื่อนคดีในวันนัดพิจารณา
-------------------------
ในสมัยที่เนติบัณฑิตยสภามีหน้าที่ควบคุมมรรยาททนายความ ศาลจะมีหนังสือขอแรงทนายความโดยเรียงไปตามลำดับทะเบียนทนายความ ในบางครั้งทนายความที่มีอาวุโสสูงมากก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความขอแรงให้แก่จำเลยในคดีอาญา ซึ่งถือกันว่าเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าว แต่เนื่องจากรายชื่อทนายความที่ศาลใช้อยู่เป็นข้อมูลเก่าที่มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง บางครั้งไม่สามารถติดต่อกับทนายความดังกล่าวได้ ประกอบกับมีผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นทนายความมากขึ้น และทางราชการได้กำหนดเงื่อนไขในการรับสมัครบุคคลเข้าสอบคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และพนักงานอัยการว่าต้องเป็นทนายความที่ว่าความมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 คดีทำให้มีทนายความมาขอว่าความในคดีขอแรงมากขึ้น จนศาลจัดให้มีทะเบียนบัญชีทนายความขอแรง และยึดถือทะเบียนดังกล่าวในการจัดหาทนายความขอแรงให้แก่จำเลย การจัดทำทะเบียนบัญชีทนายความขอแรงของศาลดังกล่าว เป็นการทำเพื่อความสะดวกของศาลเท่านั้น ทนายความที่มีรายชื่อเป็นทนายความขอแรงในทะเบียนของศาล เมื่อศาลมีหนังสือขอแรงมายังทนายความผู้นั้นแล้ว ทนายความก็ต้องไปทำหน้าที่เป็นทนายความขอแรง ในกรณีที่ทนายความที่ได้ขึ้นบัญชีเป็นทนายความขอแรงของศาลใด หากมีการย้ายสำนักงาน หรือภูมิลำเนา ทนายความควรต้องมีหนังสือแจ้งให้ศาลนั้น ๆ ทราบ และควรต้องแจ้งย้ายสำนักงานต่อนายทะเบียนทนายความด้วย มิฉะนั้น หากศาลมีหนังสือขอแรงทนายความไปยังภูมิลำเนาที่จดแจ้งไว้ต่อนายทะเบียนทนายความและศาลมีคำแจ้งกล่าวหาแล้ว คณะกรรมการมรรยาททนายความจะส่งสำเนาดังกล่าวหาไปยังสำนักงานที่จดแจ้งไว้ต่อนายทะเบียนทนายความ ซึ่งต้องถือว่าได้ส่งหนังสือขอแรง หรือสำเนาคำกล่าวหาโดยชอบแล้ว อันอาจทำให้ทนายความผู้นั้นได้รับความเสียหายได้
-------------------------
ในยุคที่กรมสรรพากรใช้วิธีการเรียกเก็บภาษีการค้าอยู่นั้น กรมสรรพากรเคยพยายามที่จะเรียกเก็บภาษีการค้าจากผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ โดยถือว่าเป็นการรับจ้างทำของประเภทหนึ่ง จนมีคดีฟ้องร้องกันที่ศาล ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาว่า วิชาชีพทนายความไม่ใช่อาชีพรับจ้างทำของทั่วไป เพราะทนายความมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่จำเลยตามที่ศาลได้ขอแรงไป มิใช่การประกอบการค้าทั่วไป จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้า ซึ่งเป็นการตีความโดยอาศัยหลักของการเป็นทนายความขอแรงในข้อนี้ ผลของการเป็นทนายความขอแรงดังกล่าวต่อเนื่องจนมาถึงสมัยของการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งทนายความไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ปรากฏตามประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (ฌ)
-------------------------
การไม่รับเป็นทนายความขอแรงนั้น ต้องมีข้อแก้ตัวโดยสมควร ซึ่งต้องดูเป็นกรณีไปเช่น ทนายความขึ้นบัญชีเป็นทนายความขอแรงในเขตอำนาจของศาลอาญา ต่อมาทนายความได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ไม่สามารถมาเป็นทนายความขอแรงได้ หรือทำให้ไม่ได้รับหนังสือขอแรงของศาล หรือทนายความได้เปลี่ยนอาชีพเป็นอย่างอื่นแล้ว หรือไปรับราชการหรือเคยเป็นทนายความให้แก่ผู้เสียหายในคดีที่มีการขอแรง หรือเป็นญาติกับฝ้ายผู้เสียหายในคดีซึ่งกรณีดังกล่าวทนายความต้องแถลงให้ศาลทราบ เพื่อศาลจะได้หาทนายความขอแรงคนใหม่ต่อไป ในกรณีที่ทนายความย้ายภูมิลำเนา ควรแจ้งย้ายต่อนายทะเบียนทนายความและแถลงให้ศาลทราบด้วย เคยมีกรณีที่ทนายความซึ่งเพิ่งได้รับใบอนุญาตทนายความ ได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นหนายความ ต่อมาไม่นานนักได้สมัครเข้าเป็นทนายความในสำนักงานแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าสำนักงาน ดังกล่าวมีระเบียบห้ามทนายความในสำนักงานเป็นทนายความขอแรง ทนายความผู้นั้นมิได้ไปแจ้งถอนชื่อออกจากการขึ้นทะเบียนเป็นทนายความขอแรง ศาลได้มีหนังสือขอแรงไปยังทนายความดังกล่าว ทนายความได้แถลงให้ศาลทราบว่าไม่อาจเข้าเป็นทนายความขอแรงได้ เพราะติดขัดระเบียบของสำนักงาน ศาลจึงมีหนังสือแจ้งกล่าวหามายังสภาทนายความ ข้อแก้ตัวของทนายความผู้นั้นยังไม่เป็นเหตุอันสมดวร และสำนักงานทนายความนั้นก็ไม่สมควรที่จะกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ แต่สภาทนายความไม่มีอำนาจไปพิจารณาโทษของสำนักงานได้ ในขณะนี้สภาทนายความกำลังขอแก้ไขพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 อยู่ หากมีการแก้ไขตามแนวทางของสภาทนายความแล้ว การตั้งสำนักงานทนายความต้องจดทะเบียนต่อสภาทนายความ ทำให้สภาทนายความสามารถเข้าไปควบคุมดูแลในปัญหาดังกล่าวได้
Online: 1
Today: 2
Yesterday: 2
Week: 6
Month: 35
Year: 1005
Total: 2153
Record: 163 (03.11.2023)