ข้อ ๖ ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล หรือกระทำการใดอันเป็นการดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในศาลหรือนอกศาล อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา
ศาล หรือ ผู้พิพากษา
--------------------
เป็นผู้พิจารณาพิพากษาอรรถคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์เพื่อยังความยุติธรรมให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี การทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลเพื่ออำนวยความยุติธรรมอาจทำให้คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องเสียประโยชน์ และอาจสร้างความไม่พอใจขึ้นได้ ทนายความมีส่วนในการสร้างทัศนคติที่ดีให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายว่าเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ การแพ้หรือชนะคดีเป็นไปตามเหตุผลของพยานหลักฐานแห่งคดี อำนาจของศาลหรือผู้พิพากษาจึงต้องเป็นที่เคารพยำเกรงของทนายความ มรรยาททนายความในข้อนี้เป็นหลักการของประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณีที่ถือว่า ทนายความเป็นเจ้าหน้าที่ของศาล (Court Officer) หรือตามหลักการของประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ถือว่า ทนายความเป็นเครื่องมือในกระบวนการยุติธรรม (Instruments of Justice)
---------------------
ความผิดในข้อนี้แยกเป็นสองประการ คือ ไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาลและกระทำการอันเป็นการดูหมิ่นศาล หรือผู้พิพากษา ซึ่งการไม่เคารพยำเกรงอำนาจศาล และการดูหมิ่นนั้นต้องเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาลหรือผู้พิพากษา คำว่า "ศาล" ในที่นี้ หมายถึง สถาบันศาลและตัวผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีด้วย การกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นในศาลหรือนอกศาลก็เป็นความผิด ซึ่งจะเป็นการกระทำความผิดในตัวอาคารของศาล หรือบริเวณของศาล หรือในห้องพิจารณา หรือนอกบริเวณศาล ก็เป็นความผิดในข้อนี้ หากเป็นการกระทำในห้องพิจารณาหรือในบริเวณศาล ทนายความผู้กระทำความผิดอาจถูกลงโทษในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ซึ่งศาลอาจจะลงโทษด้วยอำนาจของศาล และอาจจะมีหนังสือแจ้งกล่าวหามายังสภาทนายความ ในข้อหาผิดมรรยาททนายความอีกด้วยก็ได้
----------------------
การเคารพยำเกรงต่อศาล ไม่ไช่การเกรงกลัวอำนาจของศาลจนทำให้ทนายความไม่กล้าที่จะโต้แย้งคัดค้านศาล ในกรณีที่ทนายความมีความเห็นในการดำเนินกระบวนพิจารณาที่แตกต่างจากศาล หรือมีความคิดเห็นประการใดที่ขัดแย้งกับศาล และจำเป็นต้องกระทำการโต้แย้งเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกความ ทนายความก็ต้องแถลงคัดด้านการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลด้วยท่าทีที่สุภาพอ่อนน้อม ต้องไม่ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าว หรือหยิ่งผยอง หรืออวดดี หากศาลยังไม่เห็นด้วยกับความเห็นหรือคำคัดค้านของทนายความ และไม่ยอมบันทึกความเห็นหรือคำคัดด้านดังกล่าว ทนายความก็ควรใช้วิธียื่นคำแถลงคัดค้านให้ติดไว้ในสำนวน ไม่ควรโต้เถียงจนกระทั่งไม่รู้จักจบสิ้น อันอาจสร้างความขุ่นข้องหมองใจแก่ศาลได้ การยื่นคำแถลงคัดค้านก็ต้องสุภาพอ่อนน้อม ยกเหตุผลและข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งเท่านั้น
-----------------------
เคยมีทนายความแถลงโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ซึ่งศาลได้พยายามอธิบายให้ทนายความเข้าใจ ทนายความกลับแถลงว่า
"ท่านอย่ามาตีฝีปากกับผม ผมนะมันชั้นมหาบัณฑิตนะครับ"
ซึ่งข้อความที่แถลงเช่นนี้ถือว่าเป็นการดูหมิ่นศาล อันเป็นความผิดมรรยาททนายความในข้อนี้
----------------------
หรือในกรณีที่ทนายความยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า
"เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ ยังไม่เคยเห็นผู้พิพากษามีคำพิพากษาอย่างนี้"
อันเป็นการดูหมิ่นศาล
----------------------
ในสมัยที่เนติบัณฑิตยสภามีหน้าที่ในการดูแลมรรยาททนายความ ทนายความท่านหนึ่งเดินด้วยความรีบร้อน เพื่อไปทำหน้าที่ทนายความในห้องพิจารณา ขณะที่เดินตามทางเดินก็ชนเข้ากับผู้พิพากษาท่านหนึ่ง จึงถูกกล่าวหาว่า ไม่เคารพยำเกรงผู้พิพากษา ในคณะกรรมการสอบสวนคดีนี้มีทนายความเพียงหนึ่งท่าน ซึ่งได้โต้แย้งความเห็นว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความผิดมรรยาททนายความ แต่เสียงส่วนใหญ่ซึ่งเป็นผู้พิพากษาเห็นว่า ทนายความดังกล่าวมีความผิดฐานไม่เคารพยำเกรงผู้พิพากษา ซึ่งหากเป็นในปัจจุบันนี้ คณะกรรมการสอบสวนเป็นทนายความ ก็คงจะพิจารณาที่เจตนาของทนายความคนนั้นลำพังเพียงการรีบร้อนเพื่อเข้าห้องพิจารณาคดีให้ทันการพิจารณาคดี แต่ด้วยความไม่ระวังวิ่งชนผู้พิพากษาเข้า ไม่น่าจะเป็นความผิดในข้อนี้ และที่สำคัญคือ การกระทำดังกล่าวไม่เป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาล หรือผู้พิพากษา
-----------------------
เคยมีคดีที่ทนายความทำคำฟ้องและหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา โดยระบุชื่อลูกความของตนเป็นโจทก์ ลูกหนี้ของลูกความเป็นจำเลย แล้วส่งสำเนาคำฟ้องพร้อมหมายนัดไปให้ลูกหนี้ทางไปรษณีย์และแนบนามบัตรของทนายความผู้ถูกแจ้งกล่าวหาไปด้วย โดยไม่ได้ฟ้องคดีจริงจนศาลมีคำสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล ให้จำคุก 4 เดือน รับสารภาพลดเหลือ 2 เดือน ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับยกฟ้อง เพราะเป็นการกระทำนอกศาล คดีถึงที่สุดแล้ว การกระทำของผู้ถูกแจ้งกล่าวหาเป็นการใช้วิธีการอันไม่ชอบธรรม ให้ลูกหนี้ของลูกความหลงผิดว่าศาลได้รับฟ้องคดีตามลำเนาดำฟ้องแล้ว เป็นการกระทำอันไม่เคารพยำเกรงต่อศาลนอกศาล อันอาจทำให้เสื่อมเสียต่ออำนาจศาล เป็นความผิดในข้อนี้
(คำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 13/2540)
Online: 1
Today: 2
Yesterday: 2
Week: 6
Month: 35
Year: 1005
Total: 2153
Record: 163 (03.11.2023)