มาตรา 149 | ประมวลกฎหมายอาญา |

 

ประมวลกฎหมาย
อาญา
ภาค ๒ ความผิด

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

หมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

หน้าก่อน

 

     มาตรา ๑๔๙  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต

* มาตรา ๑๔๙  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๕ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา
คำอธิบาย

    ...

คำพิพากษาศาลฎีกา

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:46:16
    ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:46:16


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83    มาตรา ๘๓
        ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90    มาตรา ๙๐
        เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148    มาตรา ๑๔๘
        ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149    มาตรา ๑๔๙
        ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157    มาตรา ๑๕๗
        ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2906 / 2517
    คำพิพากษาย่อสั้น
    เมื่อตามพฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด ข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลย โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุม มิใช่ว่าจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมโดยชอบด้วยอำนาจในตำแหน่ง แล้วเรียกเอาเงินเพื่อไม่ให้นำตัวโจทก์ร่วมไปส่งให้พนักงานสอบสวนตามหน้าที่เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 148 หาใช่ความผิดตามมาตรา 149 ไม่
    เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 148 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
    คำพิพากษาย่อยาว
    โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ป้องกันปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย ได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งห้าว่าทำการประมงจับปลาชายฝั่งอันเป็นเขตหวงห้ามด้วยอวนรุนอันเป็นความผิดจะต้องจับกุม ถ้าไม่ให้จำเลยจับกุมก็ต้องมอบเงินให้จำเลย 100 บาทต่อเรือจับปลา 1 ลำ ซึ่งความจริงผู้เสียหายไม่ได้กระทำผิดกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เพราะกลัวถูกจับจึงได้มอบเงินให้จำเลยไปตามที่จำเลยเรียกร้อง อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157
    จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
    ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายทั้งห้าเข้าเป็นโจทก์ร่วม
    ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148, 157, 83 ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 148 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยคนละ 6 ปี
    จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
    จำเลยทั้งสองฎีกา
    ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในเขตท้องที่ห้ามใช้อวนรุนจับสัตว์น้ำ คืนเกิดเหตุได้ไปพบโจทก์ร่วมทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของเรือประมงใช้อวนรุนรวม 6 ลำที่จอดอยู่ชายฝั่งทะเลที่เกิดเหตุจึงพูดกับโจทก์ร่วมว่า คืนนี้จะมาจับเรืออวนรุนในเขตหวงห้าม โจทก์ร่วมขอร้องไม่ให้จับกุม จำเลยว่าถ้าไม่ให้จับก็ให้เอาเงินมา โจทก์ร่วมจึงต่างรวบรวมเงินมอบให้จำเลยทั้งสองรับไปจำนวน 600 บาท แล้วจำเลยได้ทำบันทึกข้อความว่า ได้ตรวจพบและสงสัยว่ามีการกระทำผิดพระราชบัญญัติการประมง จับสัตว์น้ำในเขตหวงห้ามอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของกระทรวงเกษตร จึงได้ว่ากล่าวตักเตือนและห้ามมิให้โจทก์ร่วมกระทำผิดอีก
    วินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลยโดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุมฐานจับปลาโดยใช้อวนรุน มิใช่ว่าจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมโดยชอบด้วยอำนาจในตำแหน่ง แล้วเรียกเอาเงินเพื่อไม่ให้นำตัวโจทก์ร่วมไปส่งให้พนักงานสอบสวนตามหน้าที่ ที่จำเลยกล่าวแก่โจทก์ร่วมว่าจะมาจับเรือที่ใช้อวนรุนในเขตหวงห้ามนั้น จึงเป็นแต่เพียงแกล้งกล่าวหาขึ้นเพื่อจะเรียกเอาเงินเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 148 ตามฟ้อง เพียงแต่ว่าเมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 148 อันเป็นบทเฉพาะแล้วจำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก การกระทำของจำเลยหาใช่ความผิดตามมาตรา 149 ดังที่จำเลยฎีกาไม่

    พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 6 ปี

    ผู้พิพากษา
    แผ้ว ศิวะบวร
    สัญชัย สัจจวานิช
    สนิท บริรักษ์


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:16:47
    ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:17:51


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149    มาตรา ๑๔๙
        ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157    มาตรา ๑๕๗
        ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1749 / 2545
    คำพิพากษาย่อสั้น
    พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์ของ ส. แล้วให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจประมาณ 30 นาที จึงเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีโดยนำผู้เสียหายออกมาโทรศัพท์หา ก. ภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงิน 3,000 บาท จากผู้เสียหายแล้ว จึงปล่อยผู้เสียหายไปนั้น เป็นกรณีไม่กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
    เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม
    คำพิพากษาย่อยาว
    โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู ตำแหน่งพนักงานวิทยุงานป้องกันและปราบปราม มีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา และทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาได้จับกุมนายสถาพร ทองเงิน ในข้อหาลักทรัพย์ตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามกฎหมายแล้วเรียกให้นายสถาพรมอบเงิน 10,000 บาท แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยไม่นำตัวนายสถาพรส่งให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีและปล่อยตัวนายสถาพรไปอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตทำให้นายสถาพรได้รับความเสียหายต้องยอมมอบเงิน 6,000 บาท และวิทยุติดตามตัว (แพคลิงค์) 1 เครื่อง ราคา 6,000บาท ให้แก่จำเลยไป ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยเรียกร้องเอาไปจากนายสถาพรเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149, 157 และคืนของกลางแก่เจ้าของ
    จำเลยให้การปฏิเสธ
    ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149,157 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 5 ปี ธนบัตรของกลางคืนเจ้าของ
    จำเลยอุทธรณ์
    ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
    จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู ก่อนถูกจับกุมจำเลยได้จับกุมนายสถาพร ทองเงินผู้เสียหาย โดยกล่าวหาว่า ลักทรัพย์คาร์บูเรเตอร์รถจักรยานยนต์ของผู้อื่นและควบคุมตัวผู้เสียหายไว้ที่ห้องควบคุมสถานีตำรวจดังกล่าว ต่อมาจำเลยปล่อยผู้เสียหายไปโดยไม่ได้นำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ในวันจับกุมจำเลยออกมารับเงิน 3,000 บาทจากนางกัณหา แซ่เล้า ภริยาผู้เสียหายที่บริเวณด้านหลังสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูจึงถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (สำนักงาน ป.ป.ป.) และเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามจับกุมพร้อมยึดธนบัตรฉบับละ 500 บาท 6 ฉบับ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นของกลาง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์คาร์บูเรเตอร์ของผู้อื่นอันเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายและนางกัณหาพยานโจทก์ว่า เมื่อผู้เสียหายลงลายมือชื่อในแผ่นกระดาษแบบพิมพ์ซึ่งไม่ได้กรอกข้อความแล้ว จำเลยบอกว่าผู้เสียหายกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ต้องจับกุมดำเนินคดี หากประสงค์ให้จำเลยช่วยเหลือเพื่อไม่ถูกดำเนินคดี ผู้เสียหายต้องจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้แก่จำเลย หากผู้เสียหายไม่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวก็ต้องส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี จากนั้นจำเลยนำผู้เสียหายไปควบคุมในห้องควบคุมนานประมาณ 30 นาที จึงพาผู้เสียหายออกมาและให้ผู้เสียหายโทรศัพท์ไปแจ้งให้นางกัณหามาพบที่สถานีตำรวจ เมื่อนางกัณหามาพบผู้เสียหายเล่าให้ฟังว่า ถูกจำเลยจับกุมข้อหาลักทรัพย์และจำเลยต้องการเงิน 10,000 บาท ให้นางกัณหาไปหาเงินมาให้จำเลย นางกัณหานำเครื่องรับโทรทัศน์ไปจำนำได้เงิน 3,000 บาท แล้วนำไปให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายส่งมอบเงิน 3,000 บาท ให้จำเลยรับไปแต่ยังไม่ครบตามที่ต้องการ จำเลยจึงยึดวิทยุติดตามตัวของผู้เสียหายไว้เป็นประกันและจะคืนให้เมื่อได้รับเงินส่วนที่เหลือ จากนั้นจำเลยจึงปล่อยผู้เสียหายพร้อมกับให้หมายเลขโทรศัพท์ห้องพักจำเลยแก่ผู้เสียหายไว้สำหรับติดต่อ วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ไปจำนำกับเพื่อนได้เงิน 3,000 บาท จึงโทรศัพท์นัดให้จำเลยมารับเงินที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู แต่จำเลยไม่มาตามนัด ต่อมาผู้เสียหายไปร้องเรียนจำเลยต่อนายซาเล็ม อุสตัส เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ นายซาเล็มรับเรื่องร้องเรียนแล้วได้ประสานงานกับร้อยตำรวจเอกยุทธ กล่ำกล่อมจิตร เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปราม แล้วร่วมกันวางแผนจับกุมจำเลยโดยนำธนบัตรฉบับละ 500 บาท 6 ฉบับ มาให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อและทำตำหนิไว้ที่ด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร แล้วนำไปถ่ายสำเนาไว้ จากนั้นผู้เสียหายโทรศัพท์นัดหมายให้จำเลยมารับเงินโดยให้นางกัณหาเป็นผู้นำเงินไปให้จำเลยจนกระทั่งจับกุมจำเลยได้พร้อมธนบัตรของกลางดังกล่าว เห็นว่า จำเลยจับกุมผู้เสียหายได้ที่บริเวณลานจอดรถสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู หากจำเลยมีเจตนาสุจริตก็น่าจะนำตัวผู้เสียหายพร้อมบันทึกการจับกุม ส่งมอบให้แก่ร้อยตำรวจเอกยุทธภูมิกิตติทรงภพ ซึ่งเข้าเวรสอบสวนอยู่ในขณะนั้น แต่จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกยุทธภูมิมิได้ความว่า ในวันดังกล่าวพยานเข้าเวรสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูตั้งแต่เวลา 0.00 นาฬิกา จนถึง 6 นาฬิกา ในช่วงนั้นมีผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่14 คน แต่ไม่มีชื่อผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย การที่จำเลยไม่นำตัวผู้เสียหายพร้อมบันทึกการจับกุมส่งมอบให้แก่ร้อยตำรวจเอกยุทธภูมิดังกล่าวย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งผู้เสียหายและนางกัณหาเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหาย โดยนางกัณหาได้นำเครื่องรับโทรทัศน์ไปจำนำได้เงิน 3,000 บาท แล้วนำไปให้ผู้เสียหายที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู และผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยแต่ยังไม่ครบจำนวนตามที่จำเลยต้องการ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าผู้เสียหายเคยถูกดำเนินคดีข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูก็ตาม แต่ในเอกสารฉบับนี้ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าจำเลยเป็นผู้จับกุมผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้เสียหายเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยเพราะเหตุถูกดำเนินคดีดังกล่าวถึงขนาดกลั่นแกล้งให้จำเลยต้องได้รับโทษในคดีนี้ เชื่อได้ว่าผู้เสียหายและนางกัณหาเบิกความตามความจริง พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์คาร์บูเรเตอร์ของนายสุริยา แซ่ซิ้ม แล้วให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ในห้องควบคุมที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูประมาณ 30 นาที จึงนำผู้เสียหายออกมาให้โทรศัพท์ไปหานางกัณหาภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงินจำนวน 3,000 บาท ไปจากผู้เสียหายแล้วจึงปล่อยผู้เสียหาย รับฟังได้ว่า การที่จำเลยปล่อยผู้เสียหายไปดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้เสียหายไปหาเงินมาให้จำเลยจนครบตามจำนวนที่จำเลยต้องการ สำหรับนายซาเล็มและร้อยตำรวจเอกยุทธพยานโจทก์ทั้งสองแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นว่าจำเลยเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเป็นการแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวผู้เสียหายก็ตาม แต่หลังจากนายซาเล็มได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายแล้วได้ประสานงานกับร้อยตำรวจเอกยุทธเพื่อวางแผนจับกุมจำเลย ต่อมาจับกุมจำเลยได้พร้อมธนบัตรของกลางฉบับละ 500 บาท 6 ฉบับ ซึ่งผู้เสียหายลงลายมือชื่อและทำตำหนิไว้ในด้านหน้าและด้านหลังตามที่วางแผนไว้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายในความผิดข้อหาลักทรัพย์ อันเป็นกรณีไม่กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ดังฟ้อง ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า ปล่อยผู้เสียหายไปเพื่อให้ผู้เสียหายไปหาเงินมาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายสุริยา แซ่ซิ้ม เจ้าของคาร์บูเรเตอร์รถจักรยานยนต์ที่กล่าวหาผู้เสียหายว่าเป็นผู้ถอดเอาไปจากรถจักรยานยนต์ของนายสุริยาซึ่งขณะนั้นต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ตลอดจนการรับเงิน 3,000 บาท จากนางกัณหาเป็นการรับไว้แทนนายสุริยา โดยมีนายสุริยามาเบิกความสนับสนุนนั้น หากเป็นความจริงจำเลยก็น่าจะได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่จำเลยก็หาได้ให้การไว้ไม่ ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการแสร้งแต่งเรื่องขึ้นในภายหลังเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความผิด ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดตามมาตรา 157 มาด้วย โดยเห็นว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ที่เป็นบททั่วไปอีก แม้การกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง"
    พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เพียงบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
    ผู้พิพากษา
    ชวลิต ตุลยสิงห์
    ดวงมาลย์ ศิลปอาชา
    สมชาย จุลนิติ์


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 04:13:29
    ปรับปรุงล่าสุด : วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 04:13:29


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149    มาตรา ๑๔๙
        ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2165 / 2561
    กฎหมายวิธีสบัญญัติ เมื่อมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อาจทำการไต่สวน แต่ขณะที่ผู้เสียหายกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดแก่จำเลย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มีผลใช้บังคับแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจไต่สวนตามมาตรา 19 (4) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำเลยเป็นเจ้าพนักงานรับเงิน 3,000,000 บาท จาก ป. ในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือให้ ป. ไม่ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แม้ภายหลังจำเลยจะไม่กระทำอย่างใดในตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือ ป. หรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ขณะที่จำเลยรับเงินดังกล่าวแล้ว


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

แสดงความคิดเห็น

    ...

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 2 Online
» 4 Today
» 124 Yesterday
» 889 Week
» 4496 Month
» 201428 Year
» 1452833 Total
Record: 10208 (10.06.2023)
Free PHP counter

ทบทวน สรุปย่อ สอบทนายความ ภาคทฤษฎี"
Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ

ทบทวน สรุปย่อ สอบทนายความ ภาคปฏิบัติ"