มาตรา 157 | ประมวลกฎหมายอาญา |

 

ประมวลกฎหมาย
อาญา
ภาค ๒ ความผิด

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

หมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

หน้าก่อน

 

     มาตรา ๑๕๗  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๑๕๗  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๕ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา
ข้อสอบเก่าเนติบัณฑิต
คำอธิบาย

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 19:51:50
    วันที่ปรับปรุง : วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 19:54:17


    มาตรานี้บัญญัติการกระทำอันเป็นความผิด 2 ความผิด คือ
    ความผิดแรก : เป็นเรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ
    ความผิดที่สอง : เป็นเรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

    ความผิดแรก มีองค์ประกอบของความผิดดังนี้
    องค์ประกอบภายนอก
    1. เป็นเจ้าพนักงาน
    2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
    องค์ประกอบภายใน
    1. เจตนา
    2. เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

    ความผิดที่สอง มีองค์ประกอบของความผิดดังนี้
    องค์ประกอบภายนอก
    1. เป็นเจ้าพนักงาน
    2. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
    องค์ประกอบภายใน
    1. เจตนา
    2. โดยทุจริต



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 21:52:13
    วันที่ปรับปรุง : วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 02:21:45


    ความผิดแรก : เรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

    องค์ประกอบภายนอก
    เป็นเจ้าพนักงาน ความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ผู้กระทำจะต้องมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน
    ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ บทบัญญัติในมาตรานี้เป็นการควบคุมทั่วไป หรือเรียกว่าบททั่วไป คือเอาผิดแก่เจ้าพนักงานทุกคน ทุกประเภท และไม่จำกัดว่าจะต้องมีหน้าที่โดยเฉพาะเจาะจงแต่ประการใด ฉะนั้น หากเป็นเจ้าพนักงาน เมื่อการกระทำที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ไม่เป็นความผิดตามมาตราต่างๆ ที่เป็นบทเฉพาะซึ่งระบุหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะเจาะจงแล้ว ก็อาจผิดตามมาตรานี้ซึ่งเป็นบททั่วไปได้ แต่ถ้าการกระทำเป็นความผิดตามบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่ผิดตามบททั่วไปในมาตรา 157 นี้อีก

    สําหรับลักษณะของการกระทําอันเป็นความผิดกฎหมายก็มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเจาะจง ฉะนั้นจะปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ประการใดก็อาจเป็นความผิดได้แต่การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้นจะต้องอยู่ในหน้าที่ ซึ่งหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นต้องเป็นหน้าที่โดยตรงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้นๆ เท่านั้นและต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติดังกล่าวไม่อยู่ในหน้าที่โดยตรง แม้จะปฏิบัติโดยมิชอบก็ไม่ผิด เช่น ตํารวจจับเจ้ามือสลากกินรวบ แล้วกระทํามิดีมิร้ายต่อผู้ต้องหาทางชู้สาว หรือจับผู้ต้องหาฐานมีของผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง แล้วทําร้ายผู้ต้องหาภายหลัง เจ้าพนักงานตํารวจเบิกความเป็นพยาน การทํามิดีมิร้ายทางชู้สาวหรือการทําร้ายผู้ต้องหาหรือการเบิกความของเจ้าพนักงานตํารวจ ทั้งสามกรณี ถือว่าไม่อยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงาน จึงไม่ผิดตามมาตรา 157
    อนึ่ง แม้ว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัตินั้นจะอยู่ในหน้าที่ก็ตาม แต่ผู้นั้นได้กระทําไปโดยชอบหรือโดยสุจริตก็ไม่มีความผิด
    ตัวอย่าง
    (1) นายอําเภอสั่งปลัดอําเภอจับบุคคลหาว่ากระทําความผิดแต่สั่งเพราะสาเหตุโกรธเคืองกันเป็นส่วนตัว ปลัดอําเภอไม่ทราบเหตุส่วนตัวของนายอําเภอ จึงจับผู้นั้นตามคําสั่งโดยสุจริต ไม่มีความผิดตามมาตรานี้
    (2) ตํารวจจับคนเมาสุราเอะอะอาละวาดขังไว้ 1 คืน เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและทรัพย์สินของทาง ราชการ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
    การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนี้ หมายความว่า มิชอบด้วยหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้น ไม่ถึงกับผิดกฎหมาย และไม่จําเป็นต้องเป็นเรื่องกลั่นแกล้ง เช่น จับเจ้ามือสลากกินรวบเป็นผู้หญิง แล้วใส่กุญแจมือเพื่อให้เกิดความอับอายและปรามผู้อื่น ละเว้นไม่จับคนร้ายลักทรัพย์ และขู่พยานไม่ให้ยืนยันว่ารู้เห็นเหตุการณ์ เจ้าพนักงานซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจงาน ทําบันทึกรับงานว่าถูกต้อง ซึ่งความจริงใช้เหล็กไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงาน ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจการจ้างการก่อสร้างบ้านพักครูทําหลักฐานใบตรวจรับงานจ้างเหมาแจ้งว่าได้ก่อสร้าง บ้านพักครูแล้วเสร็จตามสัญญาจ้างทั้งๆ ที่เป็นความเท็จ โดยงานยังไม่แล้วเสร็จเป็นความผิดตามมาตรา 162 (4) และเป็นเหตุให้มีการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมาก่อสร้างไปจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับความเสียหายมีความผิดตามมาตรา 157 ด้วย ตํารวจควบคุมผู้ต้องกักขังตามคําสั่งนายตํารวจ ปล่อยผู้ต้องกักขังและเปลี่ยนตัวผู้อื่นแทน เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกในคําขอรับรองการทําประโยชน์ว่าลักษณะของดินเหมาะแก่การทํานาปลูกข้าวซึ่งไม่เป็นความจริง พนักงานสอบสวนหน่วงเหนี่ยวการประกันตัวผู้ต้องหาให้ดําเนินไปอย่างเชื่องช้า เหล่านี้ถือเป็นความผิดตามมาตรา 157 แต่การที่เจ้าอาวาสทําการสอบสวนพระภิกษุซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัย โดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ระเบียบข้อบังคับและกฎของมหาเถรสมาคมยังไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

    องค์ประกอบภายใน
    เจตนา เจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นต้องมีเจตนาตามมาตรา 59
    เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เป็นมูลเหตุชักจูงใจในการกระทำ คือต้องกระทำโดยมุ่งหมายที่จะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ถ้าเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแต่มิได้กระทำเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157

    ความเสียหายในที่นี้ไม่จำกัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้นแต่รวมถึงความเสียหายทุกทางเช่น เสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพ เป็นต้น [หยุด แสงอุทัย - กฎหมายอาญาภาค 2-3 (หน้า 97)] และจะเป็นความเสียหายแก่ใครก็ได้ เช่น ตำรวจจับหญิงโสเภณี แล้วมอบหญิงเหล่านั้นให้พวกของตนไป โดยไม่ดําเนินคดีตามกฎหมาย เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทําให้เกิดความเสียหายแก่ราชการสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ทั้งไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจริงๆ เพียงแต่ได้กระทําไปโดยมีความมุ่งหมายเช่นนั้น ก็ผิดแล้ว เช่น เจ้าพนักงานได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจรับงาน ได้ลงชื่อตรวจรับงานว่าถูกต้อง ทั้งที่ไม่ได้ทํางานเลย และแม้ยังมิได้จ่ายเงินก็ผิดตามมาตรา 157 นี้




    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 01:57:37
    วันที่ปรับปรุง : วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 01:59:48


    ความผิดที่สอง : เรื่องการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

    ความผิดที่สองนี้แตกต่างกับความผิดแรกในเรื่องของการกระทําอันเป็นความผิด และมูลเหตุชักจูงใจกล่าวคือ เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็อาจเป็นความผิดได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทําโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทําโดยมิชอบด้วยหน้าที่เท่านั้น
    การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นความผิดต่อเมื่อมีมูลเหตุชักจูงใจโดยทุจริต คือ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยไม่คํานึงว่าจะทําให้ผู้อื่นเสียหายหรือไม่ เช่น เจ้าพนักงานซึ่งไม่มีหน้าที่รับเงิน พูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจํานวนที่ต้องเสีย แล้วเอาเงินส่วนเกินไว้เสียเอง เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เจ้าพนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะในการรังวัดแล้วมิได้นําเงินลงบัญชีทั้งมิได้ดําเนินเรื่องให้ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ผู้ใหญ่บ้านจดบัญชีสัตว์พาหนะเท็จตามคําขอร้องของลูกบ้านแม้จะไม่ได้รับสินจ้างรางวัลแต่ทําให้ลูกบ้านได้รับประโยชน์นําไปใช้อ้างกับตํารวจที่ยึดโคนั้นก็เป็นการแสวงหาประโยชน์สําหรับผู้อื่น ถือได้ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต พนักงานเทศบาลซึ่งมีหน้าที่เก็บเงินของเทศบาลลักใบเสร็จรับเงินค่ากระแสไฟฟ้าแล้วนําไปเก็บเงินค่ากระแสไฟฟ้าเป็นประโยชน์ส่วนตน เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอีกประการหนึ่ง



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

คำพิพากษาศาลฎีกา

แสดงความคิดเห็น

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 19:25:53
    ปรับปรุงล่าสุด : วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 19:25:53


    " โวหาร "

    ...จำเลยขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า แม้ร้อยตำรวจเอกชิดชัยและดาบตำรวจมงคล จะอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่และไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เพื่อจะโน้มน้าวให้ศาลเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองไม่มีสาเหตุหรือสิ่งจูงใจใด ๆ ที่จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยก็ตาม แต่ก็หาใช่ว่าจะปราศจากสิ่งจูงใจอื่นโดยสิ้นเชิง เพราะคดีนี้หากที่สุดศาลพิพากษาลงโทษจำเลย พยานโจทก์ทั้งสองก็จะมีผลงานได้รับการพิจารณาความดีความชอบจากผู้บังคับบัญชา และได้รับการยกย่องจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าสามารถเบิกความให้ศาลเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิด ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ ได้รับรางวัลสินบนนำจับและเงินรางวัลตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ. 2537 ( ซึ่งตอนนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมใน ปี พ.ศ. 2561 และจะมีผลใช้บังคับในเร็ว ๆ นี้ ) ทั้งยังเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์ทั้งสองจับกุมจำเลยโดยจำเลยไม่ได้กระทำความผิด เนื่องจากพยานโจทก์ทั้งสองอาจเกิดความเกรงกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ในภายหลัง ทั้งข้ออ้างที่ว่าพยานโจทก์ไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ก็ไม่แน่ว่าจะไม่แกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยเสมอไปไม่ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2555 จำเลยจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว.

    เครดิต ท่านชนบท ศุภศรี



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 1 Online
» 6 Today
» 124 Yesterday
» 891 Week
» 4498 Month
» 201430 Year
» 1452835 Total
Record: 10208 (10.06.2023)
Free PHP counter

ทบทวน สรุปย่อ สอบทนายความ ภาคทฤษฎี"
Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ

ทบทวน สรุปย่อ สอบทนายความ ภาคปฏิบัติ"