มาตรา 341 | ประมวลกฎหมายอาญา |

 

ประมวลกฎหมาย
อาญา
ภาค ๒ ความผิด

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมวด ๓ ความผิดฐานฉ้อโกง

หน้าก่อน

 

     มาตรา ๓๔๑  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๔๑  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๑ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา
ข้อสอบเก่าเนติบัณฑิต
คำอธิบาย

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 00:03:26
    วันที่ปรับปรุง : วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 00:03:26


    องค์ประกอบภายนอก
    1.หลอกลวงผู้อื่น
    1.1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
    1.2 ปกปิดข้อความซึ่งควรบอกให้แจ้ง
    2.โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
    2.1 ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
    2.2 ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือ ทำลายเอกสารสิทธิ
    องค์ประกอบภายใน
    1.เจตนา
    2.โดยทุจริต



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 00:09:55
    วันที่ปรับปรุง : วันพุธที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 00:10:20


    ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีลักษณะความรุนแรงและกระทบกระเทือนสังคมน้อยกว่าความผิดประเภทลักทรัพย์และกรรโชก ความผิดฐานฉ้อโกงมักเกี่ยวพันกับนิติสัมพันธ์ทางแพ่งซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างเอกชน


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 04:01:31
    วันที่ปรับปรุง : วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 21:58:51


    หลอกลวง เอาทรัพย์สินของผู้อื่น การหลอกลวงอาจทำโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความซึ่งควรบอกให้แจ้งก็ได้

    หลอกลวงผู้อื่น : ผู้กระทำความผิดหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง มิใช่เพียงแต่ถือเอาประโยชน์จากความหลงผิดของผู้อื่นซึ่งตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้น (จิตติ ติงศภัทิย์)

    ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ : การหลอกลวงจะต้องเกิดจากการกระทำของผู้หลอก (ฎ. 1890/2547 และ ฎ. 2902/2547) โดยการแสดงข้อความเท็จนั้นอาจทำได้โดยวาจา ลายลักษณ์อักษร การแสดงกิริยาท่าทาง หรือรูปแบบอื่นๆ เช่น
    - ลงลายมือชื่อปลอมเป็นผู้อื่นเพื่อรับธนาณัติ (ฎ. 384/2459)
    - แต่งเครื่องแบบเป็นนักศึกษาและแสดงตนเป็นนักศึกษาเพื่อซื้อของในร้านที่ขายเฉพาะนักศึกษา (Rollin M. Perkin. Criminal Law. Brooklyn: The Foundation Press, 1957, p.253.)
    - ใช้ธนบัตรปลอมซื้อของ (ฎ. 422-423/2479)
    - ออกเช็คของผู้อื่น หรือของตนเองโดยไม่มีเงินในธนาคาร (ฎ. 1014/2505 และ ฎ. 884/2512)
    - นำชี้ที่ดินแปลงของผู้อื่นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นที่ดินของตนที่ประสงค์จะขายฝากแก่ผู้เสียหายทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ (ฎ. 504-505/2543 และ ฎ. 1866/2543)
    - จ่ายผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่ผู้เสียหายในครั้งแรกๆ (ฎ. 1301/2547)

    ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง : การหลอกลวงนอกจากจะโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแล้วอาจกระทำโดยการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรบอกให้แจ้งก็ได้ การปกปิดข้อเท็จจริงอาจเป็นการกระทำ เช่น ลบรอยชำรุดในของที่ขายไม่ให้มองเห็นหรือลบข้อความบางตอนในเอกสาร หรืออาจเป็นการงดเว้นไม่ยอมบอกข้อเท็จจริงซึ่งตนมีหน้าที่ต้องบอกตามมาตรา 59 วรรคท้ายก็ได้ แต่ถ้าไม่มีหน้าที่แจ้งข้อความให้ทราบแม้ไม่บอก ก็ไม่ถือว่าเป็นการปกปิด (สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล)

    โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สิน : ผลของการหลอกลวง คือ การได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คำว่า "ได้ไป" มีความหมายต่างจาการ "เอาไป" ในความผิดฐานลักทรัพย์ การเอาไปจะต้องมีการแย่งการครอบครอง คือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ส่งมอบทรัพย์ให้ แต่ผู้กระทำผิดเข้าถือเอาโดยพลการ หรือผู้กระทำผิดได้รับมอบทรัพย์จากผู้ที่มิได้มีสิทธิครอบครองมีเพียงแต่การยึดถือเท่านั้น ส่วนการได้ไปในความผิดฐานฉ้อโกงนั้น จะต้องเป็นการได้การครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จากผู้ครอบครองหรือเจ้าของหรือบุคคลที่สาม ดังนั้น การได้ไปจึงไม่มีการแย่งการครอบครอง หากแต่ผู้ครอบครองส่งมอบการครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ให้โดยถูกหลอกลวง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ความผิดฐานฉ้อโกงต่างจากลักทรัพย์

    ทรัพย์สิน : มีความหมายกว้างกว่า คำว่า ทรัพย์ ในความผิดฐานลักทรัพย์ จึงหมายความรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่าง เช่น ทรัพยสิทธิต่างๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นการหลอกเอาสิ่งที่ผู้หลอกลวงมีสิทธิจะได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ย่อมไม่เป็นฉ้อโกง

    จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม : การได้ทรัพย์สินไปในความผิดฐานฉ้อโกงนั้น อาจได้ไปจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามก็ได้ หมายความว่า ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินอาจเป็นผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามก็ได้ กล่าวคือ หากผู้ถูกหลอกลวงเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ส่งมอบ ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินก็คือผู้ถูกหลอกลวง แต่หากผู้ถูกหลอกลวงครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วส่งมอบทรัพย์สินให้ไปเพราะถูกหลอกลวง ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สิน คือ เจ้าของทรัพย์สินซึ่งเป็นบุคคลที่สาม

    ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ : หลอกลวงจนทำให้ผู้ถูกหลอกหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ กล่าวคือ เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

    เจตนา ต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 โดยต้องมีเจตนาหลอกลวง และต้องรู้ว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือมีเจตนาปกปิดข้อความจริง

    โดยทุจริต สำหรับองค์ประกอบภายในของความผิดฐานฉ้อโกงนี้ นอกจากจะต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 แล้วผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษด้วย กล่าวคือ ผู้กระทำต้องมีเจตนาโดยทุจริตตามมาตรา 1 (1) "โดยทุจริต" หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับ โดยทุจริต ในความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้กระทำจะต้องทุจริตขณะหลอกลวง ไม่ใช่ทุจริตในภายหลัง (ฎ. 7451/2549)



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

คำพิพากษาศาลฎีกา

แสดงความคิดเห็น

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 21:34:49
    ปรับปรุงล่าสุด : วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 21:34:49


    "ฉ้อโกง เป็นคดีอันยอมความได้"
    การเริ่มต้นคดี ผู้เสียหายอาจไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือจะแต่งตั้งทนายความเพื่อนำคดีไปฟ้องเองต่อศาลก็ได้

    อาญา-มาตรา-341



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 1 Online
» 5 Today
» 124 Yesterday
» 890 Week
» 4497 Month
» 201429 Year
» 1452834 Total
Record: 10208 (10.06.2023)
Free PHP counter

ทบทวน สรุปย่อ สอบทนายความ ภาคทฤษฎี"
Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ

ทบทวน สรุปย่อ สอบทนายความ ภาคปฏิบัติ"