นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 05:04:07
ปรับปรุงล่าสุด : วันเสาร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 05:04:07
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา ๓๔๑
ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มาตรา ๓๔๓
ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔๒ อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 5302 / 2562ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341, 343 และขอให้จำเลยชดใช้เงินให้โจทก์ 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3 แสนบาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
ก่อนสืบพยาน จำเลยให้การรับสารภาพ โดยไม่ได้ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ปอ. มาตรา 343 วรรคแรกประกอบมาตรา 341 ให้จำเลยคืนเงิน 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน -- รับอุทธรณ์เฉพาะประเด็นขอให้รอการลงโทษ แล้วพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
#ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 โดยบรรยายฟ้องกล่าวถึงพฤติการณ์กระทำความผิดของจำเลยว่าจำเลยหลอกลวงประชาชนหลายคน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ว่าจำเลยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สามารถสมัครบุคคลเข้าทำงาน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามตำแหน่งหน้าที่ที่สอบเข้าและสอบเป็นพิธี โจทก์หลงเชื่อว่าเป็นความจริงยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลย 3 แสนบาท ความจริงแล้วจำเลยไม่ใช่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่จะฝากบุคคลเข้าทำงานและแต่งตั้งเป็นข้าราชการได้แต่ประการใด
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์มาเบิกความเป็นพยานว่า มีนาย ก. เป็นผู้มาเล่าให้ฟังว่าราชการเปิดสอบบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ และอ้างว่าจำเลยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สามารถฝากผู้เข้าสอบทำงานได้โดยคิดค่าใช้จ่าย โจทก์จึงไปพบจำเลยที่บ้าน จำเลยรับรองว่า หากโจทก์สอบไม่ได้จะคืนเงินให้ โจทก์จึงโอนเงินเข้าบัญชีจำเลย
#ปัญหาข้อกฎหมายในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 การที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาหรือเป็นเพียงการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
ปัญหาดังกล่าวย่อมสามารถวินิจฉัยได้จากพยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าว แม้ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีโจทก์มีมูลความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและต่อมาจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหานี้แล้วก็ตาม
***กรณีก็ยังต้องถือว่าพฤติการณ์ของจำเลยอันเป็นมูลความผิดดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาได้ถูกหยิบยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยจึงมีสิทธิในอันจะยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งได้ว่าพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยซึ่งได้ความจากการไต่สวนมูลฟ้องของศาลชั้นต้นไม่ถือว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชน หากเป็นเพียงการฉ้อโกงธรรมดาเท่านั้น
การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว โดยอ้างว่าขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้วเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก
------------
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำอันจะเป็นการฉ้อโกงประชาชน ลักษณะของการหลอกลวงที่แสดงออกด้วยความเท็จนั้น ประการสำคัญจะต้องมีเจตนากระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าทำด้วยประการใดโดยมุ่งหมายให้แพร่หลายทั่วไปในหมู่ประชาชน แม้กระทั่งเป็นการบอกต่อๆกันไปปากต่อปากก็ตาม
แต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์รับฟังจากนาย ก. แนะนำว่าจำเลยสามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยแสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวในพฤติการณ์อย่างไร หรือ นาย ก. ร่วมมือกับจำเลยโดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลายอย่างไร
ฉะนั้น ***การที่ได้ความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพียงว่า โจทก์ได้รับคำแนะนำจากนาย ก. แล้วจึงไปพบจำเลยที่บ้าน เพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์เข้ารับราชการโดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยเรียกร้อง เห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่จำเลยหลอกลวงโจทก์เป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่
แม้จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูล
แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนมูลฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งโจทก์มีคำขอให้ลงโทษมาด้วย ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ โดยยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225
------------
เมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์จึงต้องร้องทุกข์หรือฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
โจทก์ฟ้องจำเลยล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่กฎหมายบัญญัติ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามที่จำเลยต่อสู้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
-----------
อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยและมีคำขอให้จำเลยชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดในคดีนี้ด้วย คำขอในส่วนแพ่งจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ซึ่งการพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาตรา 46
เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์จริง เพียงแต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์หรือฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีจึงขาดอายุความนั้น เป็นการขาดอายุความเฉพาะที่จะดำเนินคดีอาญาต่อจำเลย
แต่ในคดีส่วนแพ่งนั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่มีข้อต่อสู้ใดๆ เท่ากับรับว่าฉ้อโกงโจทก์ และไม่โต้แย้งว่ามีหนี้ที่ต้องชดใช้เงินคืนแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดนั้นอยู่จริง
เมื่อจำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29
คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง
เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียหายตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งสามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ตามมาตรา 2 (14) โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยถึงอ่างว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สามารถฝากบุคคลเข้าทำงานได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามตำแหน่งที่สอบและเข้าสอบเป็นพิธีซึ่งเป็นความเท็จ เงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยไปจึงไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานอื่นกระทำการใดๆ เพื่อช่วยเหลือโจทก์โดยมิชอบ
แต่มีลักษณะเป็นสินน้ำใจที่สมนาคุณแก่จำเลยที่ช่วยเหลือทำให้โจทก์สามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่จำเลยหลอกลวง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในคดีส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินที่ฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์.
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 17:09:22
ปรับปรุงล่าสุด : วันอังคารที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 17:09:22
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา ๓๔๑
ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 664 / 2566จำเลยที่ ๑ กู้เงินจากโจทก์ร่วมโดยมอบใบแทนโฉนดที่ดินให้ไว้เป็นหลักประกันการกู้เงิน แต่ใช้หรือแสดงหนังสือรับรองที่ดินที่เป็นเอกสารราชการปลอมต่อโจทก์ร่วมโดยยืนยันว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองดังกล่าวและมอบหนังสือรับรองปลอมดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมเพื่อประกอบการกู้เงินจากโจทก์ร่วม ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมให้จำเลยกู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยนั้น เห็นว่าโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ หากแต่ฟ้องในข้อหาฉ้อโกงซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้ถูกหลอกลวงโดยมิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่จะทำให้โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง มีอำนาจร้องทุกข์การสอบสวนจึงชอบ และโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) "ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง..." ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง จึงได้แก่ "ผู้ที่ถูกหลอกลวง" หลักกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง หากผู้ถูกหลอกลวงดังกล่าวเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย" กล่าวคือ เป็นผู้ที่ไม่มีส่วนในการกระทำความผิด หรือต้องไม่รู้เห็นยินยอมในการกระทำความผิด หรือต้องไม่กระทำการที่มีวัตถุประสงค์อันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ ทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และส่งผลให้โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ หรืออาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๐
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!