มาตรา 138 | ประมวลกฎหมายอาญา |

 

ประมวลกฎหมาย
อาญา
ภาค ๒ ความผิด

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

หน้าก่อน

 

     มาตรา ๑๓๘  ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือ ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๑๓๘  แก้ไขโดย มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๓ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา
ข้อสอบเก่าเนติบัณฑิต
คำอธิบาย

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 18:55:32
    วันที่ปรับปรุง : วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 00:28:46


    วรรคแรก ถือเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
    วรรคท้าย เป็นเหตุที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น

    องค์ประกอบภายนอก
    1. ต่อสู้หรือขัดขวาง
    2. เจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่

    องค์ประกอบภายใน
    เจตนา

    ต่อสู้ หมายถึง การกระทำใดๆ อันเป็นการขัดขืนหรือโต้แย้งอำนาจของเจ้าพนักงาน แต่ไม่ถึงกับลงไม้ลงมือกับเจ้าพนักงาน เช่น ตำรวจเข้าจับกุม ก็สะบัดหรือดิ้น ไม่ยอมให้จับแต่ไม่ชกหรือทำร้ายตำรวจ การต่อสู้จะต้องไม่ถึงกับทำร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพราะถ้าใช้กำลังประทุษร้ายก็เป็นความผิดตามวรรคท้ายไป แต่ต้องเป็นการกระทำที่แสดงออกมา ไม่ใช่นิ่งเฉยๆ เช่น ตำรวจจับกุมจะพาไปสถานีตำรวจ แต่ไม่ยอมไป นั่งเฉยหรือนอนเสีย ตำรวจต้องยกใส่รถพาไป อย่างนี้ไม่ใช่การต่อสู้ เพราะมิได้กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขืนอำนาจของตำรวจ

    ขัดขวาง หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดอุปสรรคหรือความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน แต่ไม่ถึงกับขัดขืนไม่ให้บรรลุผลเสียทีเดียวเพียงทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานลำบากขึ้น [จิตติ ติงศภัทิย์ - คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอนที่ 1 พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพมหานคร บพิธการพิมพ์ 2523 หน้า1272] เช่น ตำรวจไล่จับ พอตนเองวิ่งข้ามสะพานไปแล้ว ก็ดึงไม้กระดานทอดสะพานออกไม่ให้ตำรวจข้าม หรือยิงปืนขึ้นฟ้าขู่มิให้ไล่จับกุมต่อไป [นัย ฎ.243/2509] ถือเป็นการขัดขวางเจ้าหน้าที่ การขัดขวางนี้ อาจเป็นการกระทำของผู้อื่นที่สอดแทรกเข้ามาก็ได้ เช่น ตำรวจไล่จับแดง เขียวกั้นกลางมิให้ตำรวจจับแดงได้ หรือเขียวดึงสะพานออกไม่ให้ตำรวจข้าม เป็นต้น

    เจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่

    เจ้าพนักงาน หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ [บทนิยาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(16)]

    ส่วนผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หมายถึง ต้องมีกฎหมายบัญญัติให้บุคคลนั้นๆ มีหน้าที่ต้องช่วยเจ้าพนักงาน เช่น สารวัตรกำนัน ซึ่งเป็นผู้ช่วยกำนัน กฎหมายบัญญัติให้มีหน้าที่ต้องช่วยกำนัน ฉะนั้นถ้าสารวัตรกำนันเข้าทำการจับกุมหากผู้ถูกจับกุม ต่อสู้ขัดขวางสารวัตรกำนันก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย [ฎ. 1037/2503] หากไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีหน้าที่ต้องช่วยเจ้าพนักงาน แต่เป็นการเข้าช่วยเจ้าพนักงานโดยสมัครใจเอง ก็มิใช่ผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เช่น ตำรวจขอแรงนายดี ราษฎรให้ช่วยติดตาม นายขัน คนร้ายชิงทรัพย์ เมื่อตามไปทันนายดี ลงจากรถวิ่งไล่ในขัน ถือว่านายดี เข้าช่วยเจ้าพนักงานโดยสมัครใจเอง ถ้านายขันต่อสู้ขัดขวางมิให้นายดี จับกุมตัวนายขันไม่ผิดฐานต่อสู้ขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เพราะในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ราษฎรมีหน้าที่ต้องช่วยเจ้าพนักงานแต่อย่างใด

    การต่อสู้หรือขัดขวางอันจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือต่อสู้ขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็ต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย

    แต่หากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการต่อสู้ขัดขวางก็ไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

    เจตนา การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงาน ตามกฎหมาย ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนา และจะต้องรู้ด้วยว่าผู้ที่ตนต่อสู้ขัดขวางนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายหากผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงนี้ ก็ไม่ถือว่ามีเจตนา

    วรรคท้าย เป็นลักษณะฉกรรจ์ของการกระทำความผิดในวรรคแรก กล่าวคือ ถ้าการต่อสู้ขัดขวางนั้นได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ต้องรับโทษหนักขึ้น

    ใช้กำลังประทุษร้าย หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา [ฎ. 3269/2531] (ดู เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ และทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ รวมหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกากฎหมายอาญาของ ศาสตร์ตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2540 หน้า 92-93) สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน [บทนิยาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6)] คำๆ นี้มีความหมายมากกว่าการทำร้าย การกระทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็อยู่ในความหมายของการใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว เช่น กอด จับ ผลัก ดึง ข่วน หยิก เป็นต้น คือไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย แต่การทำร้ายก็อยู่ในความหมายของ ประทุษร้ายเหมือนกัน และถ้าต่อสู้ขัดขวางถึงขั้นทำร้ายก็ย่อมผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานอีกส่วนหนึ่งด้วย กฎหมายถือเป็นเหตุฉกรรจ์ไม่เฉพาะการใช้กำลังประทุษร้ายเท่านั้น แม้เพียงขู่เข็ญจะใช้กำลังประทุษร้ายก็เป็นเหตุฉกรรจ์แล้วเหมือนกัน




    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

คำพิพากษาศาลฎีกา

แสดงความคิดเห็น

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 02:04:11
    ปรับปรุงล่าสุด : วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 02:06:21


    หากคนร้ายต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานชุดจับกุม เจ้าพนักงานชุดจับกุมทุกคนเป็นผู้เสียหายในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 มิใช่เฉพาะเจ้าพนักงานชุดจับกุมคนใดคนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2561



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 2 Online
» 4 Today
» 124 Yesterday
» 889 Week
» 4496 Month
» 201428 Year
» 1452833 Total
Record: 10208 (10.06.2023)
Free PHP counter

ทบทวน สรุปย่อ สอบทนายความ ภาคทฤษฎี"
Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ

ทบทวน สรุปย่อ สอบทนายความ ภาคปฏิบัติ"