นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 01:25:46
ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 01:38:27
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 มาตรา ๓๒
ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 มาตรา ๘๐
ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา ๘๓
ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มาตรา ๒๙๕
ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 มาตรา ๓๓๕
ผู้ใดลักทรัพย์
(๑) ในเวลากลางคืน
(๒) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ
(๓) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ
(๔) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
(๕) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
(๖) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(๗) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(๘) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้นๆ
(๙) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถ หรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ
(๑๐) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
(๑๑) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
(๑๒) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไปผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ก็ได้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 มาตรา ๓๔๐
ผู้ใดชิงทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าในการปล้นทรัพย์ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใด มีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบสองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดยแสดงความทารุณจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ใช้ปืนยิง ใช้วัตถุระเบิด หรือกระทำทรมาน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
ถ้าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มาตรา ๓๔๐ ตรี
ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๓๙ มาตรา ๓๓๙ ทวิ มาตรา ๓๔๐ หรือมาตรา ๓๔๐ ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจหรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มาตรา ๓๗๑
ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย หรือโดยไม่มีเหตุสมควร หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริงหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 375 / 2533คำพิพากษาย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกอีก 2 คนเข้าไปในบ้านและพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหาย แล้วพวกของจำเลยดังกล่าวได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายเพื่อสะดวกในการลักทรัพย์ หรือพาทรัพย์ไปแต่ไม่สามารถพาทรัพย์นั้นไปได้ เพราะมีผู้มาพบเห็นเสียก่อน ดังนี้การที่พวกของจำเลยที่ 1 ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายดังกล่าว จึงมิได้นอกเหนือความมุ่งหมายหรือเจตนาของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก 80.
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,340 ตรี, 295, 371, 83, 91, 32 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม2519 ข้อ 3, 6, 7 และสั่งริบกระสุนปืนของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1) (7) (8), 83, 80 จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปีข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกริบกระสุนปืนของกลาง ยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 80 จำคุก 8 ปีจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามมาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังตามที่โจทก์นำสืบได้ว่า วันเกิดเหตุ นางหนูแดงภรรยาของผู้เสียหายยืนอยู่ชั้นบนมองลงไปเห็นจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ที่ประตูเข้าบ้าน เมื่อลงมาชั้นล่างเห็นคนร้ายอีก 2 คน และเห็นผู้เสียหายมีบาดแผลที่ใบหน้า คนร้าย 2 คน จะเอาเครื่องวีดีโอเพราะมีผ้าขาวม้าสอดอยู่ข้างใต้ นางหนูแดงร้องขอความช่วยเหลือ จำเลยที่ 1กับคนร้ายอีก 2 คน วิ่งหนีภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1ได้ที่ตึกสร้างใหม่ จำเลยที่ 1 รับว่าร่วมกับพวกปล้นทรัพย์บ้านผู้เสียหายและได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยที่ 2 ได้ที่จังหวัดราชบุรี จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ มีปัญหาตามที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ร่วมทำความผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์จริงหรือไม่โจทก์มีพยาน คือ ร้อยตำรวจตรีสมบูรณ์ สมทรง ผู้จับกุมจำเลยที่ 1เบิกความว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2530 เวลา 1.30 นาฬิกา พยานกับพวกได้ออกตรวจท้องที่ เมื่อไปถึงปากซอย 10 หมู่บ้านเศรษฐกิจได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากบ้านเลขที่56 พยานกับพวกได้ไปที่บ้านดังกล่าวพบผู้เสียหายอยู่ในอาการตกใจและมีบาดแผลที่ใบหน้า สอบถามได้ความว่ามีคนร้าย 3 คน เข้าไปในบ้านเพื่อจะเอาเครื่องวีดีโอผู้เสียหายต่อสู้ คนร้ายหลบหนีไปได้สอบถามชาวบ้านแล้วทราบว่าคนร้ายหนีไปอยู่ในตึกสร้างใหม่บริเวณปากซอย พยานกับพวกตามไปจับจำเลยที่ 1 ได้ เมื่อแจ้งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกปล้นทรัพย์ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพดังนี้จะเห็นได้ว่าร้อยตำรวจตรีสมบูรณ์เบิกความสอดคล้องกับคำเบิกความของนางหนูแดงภรรยาผู้เสียหาย เพราะนางหนูแดงเมื่อได้ยินเสียงผู้เสียหายร้องจึงลุกขึ้นและเปิดหน้าต่างมองลงไปเห็นจำเลยที่ 1ยืนอยู่ที่หน้าประตูบ้าน เพราะมีแสงไฟนีออนติดอยู่ที่รั้วบ้านห่างจากประตูบ้านประมาณ 3-4 เมตร ปรากฏตามแผนที่สังเขปแสดงบริเวณที่เกิดเหตุแม้นางหนูแดงเบิกความตอบคำถามค้านว่า จำเลยที่ 1 นั่งบังรถกระบะที่จอดอยู่ และไฟประตูรั้วไม่สว่างนัก แต่นางหนูแดงยืนยันว่าเห็นและจำได้แน่ว่าเป็นจำเลยที่ 1 เพราะนางหนูแดงเคยรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เคยเป็นลูกจ้างของบุตรชายของตนมาประมาณ 5 เดือน ได้ออกไปก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 ปีเมื่อเกิดเหตุแล้วร้อยตำรวจตรีสมบูรณ์จับจำเลยที่ 1 ได้หลังเกิดเหตุเล็กน้อยในขณะที่จำเลยที่ 1 ซ่อนตัวอยู่ในตึกสร้างใหม่บริเวณปากซอย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกเข้ามาในบ้านผู้เสียหายเพื่อลักเครื่องวีดีโอ เมื่อนางหนูแดงร้องขึ้น จำเลยที่ 1กับพวกหลบหนี ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าไม่ได้เข้าไปในบ้านผู้เสียหายนั้น ไม่น่าเชื่อ เพราะนางหนูแดงรู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อนร้อยตำรวจตรีสมบูรณ์ผู้จับจำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 เพื่อให้ได้รับโทษ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้เสียหายป่วยเป็นโรคประสาท พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง และความจำเสื่อม จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะจำได้นั้น เห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะเบิกความไม่รู้เรื่องบ้างก็ตาม แต่ผู้เสียหายยืนยันว่าถูกคนร้ายทำร้ายได้รับบาดเจ็บซึ่งตรงกับที่นางหนูแดงเบิกความว่า เมื่อลงมาเห็นผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้าและเห็นคนร้าย 2 คนอยู่ในห้องเดียวกับผู้เสียหาย เมื่อนางหนูแดงร้องขอความช่วยเหลือคนร้าย 2 คน และจำเลยที่ 1 จึงหนีไปด้วยกันจึงเชื่อได้ว่าคนร้าย 2 คนนั้นได้ทำร้ายผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บ ปรากฏตามรายงานการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) (8), 83, 80 เท่านั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับคนร้ายอีก 2 คน มีเจตนาเข้าไปในบ้านและพยายามลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปนั้น คนร้ายที่เข้าไปในบ้านได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายจนได้รับอันตรายแก่กายก็เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป แต่ไม่สามารถพาทรัพย์นั้นไปได้เพราะมีผู้มาพบเห็นเสียก่อน ดังนั้นการที่พวกของจำเลยที่ 1 ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อจะลักทรัพย์ไปนั้นไม่อยู่นอกเหนือความมุ่งหมายหรือเจตนาของจำเลยที่ 1แต่อย่างไร การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคแรก, 80..."
พิพากษายืน
ผู้พิพากษา
อุไร คังคะเกตุ
ประวิทย์ ขัมภรัตน์
สุวิทย์ ธีรพงษ์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!