นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:57:15
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:58:56
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา ๑๔๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 163 มาตรา ๑๖๓
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ในการไปรษณีย์ โทรเลขหรือโทรศัพท์ กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เปิด หรือยอมให้ผู้อื่นเปิด จดหมายหรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรเลข
(๒) ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้สูญหาย หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้เสียหาย ทำลายหรือทำให้สูญหาย ซึ่งจดหมายหรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรเลข
(๓) กัก ส่งให้ผิดทาง หรือส่งให้แก่บุคคลซึ่งรู้ว่ามิใช่เป็นผู้ควรรับ ซึ่งจดหมายหรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรเลข หรือ
(๔) เปิดเผยข้อความที่ส่งทางไปรษณีย์ ทางโทรเลขหรือทางโทรศัพท์
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2395 / 2527คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขอำเภอฝางและเป็นพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้รับเอาเงินค่าธรรมเนียมฝากส่งจดหมายแต่ละวันเป็นเวลา 7 วัน รวม 7 ครั้งไว้โดยมิได้ปิดตราไปรษณียากรที่ซองจดหมายหรือมิได้จ่ายตราไปรษณียากรให้ผู้ฝากปิดเองตามระเบียบ แล้วเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมและกักจดหมายดังกล่าวแต่ละวันไว้ เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยยักยอกเอาเงินดังกล่าวแต่ละครั้งแต่ละวันไปอันเป็นความผิดหลายกรรมรวม 7 กรรม เมื่อพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 15 บัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จะปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 หาได้ไม่ และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 147 แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา 157 อีก
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้บังอาจกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2525 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2525 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บังอาจกระทำการยักยอกทรัพย์เบียดบังเอาเงินและทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแลรักษารับผิดชอบของจำเลยไปเป็นประโยชน์โดยจำเลยได้รับฝากไปรษณีย์ประเภทจดหมายลงทะเบียนจากผู้ฝากถึงผู้ส่งพร้อมเรียกเงินค่าธรรมเนียมในการฝากส่งแล้วเก็บรักษาไว้ในความครอบครองตามหน้าที่ของจำเลย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย5 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 89 บาท 40 สตางค์ วันที่ 7 มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย 1 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 19 บาท 50 สตางค์ วันที่ 9 มีนาคม 2525รับฝากจดหมาย 5 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 106 บาท 90 สตางค์ วันที่ 12 มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย 2 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 34 บาท วันที่ 15 มีนาคม 2525รับฝากจดหมาย 6 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 138 บาท 50 สตางค์ วันที่ 16 มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย 1 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 28 บาท 50 สตางค์ วันที่ 19มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย 2 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 57 บาท 80 สตางค์รวมเป็นจดหมาย 22 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 374 บาท 60 สตางค์แล้วจำเลยเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปโดนทุจริต
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2525 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2525 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยได้บังอาจกักจดหมายที่มีผู้ฝากส่งทางไปรษณีย์ดังกล่าวมาแล้ว 32 ฉบับ เหตุเกิดที่ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 163, 91 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4, 11 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน374 บาท 60 สตางค์ ให้แก่การสื่งสารแห่งประเทศไทย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิม ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 163, 91 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11 ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่ายงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 เรียงกระทงความผิดกระทงละ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 7 กระทง จำคุก 35 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 23 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 374 บาท 60 สตางค์ แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทย
จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยมีความผิดเพียงกรรมเดียวและไม่สมควรที่จะรอการลงโทษ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยไว้ 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยแต่ละกรรมรวม 7 กรรม ตามฟ้องของโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงไว้ว่า จำเลยรับเงินค่าธรรมเนียมฝากส่งจดหมายแต่ละวันเป็นเวลา 7 วัน รวม 7 ครั้งไว้โดยมิได้ปิดตราไปรษณียากรที่ซองจดหมาย และการปิดตราไปรษณียากรดังกล่าวได้ความว่าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบคือจ่ายตราไปรษณียากรให้ผู้ฝากปิดเองศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยรับเงินค่าธรรมเนียมการฝากส่งจดหมายแต่ละครั้งรวม 7 ครั้ง ไว้โดยมิได้ปิดตราไปรษณียากร แล้วเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมและกักจดหมายดังกล่าวแต่ละวันไว้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยยักยอกเอาเงินดังกล่าวแต่ละครั้งแต่ละวันไปอันเป็นความผิดหลายกรรมรวม 7 กรรม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่จำเลยเป็นพนักงานของการสื่งสารแห่งประเทศไทยซึ่งตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 มาตรา 15 บัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จะปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ดังที่ศาลล่าวทั้งสองพิพากษาหาได้ไม่และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 147 แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา 157 อีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 163, 91 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เรียงกระทงความผิดกระทงละ 5 ปี รวม 7 กระทง จำคุก 35 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 23 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
ม.ร.ว.ชัยวัฒน์ ชมพูนุท
นิยม ติวุตานนท์
ศักดิ์ สนองชาติ
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:05:24
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:06:54
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา ๙๐
เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา ๑๔๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 มาตรา ๑๕๘
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสียหาย ทำลายซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2175 / 2529คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีคำสั่งกองกำกับการตำรวจภูธรที่จำเลยสังกัดกำหนดให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างซ่อมแซมสถานที่ราชการและมีหน้าที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างเขียนใบเสร็จรับเงินเสนอรองผู้กำกับการตำรวจภูธรต้นสังกัดลงชื่อเป็นผู้รับเงินและนำเงินที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างได้ส่งมอบแก่สมุห์บัญชีกองกำกับการฯเพื่อส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไปจำเลยมิได้นำเงินที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างได้จำนวน 7,600 บาทส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามระเบียบจนพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบและแนะนำให้จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งคลังจำเลยจึงปฏิบัติตามพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริตเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157,158 แต่เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของมาตรา 157 แล้วการกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157,158
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 157,158 แต่การกระทำของจำเมาตรา 147,157,158 แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 5 ปี จำเลยชดใช้เงินคืนแล้วเป็นการบรรเทาผลร้ายเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย ที่ 72/2523โดยเฉพาะข้อ 9.9 กำหนดให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ตลอดจนการซ่อมแซมสถานที่ราชการ และผู้บังคับบัญชามอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้าง ตลอดจนเป็นผู้เขียนใบเสร็จรับเงินนำเสนอรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลยลงชื่อเป็นผู้รับเงินและนำเงินที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างนั้นส่งมอบแก่สมุห์บัญชีกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย เพื่อส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไปด้วย ต่อมาพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบว่าเงินค่าจำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างรวมเป็นเงิน 7,600 บาทจำเลยยังมิได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามระเบียบของทางราชการพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต เมื่อพนักงานตรวจเงินแผ่นดินแนะนำให้จำเลยนำเงินส่งคลัง จำเลยก็จัดการนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งคืนเป็นรายได้ของแผ่นดินในภายหลัง ที่จำเลยฎีกาอ้างเป็นข้อกฎหมายว่า จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างและรับเงินค่าจำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน และการที่จำเลยไม่นำเงินค่าจำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินก็เพราะหาใบเสร็จรับเงินไม่พบ จำเลยจึงเก็บเงินนั้น เมื่อพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบและแนะนำให้จำเลยเอาเงินส่งคลัง จำเลยก็ได้จัดการนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินจนครบ จำเลยมิได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและไม่มีเจตนาเบียดบังทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของจำเลยล้วนเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาทั้งสิ้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับลงโทษจำเลยว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157,158 ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นทั่วไปอีก ปัญหาเรื่องการปรับบทมาตราลงโทษจำเลยนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
ไพจิตร วิเศษโกสิน
อาจ ปัญญาดิลก
ดำรง สายเชื้อ
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!