นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:57:15
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:58:56
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา ๑๔๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 163 มาตรา ๑๖๓
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ในการไปรษณีย์ โทรเลขหรือโทรศัพท์ กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เปิด หรือยอมให้ผู้อื่นเปิด จดหมายหรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรเลข
(๒) ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้สูญหาย หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้เสียหาย ทำลายหรือทำให้สูญหาย ซึ่งจดหมายหรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรเลข
(๓) กัก ส่งให้ผิดทาง หรือส่งให้แก่บุคคลซึ่งรู้ว่ามิใช่เป็นผู้ควรรับ ซึ่งจดหมายหรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์หรือโทรเลข หรือ
(๔) เปิดเผยข้อความที่ส่งทางไปรษณีย์ ทางโทรเลขหรือทางโทรศัพท์
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2395 / 2527คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขอำเภอฝางและเป็นพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้รับเอาเงินค่าธรรมเนียมฝากส่งจดหมายแต่ละวันเป็นเวลา 7 วัน รวม 7 ครั้งไว้โดยมิได้ปิดตราไปรษณียากรที่ซองจดหมายหรือมิได้จ่ายตราไปรษณียากรให้ผู้ฝากปิดเองตามระเบียบ แล้วเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมและกักจดหมายดังกล่าวแต่ละวันไว้ เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยยักยอกเอาเงินดังกล่าวแต่ละครั้งแต่ละวันไปอันเป็นความผิดหลายกรรมรวม 7 กรรม เมื่อพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 มาตรา 15 บัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จะปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 หาได้ไม่ และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 147 แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา 157 อีก
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งนายไปรษณีย์โทรเลขอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้บังอาจกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2525 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2525 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้บังอาจกระทำการยักยอกทรัพย์เบียดบังเอาเงินและทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแลรักษารับผิดชอบของจำเลยไปเป็นประโยชน์โดยจำเลยได้รับฝากไปรษณีย์ประเภทจดหมายลงทะเบียนจากผู้ฝากถึงผู้ส่งพร้อมเรียกเงินค่าธรรมเนียมในการฝากส่งแล้วเก็บรักษาไว้ในความครอบครองตามหน้าที่ของจำเลย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย5 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 89 บาท 40 สตางค์ วันที่ 7 มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย 1 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 19 บาท 50 สตางค์ วันที่ 9 มีนาคม 2525รับฝากจดหมาย 5 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 106 บาท 90 สตางค์ วันที่ 12 มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย 2 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 34 บาท วันที่ 15 มีนาคม 2525รับฝากจดหมาย 6 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 138 บาท 50 สตางค์ วันที่ 16 มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย 1 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 28 บาท 50 สตางค์ วันที่ 19มีนาคม 2525 รับฝากจดหมาย 2 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 57 บาท 80 สตางค์รวมเป็นจดหมาย 22 ฉบับ ค่าธรรมเนียม 374 บาท 60 สตางค์แล้วจำเลยเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปโดนทุจริต
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2525 ถึงวันที่ 5 เมษายน 2525 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยได้บังอาจกักจดหมายที่มีผู้ฝากส่งทางไปรษณีย์ดังกล่าวมาแล้ว 32 ฉบับ เหตุเกิดที่ตำบลเวียง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 163, 91 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4, 11 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน374 บาท 60 สตางค์ ให้แก่การสื่งสารแห่งประเทศไทย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยแถลงขอถอนคำให้การเดิม ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 163, 91 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 4, 11 ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่ายงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 เรียงกระทงความผิดกระทงละ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 7 กระทง จำคุก 35 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 23 ปี 4 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 374 บาท 60 สตางค์ แก่การสื่อสารแห่งประเทศไทย
จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยมีความผิดเพียงกรรมเดียวและไม่สมควรที่จะรอการลงโทษ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยไว้ 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยแต่ละกรรมรวม 7 กรรม ตามฟ้องของโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงไว้ว่า จำเลยรับเงินค่าธรรมเนียมฝากส่งจดหมายแต่ละวันเป็นเวลา 7 วัน รวม 7 ครั้งไว้โดยมิได้ปิดตราไปรษณียากรที่ซองจดหมาย และการปิดตราไปรษณียากรดังกล่าวได้ความว่าจะต้องปฏิบัติตามระเบียบคือจ่ายตราไปรษณียากรให้ผู้ฝากปิดเองศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยรับเงินค่าธรรมเนียมการฝากส่งจดหมายแต่ละครั้งรวม 7 ครั้ง ไว้โดยมิได้ปิดตราไปรษณียากร แล้วเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมและกักจดหมายดังกล่าวแต่ละวันไว้ ย่อมถือได้ว่าจำเลยยักยอกเอาเงินดังกล่าวแต่ละครั้งแต่ละวันไปอันเป็นความผิดหลายกรรมรวม 7 กรรม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่จำเลยเป็นพนักงานของการสื่งสารแห่งประเทศไทยซึ่งตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2519 มาตรา 15 บัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น จึงถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จะปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ดังที่ศาลล่าวทั้งสองพิพากษาหาได้ไม่และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 147 แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทด้วยมาตรา 157 อีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 163, 91 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เรียงกระทงความผิดกระทงละ 5 ปี รวม 7 กระทง จำคุก 35 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 23 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
ม.ร.ว.ชัยวัฒน์ ชมพูนุท
นิยม ติวุตานนท์
ศักดิ์ สนองชาติ
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:05:24
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:06:54
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา ๙๐
เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา ๑๔๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 มาตรา ๑๕๘
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสียหาย ทำลายซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2175 / 2529คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีคำสั่งกองกำกับการตำรวจภูธรที่จำเลยสังกัดกำหนดให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างซ่อมแซมสถานที่ราชการและมีหน้าที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างเขียนใบเสร็จรับเงินเสนอรองผู้กำกับการตำรวจภูธรต้นสังกัดลงชื่อเป็นผู้รับเงินและนำเงินที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างได้ส่งมอบแก่สมุห์บัญชีกองกำกับการฯเพื่อส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไปจำเลยมิได้นำเงินที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างได้จำนวน 7,600 บาทส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามระเบียบจนพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบและแนะนำให้จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งคลังจำเลยจึงปฏิบัติตามพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริตเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157,158 แต่เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของมาตรา 157 แล้วการกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157,158
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 157,158 แต่การกระทำของจำเมาตรา 147,157,158 แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 5 ปี จำเลยชดใช้เงินคืนแล้วเป็นการบรรเทาผลร้ายเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย ที่ 72/2523โดยเฉพาะข้อ 9.9 กำหนดให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ตลอดจนการซ่อมแซมสถานที่ราชการ และผู้บังคับบัญชามอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้าง ตลอดจนเป็นผู้เขียนใบเสร็จรับเงินนำเสนอรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลยลงชื่อเป็นผู้รับเงินและนำเงินที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างนั้นส่งมอบแก่สมุห์บัญชีกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย เพื่อส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไปด้วย ต่อมาพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบว่าเงินค่าจำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างรวมเป็นเงิน 7,600 บาทจำเลยยังมิได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามระเบียบของทางราชการพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต เมื่อพนักงานตรวจเงินแผ่นดินแนะนำให้จำเลยนำเงินส่งคลัง จำเลยก็จัดการนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งคืนเป็นรายได้ของแผ่นดินในภายหลัง ที่จำเลยฎีกาอ้างเป็นข้อกฎหมายว่า จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างและรับเงินค่าจำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน และการที่จำเลยไม่นำเงินค่าจำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินก็เพราะหาใบเสร็จรับเงินไม่พบ จำเลยจึงเก็บเงินนั้น เมื่อพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบและแนะนำให้จำเลยเอาเงินส่งคลัง จำเลยก็ได้จัดการนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินจนครบ จำเลยมิได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและไม่มีเจตนาเบียดบังทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของจำเลยล้วนเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาทั้งสิ้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับลงโทษจำเลยว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157,158 ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นทั่วไปอีก ปัญหาเรื่องการปรับบทมาตราลงโทษจำเลยนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
ไพจิตร วิเศษโกสิน
อาจ ปัญญาดิลก
ดำรง สายเชื้อ
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:10:50
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:10:50
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา ๑๔๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2729 / 2532คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ ตำแหน่งหัวหน้าเสมียนคดี มีหน้าที่เก็บรักษาของกลาง จำเลยตรวจรับกัญชาของกลางและลงลายมือชื่อในสำเนาบัญชีของกลางกับสำเนาหนังสือนำส่งของกลางของสถานีตำรวจภูธรอำเภอ ทับสะแก แต่ไม่ลงบัญชีของกลางในคดีอาญาของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัด ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการรับกัญชาของกลางรายนี้แล้ว ต่อมาจำเลยเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 การที่จำเลยตรวจรับกัญชาของกลางไว้แล้วไม่นำลงบัญชีของกลางในคดีอาญา ก็โดยเจตนาที่จะเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 อีก
คำพิพากษาย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 157, 91 ที่แก้ไขใหม่
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 157 เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 4 ปีฐานเป็นเจ้าพนักงานเบียดบังทรัพย์เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริตจำคุก 8 ปี รวมจำคุก 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาซึ่งมีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยตรวจรับกัญชาของกลางไว้แล้วไม่นำลงบัญชีของกลางในคดีอาญา ก็โดยเจตนาที่จะเบียดบังเอากัญชานั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 อีก ถึงแม้การกระทำนั้นจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 157 ด้วย การกระทำความผิดของจำเลยก็มิใช่การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ผู้พิพากษา
ชูศักดิ์ บัณฑิตกุล
สุนทร จันทรศักดิ์
ครีภูมิ สุวรรณโรจน์
ฎีกาน่าสนใจ
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:16:47
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:17:51
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา ๑๔๙
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1749 / 2545คำพิพากษาย่อสั้น
พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์ของ ส. แล้วให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจประมาณ 30 นาที จึงเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีโดยนำผู้เสียหายออกมาโทรศัพท์หา ก. ภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงิน 3,000 บาท จากผู้เสียหายแล้ว จึงปล่อยผู้เสียหายไปนั้น เป็นกรณีไม่กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู ตำแหน่งพนักงานวิทยุงานป้องกันและปราบปราม มีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา และทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาได้จับกุมนายสถาพร ทองเงิน ในข้อหาลักทรัพย์ตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามกฎหมายแล้วเรียกให้นายสถาพรมอบเงิน 10,000 บาท แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยไม่นำตัวนายสถาพรส่งให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีและปล่อยตัวนายสถาพรไปอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตทำให้นายสถาพรได้รับความเสียหายต้องยอมมอบเงิน 6,000 บาท และวิทยุติดตามตัว (แพคลิงค์) 1 เครื่อง ราคา 6,000บาท ให้แก่จำเลยไป ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยเรียกร้องเอาไปจากนายสถาพรเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149, 157 และคืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149,157 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 5 ปี ธนบัตรของกลางคืนเจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู ก่อนถูกจับกุมจำเลยได้จับกุมนายสถาพร ทองเงินผู้เสียหาย โดยกล่าวหาว่า ลักทรัพย์คาร์บูเรเตอร์รถจักรยานยนต์ของผู้อื่นและควบคุมตัวผู้เสียหายไว้ที่ห้องควบคุมสถานีตำรวจดังกล่าว ต่อมาจำเลยปล่อยผู้เสียหายไปโดยไม่ได้นำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ในวันจับกุมจำเลยออกมารับเงิน 3,000 บาทจากนางกัณหา แซ่เล้า ภริยาผู้เสียหายที่บริเวณด้านหลังสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูจึงถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (สำนักงาน ป.ป.ป.) และเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามจับกุมพร้อมยึดธนบัตรฉบับละ 500 บาท 6 ฉบับ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นของกลาง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์คาร์บูเรเตอร์ของผู้อื่นอันเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายและนางกัณหาพยานโจทก์ว่า เมื่อผู้เสียหายลงลายมือชื่อในแผ่นกระดาษแบบพิมพ์ซึ่งไม่ได้กรอกข้อความแล้ว จำเลยบอกว่าผู้เสียหายกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ต้องจับกุมดำเนินคดี หากประสงค์ให้จำเลยช่วยเหลือเพื่อไม่ถูกดำเนินคดี ผู้เสียหายต้องจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้แก่จำเลย หากผู้เสียหายไม่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวก็ต้องส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี จากนั้นจำเลยนำผู้เสียหายไปควบคุมในห้องควบคุมนานประมาณ 30 นาที จึงพาผู้เสียหายออกมาและให้ผู้เสียหายโทรศัพท์ไปแจ้งให้นางกัณหามาพบที่สถานีตำรวจ เมื่อนางกัณหามาพบผู้เสียหายเล่าให้ฟังว่า ถูกจำเลยจับกุมข้อหาลักทรัพย์และจำเลยต้องการเงิน 10,000 บาท ให้นางกัณหาไปหาเงินมาให้จำเลย นางกัณหานำเครื่องรับโทรทัศน์ไปจำนำได้เงิน 3,000 บาท แล้วนำไปให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายส่งมอบเงิน 3,000 บาท ให้จำเลยรับไปแต่ยังไม่ครบตามที่ต้องการ จำเลยจึงยึดวิทยุติดตามตัวของผู้เสียหายไว้เป็นประกันและจะคืนให้เมื่อได้รับเงินส่วนที่เหลือ จากนั้นจำเลยจึงปล่อยผู้เสียหายพร้อมกับให้หมายเลขโทรศัพท์ห้องพักจำเลยแก่ผู้เสียหายไว้สำหรับติดต่อ วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ไปจำนำกับเพื่อนได้เงิน 3,000 บาท จึงโทรศัพท์นัดให้จำเลยมารับเงินที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู แต่จำเลยไม่มาตามนัด ต่อมาผู้เสียหายไปร้องเรียนจำเลยต่อนายซาเล็ม อุสตัส เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ นายซาเล็มรับเรื่องร้องเรียนแล้วได้ประสานงานกับร้อยตำรวจเอกยุทธ กล่ำกล่อมจิตร เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปราม แล้วร่วมกันวางแผนจับกุมจำเลยโดยนำธนบัตรฉบับละ 500 บาท 6 ฉบับ มาให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อและทำตำหนิไว้ที่ด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร แล้วนำไปถ่ายสำเนาไว้ จากนั้นผู้เสียหายโทรศัพท์นัดหมายให้จำเลยมารับเงินโดยให้นางกัณหาเป็นผู้นำเงินไปให้จำเลยจนกระทั่งจับกุมจำเลยได้พร้อมธนบัตรของกลางดังกล่าว เห็นว่า จำเลยจับกุมผู้เสียหายได้ที่บริเวณลานจอดรถสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู หากจำเลยมีเจตนาสุจริตก็น่าจะนำตัวผู้เสียหายพร้อมบันทึกการจับกุม ส่งมอบให้แก่ร้อยตำรวจเอกยุทธภูมิกิตติทรงภพ ซึ่งเข้าเวรสอบสวนอยู่ในขณะนั้น แต่จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกยุทธภูมิมิได้ความว่า ในวันดังกล่าวพยานเข้าเวรสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูตั้งแต่เวลา 0.00 นาฬิกา จนถึง 6 นาฬิกา ในช่วงนั้นมีผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่14 คน แต่ไม่มีชื่อผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย การที่จำเลยไม่นำตัวผู้เสียหายพร้อมบันทึกการจับกุมส่งมอบให้แก่ร้อยตำรวจเอกยุทธภูมิดังกล่าวย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งผู้เสียหายและนางกัณหาเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหาย โดยนางกัณหาได้นำเครื่องรับโทรทัศน์ไปจำนำได้เงิน 3,000 บาท แล้วนำไปให้ผู้เสียหายที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู และผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยแต่ยังไม่ครบจำนวนตามที่จำเลยต้องการ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าผู้เสียหายเคยถูกดำเนินคดีข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูก็ตาม แต่ในเอกสารฉบับนี้ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าจำเลยเป็นผู้จับกุมผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้เสียหายเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยเพราะเหตุถูกดำเนินคดีดังกล่าวถึงขนาดกลั่นแกล้งให้จำเลยต้องได้รับโทษในคดีนี้ เชื่อได้ว่าผู้เสียหายและนางกัณหาเบิกความตามความจริง พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์คาร์บูเรเตอร์ของนายสุริยา แซ่ซิ้ม แล้วให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ในห้องควบคุมที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูประมาณ 30 นาที จึงนำผู้เสียหายออกมาให้โทรศัพท์ไปหานางกัณหาภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงินจำนวน 3,000 บาท ไปจากผู้เสียหายแล้วจึงปล่อยผู้เสียหาย รับฟังได้ว่า การที่จำเลยปล่อยผู้เสียหายไปดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้เสียหายไปหาเงินมาให้จำเลยจนครบตามจำนวนที่จำเลยต้องการ สำหรับนายซาเล็มและร้อยตำรวจเอกยุทธพยานโจทก์ทั้งสองแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นว่าจำเลยเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเป็นการแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวผู้เสียหายก็ตาม แต่หลังจากนายซาเล็มได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายแล้วได้ประสานงานกับร้อยตำรวจเอกยุทธเพื่อวางแผนจับกุมจำเลย ต่อมาจับกุมจำเลยได้พร้อมธนบัตรของกลางฉบับละ 500 บาท 6 ฉบับ ซึ่งผู้เสียหายลงลายมือชื่อและทำตำหนิไว้ในด้านหน้าและด้านหลังตามที่วางแผนไว้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายในความผิดข้อหาลักทรัพย์ อันเป็นกรณีไม่กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ดังฟ้อง ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า ปล่อยผู้เสียหายไปเพื่อให้ผู้เสียหายไปหาเงินมาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายสุริยา แซ่ซิ้ม เจ้าของคาร์บูเรเตอร์รถจักรยานยนต์ที่กล่าวหาผู้เสียหายว่าเป็นผู้ถอดเอาไปจากรถจักรยานยนต์ของนายสุริยาซึ่งขณะนั้นต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ตลอดจนการรับเงิน 3,000 บาท จากนางกัณหาเป็นการรับไว้แทนนายสุริยา โดยมีนายสุริยามาเบิกความสนับสนุนนั้น หากเป็นความจริงจำเลยก็น่าจะได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่จำเลยก็หาได้ให้การไว้ไม่ ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการแสร้งแต่งเรื่องขึ้นในภายหลังเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความผิด ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดตามมาตรา 157 มาด้วย โดยเห็นว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ที่เป็นบททั่วไปอีก แม้การกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เพียงบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
ชวลิต ตุลยสิงห์
ดวงมาลย์ ศิลปอาชา
สมชาย จุลนิติ์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 01:01:47
ปรับปรุงล่าสุด : วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 01:01:47
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 737 / 2504คำพิพากษาย่อสั้น
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นความผิดที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ฉะนั้น การที่โจทก์ถูกตำรวจจับและควบคุมฐานเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ จำเลยซึ่งเป็นตำรวจเข้าไปกระทำต่อโจทก์ในทางชู้สาว ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยการกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ถูกตำรวจจับหาว่าเป็นเจ้ามือสลากกินรวบได้ถูกควบคุมอยู่ที่สถานีตำรวจ จำเลยมีหน้าที่เป็นนายสิบเวร บังอาจใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติการโดยมิชอบ ขึ้นนั่งคร่อมตัวโจทก์ อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบแบบแผนและต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลจังหวัดนครราชสีมาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูลทางอาญาพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นความผิดที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต แต่ที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยเข้าไปคร่อมตัวโจทก์เลิกผ้าและจับนม เป็นการกระทำในทางรักใคร่ในทางชู้สาวหรือจะร่วมประเวณีกับโจทก์ ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเลยการกระทำของจำเลยจึงไม่มีมูลความผิดตามมาตรา 157 ที่โจทก์ว่าความในมาตรานี้เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหมายความถึงการกระทำลงจะเป็นในหน้าที่หรือนอกหน้าที่ก็เป็นความผิด หาถูกต้องไม่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ผู้พิพากษา
อรรถไพศาลศรุดี
ประมูล สุวรรณศร
โพยม เลขยานนท์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 19:25:53
ปรับปรุงล่าสุด : วันอังคารที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 19:25:53
" โวหาร "
...จำเลยขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพว่า แม้ร้อยตำรวจเอกชิดชัยและดาบตำรวจมงคล จะอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่และไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เพื่อจะโน้มน้าวให้ศาลเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองไม่มีสาเหตุหรือสิ่งจูงใจใด ๆ ที่จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยก็ตาม แต่ก็หาใช่ว่าจะปราศจากสิ่งจูงใจอื่นโดยสิ้นเชิง เพราะคดีนี้หากที่สุดศาลพิพากษาลงโทษจำเลย พยานโจทก์ทั้งสองก็จะมีผลงานได้รับการพิจารณาความดีความชอบจากผู้บังคับบัญชา และได้รับการยกย่องจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่าสามารถเบิกความให้ศาลเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิด ที่สำคัญกว่านั้น ก็คือ ได้รับรางวัลสินบนนำจับและเงินรางวัลตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ. 2537 ( ซึ่งตอนนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมใน ปี พ.ศ. 2561 และจะมีผลใช้บังคับในเร็ว ๆ นี้ ) ทั้งยังเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์ทั้งสองจับกุมจำเลยโดยจำเลยไม่ได้กระทำความผิด เนื่องจากพยานโจทก์ทั้งสองอาจเกิดความเกรงกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้ในภายหลัง ทั้งข้ออ้างที่ว่าพยานโจทก์ไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ก็ไม่แน่ว่าจะไม่แกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยเสมอไปไม่ ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2555 จำเลยจึงไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว.
เครดิต ท่านชนบท ศุภศรี
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!