นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 21:15:01
ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 21:15:01
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 มาตรา ๓๓
ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
(๑) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
(๒) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด
เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 52 มาตรา ๕๒
ในการลดโทษประหารชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ลดดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าจะลดหนึ่งในสามให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
(๒) ถ้าจะลดกึ่งหนึ่ง ให้ลดเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ยี่สิบห้าปี ถึงห้าสิบปีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 มาตรา ๕๓
ในการลดโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลดมาตราส่วนโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุกห้าสิบปีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 มาตรา ๘๐
ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 มาตรา ๑๓๘
ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือ ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 มาตรา ๒๘๙
ผู้ใด
(๑) ฆ่าบุพการี
(๒) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่
(๓) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้น กระทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
(๔) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
(๕) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
(๖) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ
(๗) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนหรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดที่ตนได้กระทำไว้
ต้องระวางโทษ ประหารชีวิต ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 มาตรา ๓๓๔
ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 มาตรา ๓๓๖
ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีและปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการวิ่งราวทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ มาตรา ๓๓๖ ทวิ
ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๓๔ มาตรา ๓๓๕ มาตรา ๓๓๕ ทวิ หรือมาตรา ๓๓๖ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจหรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 มาตรา ๓๓๙
ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(๕) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี มาตรา ๓๔๐ ตรี
ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๓๙ มาตรา ๓๓๙ ทวิ มาตรา ๓๔๐ หรือมาตรา ๓๔๐ ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจหรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มาตรา ๓๗๑
ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย หรือโดยไม่มีเหตุสมควร หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริงหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1954 / 2546คำพิพากษาย่อสั้น
ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากี สวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวเข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยแจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ กรณีอาจทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปได้ แม้จำเลยจะต่อสู้ชกต่อยหรือใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ตรวจค้นและจับกุม จำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ไม่แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่าโดยลำพังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้
ศาลชั้นต้นกำหนดโทษและลดโทษให้แก่จำเลย แต่คำนวณโทษไม่ถูกต้องครบถ้วนเมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์และฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาตามโทษจำคุกที่ถูกต้องได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองสั้นขนาด 12 จำนวน 1 กระบอก ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับและกระสุนปืนขนาดเดียวกัน 2 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แล้วจำเลยได้ชิงทรัพย์เอาอาวุธปืนสั้น 1 กระบอกของผู้เสียหายที่ 1 ไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อย ใช้อาวุธมีดแทง และใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล แล้วจำเลยได้วิ่งราวทรัพย์รถยนต์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91,138, 289, 336, 336 ทวิ, 339, 340 ตรี, 371 ริบอาวุธปืนลูกซอง ปลอกกระสุนปืนลูกซอง 2 ปลอก และอาวุธมีด 1 เล่ม ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง, 289(2) ประกอบมาตรา 80, 334, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ประกอบมาตรา 52(1) ให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานลักทรัพย์ จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานลักทรัพย์ จำคุก6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก6 เดือน รวมจำคุก 34 ปี 16 เดือน ริบอาวุธปืนลูกซอง ปลอกกระสุนปืน ลูกซองและอาวุธมีดของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปจอดบริเวณหน้าร้านค้าของนายสมจิตร หาผล ที่เกิดเหตุ แล้วต่อมาเกิดการต่อสู้กอดปล้ำกับสิบตำรวจตรีสายเพชร เจตินัย ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่ง ปรากฏรายละเอียดบาดแผลตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.12 จำเลยได้รับบาดเจ็บถูกกระสุนปืนตามสำเนาเวชระเบียนผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลชลบุรี เอกสารหมาย ล.1 สำหรับความผิดฐานชิงทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และ 6 เดือน ตามลำดับ โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ความผิดทั้งสี่ฐานดังกล่าวนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และความผิดฐานลักทรัพย์อาวุธปืนสั้นของผู้เสียหายที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ความผิดฐานลักทรัพย์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาซึ่งสรุปใจความสำคัญได้ว่า เหตุที่จำเลยเอาอาวุธปืนสั้นของผู้เสียหายที่ 1 ไปก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ตามไปยิงจำเลยอีก เมื่อไปถึงบ้านนางเพ็ญศรี แซ่ล้อหรือละออศิรินนท์ พี่สาวของจำเลย จำเลยได้มอบอาวุธปืนดังกล่าวให้นางเพ็ญศรี แล้วให้นางเพ็ญศรีนำจำเลยส่งโรงพยาบาลชลบุรี ซึ่งต่อมาจำเลยให้นางเพ็ญศรีมอบอาวุธปืนคืนแก่เจ้าพนักงานตำรวจไปเมื่อทราบว่าผู้เสียหายที่ 1เป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริง จำเลยขาดเจตนาทุจริตอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ อันเป็นฎีกาทำนองว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานลักทรัพย์นั้น เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในความผิดฐานนี้มาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยแต่เฉพาะในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้กระทำความผิดในสองฐานดังกล่าวตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวสรุปใจความสำคัญได้ว่า ในขณะเกิดเหตุที่สิบตำรวจตรีสายเพชร เจตินัย ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปตรวจค้นจำเลยแล้วเกิดการต่อสู้กอดปล้ำกันนั้นจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่เพราะผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจและไม่ได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทั้งการที่ผู้เสียหายที่ 1 ทำการตรวจค้นจำเลยในที่สาธารณะก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่นั้น เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตร หาผล นายบุญมา เกาะน้ำใสนายประสิทธิ์ เสนน้อย กับนายจำปี รักษาภักดี พยานโจทก์ว่า ในวันเกิดเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ร้านค้าของนายสมจิตรที่เกิดเหตุและขณะเกิดเหตุที่จำเลยต่อสู้กอดปล้ำกับผู้เสียหายที่ 1 นั้น ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากีเสื้อยืดคอกลมสีขาว จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปขอตรวจค้นเพื่อจะจับกุมจำเลยเพราะสงสัยว่า จำเลยมีอาวุธปืนติดตัวมาด้วยตามที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความกล่าวอ้างนั้น ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจการที่ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากีสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวจะให้จำเลยเข้าใจเอาเองว่าผู้ที่เข้ามาตรวจค้นจับกุมนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากที่นายสมจิตรซึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1สวมกางเกงขายาวสีกากีสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว บุคคลอื่นไม่ทราบว่าผู้เสียหายที่ 1เป็นเจ้าพนักงานตำรวจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังได้ความด้วยว่าทั้งผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อน จำเลยจึงไม่มีทางรู้ได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความอ้างว่าขณะที่พยานเดินเข้าไปหาจำเลยพยานได้บอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอทำการตรวจค้นก็ดี และที่นายสมจิตรเบิกความอ้างว่าได้ยินผู้เสียหายที่ 1 พูดว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอทำการตรวจค้นก็ดีนั้น เห็นว่า ในภาวะเช่นนั้นจะให้จำเลยแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้ที่เข้ามาขอทำการตรวจค้นนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริงหรือไม่ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้แสดงบัตรประจำตัวให้จำเลยเห็นหรือรู้แต่อย่างใด ส่วนนายบุญมา นายประสิทธิ์และนายจำปี พยานโจทก์ทั้งสามเพิ่งเห็นเหตุการณ์ภายหลังซึ่งเป็นตอนที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำกันแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวได้ยินหรือเห็นตอนที่ผู้เสียหายที่ 1 แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างไร ซึ่งในเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุจำเลยก็เบิกความยืนยันปฏิเสธอยู่ว่า ไม่เคยรู้จักผู้เสียหายที่ 1 มาก่อน ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจ จำเลยทราบภายหลังว่าผู้ที่ต่อสู้กอดปล้ำกับจำเลยนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ดังนี้ พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ กรณีอาจทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปได้แม้จำเลยจะได้ต่อสู้ชกต่อยหรือใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1ตรวจค้นและจับกุมจำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ดังโจทก์ฟ้องไม่ แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.18 แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่าโดยลำพังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และลงโทษมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะบุคคลธรรมดาหรือว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายดังจำเลยฎีกา ในปัญหานี้ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความถึงเหตุการณ์ตอนแรกว่า ขณะจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำโดยจำเลยขึ้นคร่อมร่างกายของผู้เสียหายที่ 1 นั้น จำเลยพยายามจะชักอาวุธปืนออกมาจากเอวของจำเลย ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้คนช่วย มีชาย 4 ถึง5 คน ซึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ในร้านของนายสมจิตรวิ่งเข้ามาจะช่วยจำเลยตะโกนว่าอย่าเข้ามากูยิง แล้วจำเลยชักอาวุธปืนออกจากเอวขึ้นมา พวกชายดังกล่าววิ่งมาครึ่งทางจึงหยุดจำเลยพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้ช่วยอีกและใช้มือปัดป้องนายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1ดังกล่าวที่อ้างว่าจำเลยพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ยกอาวุธปืนขึ้นจี้หรือจ้องที่ตัวผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ หรือพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1ในลักษณะอย่างไร ตามสภาพการณ์ดังกล่าวกลับส่อแสดงให้เห็นได้ว่าในขณะนั้นจำเลยยังไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะยิงผู้เสียหายที่ 1 ได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดประการหนึ่ง ส่วนที่นายสมจิตรพยานโจทก์เบิกความถึงเหตุการณ์ตอนแรกดังกล่าวด้วยว่า ขณะจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำโดยผู้เสียหายที่ 1 นอนหงายอยู่ข้างล่าง จำเลยอยู่ข้างบน จำเลยใช้มือขวาชักอาวุธปืนที่เอวและใช้มือซ้ายค้ำคอผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ทำท่าจะยิงผู้เสียหายที่ 1ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้ช่วยพยานจึงเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ ซึ่งหากจะฟังตามคำเบิกความของนายสมจิตรดังกล่าวก็เห็นได้ว่า ก่อนที่นายสมจิตรจะเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย หากจำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายที่ 1 จำเลยน่าจะมีจังหวะที่จะยิงผู้เสียหายที่ 1 ได้ทันที ไม่น่าจะต้องทำท่าจะยิงดังที่นายสมจิตรเบิกความ นอกจากนี้ตามคำเบิกความของนายสมจิตรดังกล่าวที่อ้างว่าจำเลยทำท่าจะยิงผู้เสียหายที่ 1 นั้นก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ยกอาวุธปืนขึ้นจี้หรือจ้องที่บริเวณใดของร่างกายผู้เสียหายที่ 1 คำเบิกความของนายสมจิตรดังกล่าว จึงคลุมเครือไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดอีกประการหนึ่ง พฤติการณ์การกระทำของจำเลยในเหตุการณ์ตอนแรกดังกล่าวมานี้จึงส่อให้เห็นไปได้ว่าที่จำเลยชักอาวุธปืนออกมาจากเอวของจำเลยเพื่อขู่ผู้เสียหายที่ 1 ให้ปล่อยจากการต่อสู้กอดปล้ำมากกว่าที่จะมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเจือสมกับที่จำเลยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.18 ว่า ขณะที่จำเลยกอดปล้ำกับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยชักอาวุธปืนออกมาจากเอวและถือไว้เพื่อจะขู่เจ้าพนักงานตำรวจ(ผู้เสียหายที่ 1) ให้พ้นจากการจับกุม สำหรับเหตุการณ์ตอนต่อมาหลังจากที่นายสมจิตรเข้าแย่งอาวุธปืนของจำเลยจากจำเลยไปได้แล้วนั้น ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า หลังจากนายสมจิตรเข้าแย่งอาวุธปืนของจำเลยจากจำเลยไปได้แล้ว จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1ต่อสู้กอดปล้ำกันอยู่ จำเลยแย่งอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 จากเอวของผู้เสียหายที่ 1ไปได้ ผู้เสียหายที่ 1 พยายามจะแย่งอาวุธปืนคืน นายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ นายสมจิตรเบิกความว่า ขณะต่อสู้กอดปล้ำจำเลยแย่งอาวุธปืนจากเอวของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 จับมือจำเลยที่ถืออาวุธปืนและตะโกนขอให้ช่วย พยานวิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ เหตุการณ์ตอนนี้จึงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำกัน และจำเลยแย่งอาวุธปืนจากเอวผู้เสียหายที่ 1 ไปได้แล้วนายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ไปจากจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ที่แย่งมาได้เล็งจ้องจะยิงผู้เสียหายที่ 1 แต่อย่างใด ส่วนเหตุการณ์ตอนสุดท้ายที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความอ้างว่าเมื่อผู้เสียหายที่ 1 ถอยจนติดตู้ขายของในร้านของนายสมจิตรแล้วทิ้งอาวุธปืนวิ่งหนีไปทางด้านข้างของร้าน เมื่อหันมามองเห็นจำเลยใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ที่ทิ้งดังกล่าวเล็งยิงผู้เสียหายที่ 1 อีก 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่นจะรับฟังได้หรือไม่ ได้ความว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ผู้เสียหายที่ 1 ใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ยิงขู่ 1 นัด ยิงที่บริเวณขาของจำเลย 2 นัด และขณะที่จำเลยเข้ามาจับมือของผู้เสียหายที่ 1 ที่ถือปืน ปืนลั่น 2 นัดจึงรวมกระสุนปืนที่ลั่นเพราะเหตุดังกล่าว 5 นัด และปรากฏตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.9 ว่าได้มีการส่งปืนออโตเมติก ขนาด .45 ซึ่งเป็นอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ไปตรวจพิสูจน์ที่กองกำกับการวิทยาการ เขต 2 โดยมีการส่งกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .45 จำนวน 2 นัด และปลอกกระสุนปืนออโตเมติกขนาด .45จำนวน 5 ปลอก ไปตรวจพิสูจน์ด้วย เมื่อพิจารณาประกอบกันทำให้เห็นได้ว่าภายหลังจากที่กระสุนปืนลั่นจากอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 รวม 5 นัดดังกล่าวแล้ว ยังมีกระสุนปืนที่อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 อีก 2 นัด ที่ส่งไปตรวจพิสูจน์ และคงเป็นกระสุนปืน 2 นัดนี้ที่เสียหายที่ 1 เบิกความอ้างว่าจำเลยใช้ยิงผู้เสียหายที่ 1 อีก 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่นดังกล่าวข้างต้น แต่ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.9 ดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าได้มีการตรวจพิสูจน์กระสุนปืน 2 นัดดังกล่าวนี้ว่ามีรอยถูกเข็มแทงชนวนแทงหรือไม่จึงรับฟังไม่ได้ว่ากระสุนปืน 2 นัดดังกล่าวหรือนัดหนึ่งนัดใดใช้ยิงแล้วแต่กระสุนไม่ลั่น ดังนี้ คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่อ้างว่า จำเลยใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 เล็งยิงผู้เสียหายที่ 1 อีก 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่นดังกล่าวข้างต้นก็ดี ที่นายสมจิตรพยานโจทก์เบิกความอ้างว่า จำเลยใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 จ้องเล็งไปที่ผู้เสียหายที่ 1แล้วเหนี่ยวไกปืนแต่กระสุนปืนไม่ลั่นก็ดี ล้วนเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ทั้งจำเลยก็เบิกความยืนยันปฏิเสธว่าเมื่อผู้เสียหายที่ 1 ทิ้งอาวุธปืนแล้ววิ่งออกไปจากร้านนายสมจิตรนั้นจำเลยเพียงเก็บอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 แล้วไปขึ้นรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งติดเครื่องอยู่บริเวณนั้นขับออกไป ในข้อนี้นายบุญมาพยานโจทก์ก็เบิกความว่าเมื่อจำเลยแย่งอาวุธปืนจากผู้เสียหายที่ 1 ได้แล้ว ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งเข้าไปในร้านของนายสมจิตร ส่วนจำเลยวิ่งไปขึ้นรถยนต์ของพยานซึ่งติดเครื่องอยู่ขับหลบหนีไป ซึ่งเจือสมคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวจากพยานหลักฐานและเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้เป็นมั่นคงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะบุคคลธรรมดาโดยใช้อาวุธปืนของจำเลยเองหรือของผู้เสียหายที่ 1 เล็งจ้องพร้อมที่จะยิงหรือได้ยิงตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้มีดพับปลายแหลมของกลางแทงนั้น ผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรเบิกความถึงเหตุการณ์ตอนนี้ทำนองเดียวกันว่า ในขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้ชกต่อยกอดปล้ำ จำเลยได้ล้วงเอามีดพับปลายแหลมของกลางจากกระเป๋ากางเกงของจำเลยแล้วจ้วงแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ถูกที่หน้าอก 1 แผล ที่โหนกแก้ม 1 แผล ผู้เสียหายที่ 1 ยกขาขึ้นเตะถูกมีดของจำเลยที่ขาอีก 1 แผล ผู้เสียหายที่ 1 ขัดขาจำเลยล้มลงแล้วขึ้นคร่อมร่างกายของจำเลยและใช้มือข้างหนึ่งจับมือจำเลยที่ถือมีดไว้และใช้มืออีกข้างหนึ่งต่อยใบหน้าจำเลย 10 กว่าครั้ง จำเลยต่อสู้ดิ้นรนและถีบผู้เสียหายที่ 1 กระเด็นออกไป ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งไปเอาอาวุธปืนจากนายสมจิตร ขณะนั้นจำเลยถือมีดวิ่งเข้ามาผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงขู่ 1 นัด จำเลยยังคงวิ่งเข้ามา ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงที่บริเวณขาจำเลย 2 นัด จำเลยวิ่งเข้ามาจับมือผู้เสียหายที่ 1 ที่ถืออาวุธปืนและใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ถูก ขณะที่จำเลยจับมือผู้เสียหายที่ 1 ที่ถืออาวุธปืน ทำให้ปืนลั่น 2 นัดทราบภายหลังว่าถูกจำเลย จากนั้นจำเลยยังแทงผู้เสียหายที่ 1 อีก ผู้เสียหายที่ 1 ถอยจนติดตู้ขายของในร้านนายสมจิตร ผู้เสียหายที่ 1 จึงทิ้งอาวุธปืนและใช้มือปัดป้องแล้ววิ่งหนีออกไป เห็นว่าตามภาพถ่ายมีดพับปลายแหลมของกลางหมาย จ.2 ภาพที่ 2ซึ่งจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่าเป็นมีดที่จำเลยใช้แทงผู้เสียหายที่ 1 ปรากฏว่าทั้งด้ามไม้และตัวมีดยาว 18.5 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 คืบ เฉพาะตัวมีดยาว7.5 เซนติเมตร บาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 ที่แพทย์ได้ชันสูตรไว้ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.12 ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าแข้งซ้าย ยาว 1.5 เซนติเมตร ลึก 0.3 เซนติเมตร รอยแผลถลอกที่บริเวณข้อศอก โหนกแก้ม 2 ข้าง ที่เข่าขวาและหลังมือขวา บาดแผลฉีกขาด และแฉลบที่หน้าอกข้างขวาและที่ปลายนิ้วก้อยข้างขวา และบาดแผลฟกช้ำที่บริเวณลิ้นปี่ โดยไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่าบาดแผลดังกล่าวอาจทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงแก่ความตายได้ เมื่อพิจารณาคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรตลอดจนมีพับปลายแหลมของกลางและบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับประกอบกันแล้ว เห็นได้ว่าที่จำเลยใช้มีดพับปลายแหลมของกลางแทงผู้เสียหายที่ 1 ในช่วงแรกเป็นการแทงในขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 กำลังต่อสู้กอดปล้ำกันและแทงในช่วงหลังก็เป็นเหตุการณ์ที่พัวพันต่อเนื่องกันในช่วงแรกจึงเป็นการแทงด้วยอาการฉุกละหุกโดยไม่มีโอกาสเลือกแทงและมีดที่ใช้แทงก็เป็นเพียงมีดพับปลายแหลมซึ่งยาวทั้งด้ามและตัวมีด18.5 เซนติเมตรหรือประมาณ 1 คืบ เฉพาะตัวมีดยาว 7.5 เซนติเมตร ประกอบกับลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับก็ไม่ปรากฏว่าอาจทำให้ถึงตายได้ดังกล่าวแล้วกรณียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 คงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น ปัญหาต่อไปจึงมีว่า การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรดังกล่าวข้างต้นว่า ในเหตุการณ์ที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้ชกต่อยกอดปล้ำกันนั้นจำเลยเป็นฝ่ายใช้มีดพับปลายแหลมของกลางแทงผู้เสียหายที่ 1 ก่อน ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงจำเลย ทั้งตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่โจทก์อ้างส่งศาลเป็นพยานตามเอกสารหมาย จ.18 จำเลยก็ได้ให้การว่า เมื่อนายสมจิตรเข้าแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 กอดปล้ำชกต่อยกันอยู่กับพื้น สักครู่หนึ่งจึงลุกขึ้นมา จำเลยชักมีดปลายแหลมออกจากกระเป๋ากางเกงของจำเลยแล้วจ้วงแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ไม่ทราบถูกบริเวณใดบ้าง ผู้เสียหายที่ 1วิ่งไปในร้านแล้วเอาอาวุธปืนจากนายสมจิตรมาถือไว้ จำเลยตามไปจ้วงแทงผู้เสียหายที่ 1 อีก ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงจำเลย ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรดังกล่าว ฟังได้ว่าจำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 ก่อน ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงที่จำเลยนำสืบและฎีกาอ้างว่าผู้เสียหายที่ 1 ยิงจำเลยก่อน จำเลยจึงใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 นั้น จึงขัดแย้งกับที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวไม่มีน้ำหนักให้รับฟังข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายดังจำเลยฎีกา จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 ที่ได้รับดังกล่าวข้างต้นนั้นใช้เวลารักษาประมาณกี่วันจึงหายปกติ หรือทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันแต่อย่างใดทั้งผู้เสียหายที่ 1 ก็เบิกความว่าแพทย์ได้ทำบาดแผลแล้วให้กลับบ้านโดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 1ได้รับอันตรายสาหัสคงฟังได้เพียงว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยย่อมมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้าย เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หรือไม่อีกต่อไปเพราะไม่เป็นสาระแก่คดี
อนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว แต่ให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ จำคุก 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน นั้น เป็นการไม่ถูกต้องที่ถูกต้องต้องเป็นว่าฐานลักทรัพย์ จำคุก 8 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี 4 เดือน และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน แต่เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์และฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวตามโทษจำคุกที่กล่าวมานี้ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295จำคุก 1 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานลักทรัพย์ 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 1 ปี 20 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และมาตรา 289 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
ผู้พิพากษา
จำรูญ แสนภักดี
สมชัย เกษชุมพล
สุมิตร สุภาดุลย์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23:55:11
ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23:55:11
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 มาตรา ๓๓๙
ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(๕) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 3269 / 2531คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยกับพวกใช้ยากดประสาทอย่างแรงใส่ลงในกาแฟให้ผู้เสียหายดื่ม เมื่อผู้เสียหายดื่มแล้วสิ้นสติไปแทบจะทันทีแล้วจำเลยกับพวกได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป ผู้เสียหายฟื้นคืนสติที่โรงพยาบาลหลังจากเวลาล่วงไปประมาณ 12 ชั่วโมงดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้รับอันตรายแก่กายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ถือได้ว่าเป็นอันตรายแก่จิตใจของผู้เสียหายแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกับพวกชิงทรัพย์ผู้เสียหาย โดยใช้ยาสลบใส่ลงในกาแฟให้ผู้เสียหายดื่ม จนมึนเมาสลบไม่ได้สติจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม จำคุก 12 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง ได้มีคนร้ายใช้ยาสลบใส่ลงในกาแฟให้นายชาญ เรืองวุฒิชนะพืช นาวาอากาศโทสุรีย์ คุณฑีทองนายนิรันดร์ ไทยเนียม และนาวาอากาศตรีประจวบ พึ่งพัฒน์ผู้เสียหายทั้งสี่ดื่ม จนผู้เสียหายทั้งสี่มึนเมาสลบไม่ได้สติและคนร้ายได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องไปเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยได้ในคืนเกิดเหตุแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายผู้เสียหายทั้งสี่แล้วลงความเห็นว่าได้รับยากดประสาทอย่างแรงส่วนเศษกาแฟของกลางผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์พบสารชนิดพีโนบาร์บิตาล ซึ่งเป็นสารชนิดวัตถุออกฤทธิ์ต่อประสาทเจือปนอยู่ทำให้ผู้ดื่มสารดังกล่าวหมดสติ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยได้กระทำผิดดังฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายนิรันดร์ นาวาอากาศโทสุรีย์และนาวาอากาศตรีประจวบผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ขณะผู้เสียหายทั้งสี่ นางสาวต๋อยและจำเลยเล่นไพ่ในห้องเลขที่ 609 ของโรงแรมวังใต้ นางสาวต๋อยได้พูดโทรศัพท์สั่งกาแฟจากห้องอาหาร เมื่อพนักงานโรงแรมนำกาแฟมาให้แล้วนางสาวต๋อยเป็นผู้ชงกาแฟและร่วมกับจำเลยแจกกาแฟให้ทุกคนที่อยู่ในห้องดื่ม ผู้เสียหายทั้งสี่ได้ดื่มกาแฟ ส่วนจำเลยกับนางสาวต๋อยไม่ได้ดื่มกาแฟด้วย เมื่อดื่มแล้วผู้เสียหายทั้งสี่ก็หมดสติ เมื่อฟื้นขึ้นมาปรากฏว่าทรัพย์สินสูญหายไป และโจทก์มีนายอรุณ ต่อศิริ พนักงานขับรถของกรมป่าไม้มาเบิกความเป็นพยานประกอบใกล้ชิดขณะเกิดเหตุว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ขณะพยานจะเข้าห้องพักเลขที่ 611 ได้พบจำเลยและนางสาวต๋อยเปิดประตูห้องเลขที่ 609 ออกมา พยานจึงชวนจำเลยกับนางสาวต๋อยไปที่ห้องพยาน แต่จำเลยบอกว่าจะรีบกลับ หลังจากนั้นจำเลยกับนางสาวต๋อยก็ลงลิฟต์ไปชั้นล่างเมื่อพยานเข้าไปในห้องเลขที่ 609 พบผู้เสียหายทั้งสี่นอนสิ้นสติอยู่เชื่อว่าถูกวางยา จึงวิ่งลงมาทางบันไดเพื่อตามหาจำเลยกับนางสาวต๋อย พบจำเลยยืนอยู่หน้าร้านอาหารในโรงแรมจึงควบคุมตัวไว้และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับ ตามคำพยาน โจทก์ดังกล่าวซึ่งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยกับพวกมาก่อน จึงไม่ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งปรักปรำจำเลยโดยไม่เป็นความจริง น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามที่รู้เห็นจริง คดีนี้แม้โจทก์จะไม่มีพยานรู้เห็นขณะจำเลยกับพวกใส่ยาสลบลงในกาแฟให้ผู้เสียหายทั้งสี่ดื่มแต่ก็ได้ความว่าในห้องเลขที่ 609 นอกจากผู้เสียหายทั้งสี่แล้วคงมีจำเลยกับนางสาวต๋อยอยู่ด้วยโดยไม่มีคนอื่นอีกเลยนางสาวต๋อยเป็นคนชงกาแฟเมื่อชงแล้วจำเลยกับนางสาวต๋อยก็ช่วยกันแจกกาแฟให้ผู้เสียหายทั้งสี่ดื่มโดยทั้งสองคนไม่ได้ดื่มกาแฟและไม่ได้หมดสติไปด้วย หากจำเลยกับพวกไม่ทราบว่าในกาแฟมียาสลบผสมอยู่ จำเลยกับพวกก็คงจะร่วมดื่มกาแฟและคงจะหมดสติอยู่ในห้องกับผู้เสียหายทั้งสี่ด้วย อีกประการหนึ่ง ถ้าจำเลยกับพวกมิได้วางยาสลบผู้เสียหายทั้งสี่เพื่อหวังเอาทรัพย์สินจริงแล้ว เมื่อเห็นผู้เสียหายทั้งสี่นอนสลบเช่นนั้น จำเลยกับพวกก็น่าจะช่วยแก้ไขให้ฟื้นจากสลบ หรืออย่างน้อยก็น่าจะแจ้งเหตุให้พนักงานโรงแรมหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบทันที แต่กลับปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้ออกจากห้องไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้ใดทราบเลยและในคืนเกิดเหตุ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยไว้ที่หน้าห้องอาหารในโรงแรมวังใต้ตามที่นายอรุณแจ้ง เมื่อตรวจค้นตัวจำเลยก็พบธนบัตร เหรียญกษาปณ์ ใบมีดโกนหนวด และไม้ขีดไฟแช็ก ตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายทั้งสี่ พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยกับพวกอีก1 คน ได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ยาสลบผสมในกาแฟให้ผู้เสียหายทั้งสี่ดื่มเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสี่หมดสติไป อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วจำเลยกับพวกได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสี่ไป ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์และการพาเอาทรัพย์ไป จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเองก็ได้ดื่มกาแฟจนมีอาการมึนศีรษะหมดสติไปด้วยนั้นไม่น่าเชื่อเพราะนายอรุณเบิกความว่าได้พบจำเลยและนางสาวต๋อยออกมาจากห้องเลขที่ 609 เมื่อนายอรุณเข้าไปในห้องเลขที่ 609 เห็นผู้เสียหายทั้งสี่หมดสติจึงวิ่งลงไปข้างล่าง พบจำเลยยืนอยู่หน้าห้องอาหารจึงควบคุมตัวจำเลยไว้แล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับจำเลย พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ส่วนที่ว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม หรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยกับพวกใช้สารพีโนบาร์บิตาลซึ่งเป็นยากดประสาทอย่างแรงใส่ลงในกาแฟให้ผู้เสียหายดื่ม เมื่อผู้เสียหายดื่มแล้วสิ้นสติไปแทบจะทันทีและไปฟื้นคืนสติที่โรงพยาบาลหลังจากเวลาล่วงไปประมาณ 12 ชั่วโมงแม้ผู้เสียหายจะไม่ได้รับอันตรายแก่กายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ถือได้ว่าเป็นอันตรายแก่จิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยต้องกันมา และที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้นศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษให้จำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกเพียง 12 ปีนั้น นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
ผู้พิพากษา
ประชา บุญวนิช
ดุสิต วราโห
เสริมพงศ์ วรยิ่งยง
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
Visitor Statistics
» 1 Online
» 28 Today
» 124 Yesterday
» 913 Week
» 4520 Month
» 201452 Year
» 1452857 Total
Record: 10208 (10.06.2023)