นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 01:15:32
ปรับปรุงล่าสุด : วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 01:15:32
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 มาตรา ๓๕๒
ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 7836 / 2556 คำพิพากษาย่อสั้น
กรณีที่จำเลยมิได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก
จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่าย โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้น ๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วคือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือ ส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้
ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยรับเอาทรัพย์สินเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย ทอง และนาฬิกาของโจทก์ไป 108 รายการ รวม 28 ชุด เป็นเงิน 18,734,250 บาท เพื่อนำไปจำหน่ายตามราคาที่โจทก์กำหนดไว้ เมื่อจำเลยจำหน่ายเครื่องประดับดังกล่าวได้เงินแล้ว ก็จะส่งเงินค่าเครื่องประดับที่จำเลยจำหน่ายไปให้โจทก์ แต่หากจำเลยไม่สามารถจำหน่ายเครื่องประดับได้ จำเลยต้องคืนเครื่องประดับที่รับไปนั้นให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้รับประโยชน์อะไรเป็นการตอบแทน แต่ได้ความจากโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่ายให้แก่ชาวต่างประเทศเนื่องจากจำเลยทำธุรกิจค้าขายเครื่องประดับและธุรกิจท่องเที่ยว ทุกครั้งที่จำเลยรับเครื่องประดับดังกล่าวไป จำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้นๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระให้โจทก์ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วก็คือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย ทอง และนาฬิกาไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเครื่องประดับที่จำเลยรับไปจากโจทก์แล้ว แต่จำเลยไม่ส่งมอบคืนเครื่องประดับดังกล่าวให้โจทก์ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:37:56
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:37:56
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 มาตรา ๓๕๒
ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 4781 / 2555 รถยนต์กระบะเป็นของผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าซื้อจากผู้เสียหายที่ 2 ขณะเกิดเหตุยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะจึงยังเป็นของผู้เสียหายที่ 2 จนกว่าจะมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ในการตกลงซื้อขายรถยนต์กระบะให้แก่จำเลยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ร่วมจะโอนทะเบียนให้จำเลยต่อเมื่อจำเลยชำระราคารถยนต์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งรวมถึงข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่โจทก์ร่วมยังคงค้างชำระแก่ผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ข้อตกลงในการซื้อขายรถยนต์กระบะระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจึงมิใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังไม่ตกเป็นของจำเลย ที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถหลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว ถือเป็นเพียงการครอบครองรถยนต์กระบะไว้แทนโจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะที่แท้จริง ภายหลังจากทำข้อตกลงซื้อขายรถยนต์กระบะดังกล่าวจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ชำระราคารถยนต์กระบะให้ครบถ้วน โจทก์ร่วมแจ้งให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะให้โจทก์ร่วม แต่จำเลยเพิกเฉยและอ้างว่ารถยนต์กระบะสูญหาย การที่จำเลยยังคงครอบครองรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมต่อมาโดยไม่ส่งมอบคืน น่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังปกปิดและซุกซ่อนรถยนต์กระบะโดยมีเจตนาที่จะไม่ส่งมอบคืนแก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอก
หลักการวินิจฉัยที่สำคัญนั้น ขึ้นอยู่กับว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวได้ถูกโอนไปยังผู้เช่าซื้อหรือยัง ถ้าอธิบายตามหลักกฎหมายนั้นหมายความว่า การซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้เช่าซื้อแล้วหรือยัง หากโอนแล้วก็ไม่ผิดยักยอกทรัพย์ แต่หากสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าจะมีการชำระราคาเสร็จ อันนี้จะผิดยักยอกทรัพย์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 04:03:29
ปรับปรุงล่าสุด : วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23:46:40
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 มาตรา ๓๕๒
ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2716 / 2554คำพิพากษาย่อสั้น
การที่ อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกันต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้ ช. โดยทำความตกลงกับ ช. ให้ ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจาก ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและ ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขายแต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงให้ ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด
การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนรถกระบะดังกล่าว หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 631,491 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนรถกระบะที่ยักยอกไป หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 631,491 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2547 นางอาภรณ์ ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะใช้แล้ว หมายเลขทะเบียน บง 7953 สิงห์บุรี จากบริษัทจีอีแคปปิตอลออโตลีส จำกัด (มหาชน) ในราคา 631,491.74 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 74 งวด โดยชำระงวดละเดือนเป็นเงิน 7,044 บาทตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.1 ระหว่างตกลงทำสัญญานั้น จำเลยซึ่งเป็นพี่สาวของนายสถาพรวิจิตรพันธ์ น้องเขยของนางอาภรณ์ขอซื้อรถกระบะดังกล่าวต่อจากนางอาภรณ์ นางอาภรณ์ตกลงให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อรถดังกล่าวแทนนางอาภรณ์ และให้จำเลยชำระเงินค่าจดทะเบียนกับเบี้ยประกันภัยด้วยตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.1 โดยระบุให้จำเลยเป็นผู้ขับขี่ จำเลยรับรถกระบะที่เช่าซื้อไปใช้ตั้งแต่ต้น แล้วชำระค่าเช่าซื้อเพียง 5 งวด จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6 ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2547 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2547 จำเลยไปพบนางสมศรี เจ้าของร้านสิงห์บุรีคาร์เซ็นเตอร์ข้างที่ทำการประปาจังหวัดสิงห์บุรี ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอ เมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นร้านขายรถมือสอง จำเลยจะหาคนซื้อรถกระบะดังกล่าว เพราะไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อได้ต่อไป นางสมศรีแนะนำให้จำเลยพบกับนายเชาวลิต ซึ่งเป็นลูกค้าประจำของนางสมศรี จำเลยตกลงขายรถกระบะดังกล่าวให้นายเชาวลิต โดยนายเชาวลิตเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อต่อไปตามสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย จ.7 นายเชาวลิต รับรถกระบะดังกล่าวไปจากจำเลยแล้ว ภายหลังจากนั้นจำเลยติดต่อกับนายเชาวลิตไม่ได้ ทั้งจำเลยและนายเชาวลิตต่างก็ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6 ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ไปยังนางอาภรณ์ นางอาภรณ์ไปสอบถามจำเลย จำเลยเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง นางอาภรณ์แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบ ผู้ให้เช่าซื้อให้นางอาภรณ์ไปร้องทุกข์ ดำเนินคดีแก่จำเลยเอง แต่ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องคดีแพ่งบังคับให้นางอาภรณ์รับผิดตาม สัญญา นางอาภรณ์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 จำเลยไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกรถกระบะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่นางอาภรณ์ ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครอง ใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกัน ต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้นายเชาวลิต โดยทำความตกลงกับนายเชาวลิตให้นายเชาวลิตเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไปปรากฏตามสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย จ.7 พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจากนายเชาวลิตในวันทำสัญญาเอกสารหมาย จ.7 เป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและนายเชาวลิตซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขาย แต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นายเชาวลิต โดยมีข้อตกลงให้นายเชาวลิตมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายต่อไป จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นายเชาวลิตโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นการไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นายเชาวลิตแม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากผู้เสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ดังที่โจทก์ฎีกา จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ผู้พิพากษา
นพวรรณ อินทรัมพรรย์
ไชยยงค์ คงจันทร์
ทัศนีย์ ธรรมเกณฑ์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:36:10
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:36:10
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา ๑๔๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา ๑๕๑
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 มาตรา ๑๕๔
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่หรือแสดงว่าตนมีหน้าที่ เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใด โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมหรือเงินนั้นหรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดเพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย หรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 มาตรา ๑๕๘
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสียหาย ทำลายซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 มาตรา ๓๕๒
ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1184 / 2505คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยเป็นปลัดอำเภอทำหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนอาวุธปืนส่งเจ้าหน้าที่เพื่อพิจารณาสั่งอนุญาตแล้วจึงเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ร้องขออนุญาตนั้น. หากรับคำขอจดทะเบียนและเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมไว้แล้วเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมทั้งหมดเสีย และทำให้คำขอจดทะเบียนสูญหายไปบ้างบางส่วนนั้น จำเลยย่อมมีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 หาผิดตามมาตรา 151,154,157,158,352 ด้วยไม่
คำพิพากษาย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2501 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2501 จำเลยซึ่งเป็นปลัดอำเภอมีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนอาวุธปืนซึ่งทางราชการอนุญาตให้ผู้มีอาวุธปืนไม่จดทะเบียนเพื่อส่งเจ้าหน้าที่พิจารณาสั่งอนุญาตให้จดทะเบียนแล้วจึงเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ร้องขออนุญาตได้ จำเลยได้รับคำขอจดทะเบียนอาวุธปืนจากผู้มีชื่อไว้ 347 ราย แล้วไม่นำส่งเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่สั่งคำขอตามระเบียบ และจำเลยได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการขอจดทะเบียนสูญหายไป ทำให้เกิดเสียหายแก่ผู้ร้องขอ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 154, 157, 158, 352 ขอให้คืนหรือใช้เงินแก่เจ้าทรัพย์ด้วย
จำเลยให้การภาคเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยแสดงตนว่ามีหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากราษฎร ผู้มาขอจดทะเบียนอาวุธปืนโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้วยักยอกเงินและทำให้คำร้องขอจดทะเบียนสูญหายไป 218 รายพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 154, 157, 158, 352 รวมกระทงลงโทษจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนและใช้เงิน 33,325 บาท แก่เจ้าทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานโจทก์ขัดแย้งกันอยู่ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
อัยการโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษ
ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความรับฟังเชื่อเป็นความจริงได้โดยปราศจากข้อสงสัย เพราะนอกจากเงินค่าธรรมเนียมที่จำเลยกับนายสมบุญร่วมกันรับไว้จากราษฎรผู้ขอจดทะเบียนอาวุธปืนจำนวน 347 ราย จะขาดหายไปแล้ว คำขอก็สูญหายไปถึง 218 รายอีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นชอบด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นแต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 154, 157, 158 และมาตรา 352 แล้ว รวมกระทงลงโทษจำคุกจำเลยมานั้นยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นว่าความผิดของจำเลยต้องด้วยมาตรา 147 เพียงมาตราเดียว
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 คงให้จำคุกจำเลยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้พิพากษา
เชื้อ คงคากุล
ประกอบ หุตะสิงห์
จิตติ ติงศภัทิย์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563 เวลา 22:06:01
ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 01:56:36
ซื้อรถหลุดจำนำ ถ้ารถที่เช่าซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อ (ไฟแนนซ์) ส่วนคนเช่าซื้อ เป็นเพียงผู้ครอบครอง จนกว่า จะชำระค่าเช่าซื้อหมดหมุนเงินไม่ทัน หันไปหาบ่อน หรือ คนรับจำนำรถ การนำรถที่กำลังเช่าซื้อ ไปจำนำ #โดยไฟแนนซ์ไม่ยินยอม ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เพราะมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ส่วนคนที่รับไว้ โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นทรัพย์ได้มาจากการกระทำความผิด จากการ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร เมื่อคนรับจำนำ รับซื้อไว้ จากคนที่ยักยอกมา ก็ย่อมมีความผิดฐานรับของโจร โจรนำมาขายต่อให้ท่าน ท่านรับไว้ ด้วยการซื้อ ก็ผิดฐานรับของโจร เช่นเดียวกัน เมื่อท่านรับของโจรไว้ ท่านจะอ้างอย่างไร ก็ฟังยาก เว้นแต่ท่านจะต่อสู้ว่า ไม่รู้ว่าเป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิด จากการ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ซึ่งคงแก้ตัวยากและฟังไม่ขึ้น เพราะขณะที่รับซื้อไว้ ท่านต้องรู้ว่าใครเป็นเจ้าของ เพราะต้องตรวจสอบจากสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ หากเป็นของคนอื่นไม่ใช่ของคนที่ขายให้ท่าน คนที่นำมาขายได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับความยินยอม จากเจ้าของที่แท้จริงหรือไม่ !!? แน่นอนล่ะ ผมเชื่อว่า ไฟแนนซ์ คงไม่ยอมให้ผู้เช่าซื้อนำรถที่เช่าซื้อมาขาย หรือ มาจำนำแน่นอน ดังนั้น ท่านรับซื้อมา จากบุคคลอื่นที่ยักยอกทรัพย์ของไฟแนนซ์มาด้วยแล้ว ท่านจึงต้องรับผิดฐานรับของโจร อีกคนด้วยแม้ท่านจะซื้อต่อๆมากี่ทอด หรือซื้อด้วยความสุจริตแค่ไหน ท่านก็ไม่อาจจะอ้างได้ เพราะเจ้าของที่แท้จริง ย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ (ประมวลกฎหมายแแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336) ซึ่งคนที่นำมาจำนำ ไม่มีสิทธิในตัวทรัพย์ คนรับไว้ ก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์นั้น ท่านรับของโจรมาก็ไม่มีสิทธิอ้าง เช่นกัน ภาษิตกฎหมาย กล่าวว่า "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน (ละติน:Nemo dat qui non habet," คดีตัวอย่างต่อไปนี้ เสียทั้งเงิน แถมเกือบจะติดคุกด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8865/2558
การที่ ร. ได้รถยนต์พิพาทมาด้วยการกระทำความผิดฐานยักยอกซึ่งคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว ร. จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตแต่เป็นการซื้อจาก ร. ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่า ร. คือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาแทน
สรุปสั้นๆว่า..
1. ร.เป็นผู้เช่าซื้อ กับไฟแนนซ์ แล้วยักยอกรถที่เช่าซื้อ นำมาขายให้ จำเลยที่ 1
2. ไฟแนนซ์ ฟ้องอาญา ร.ในข้อหายักยอก ซึ่งคดีถึงที่สุด
3.จำเลยต่อสู้ว่า ซื้อมาจาก ร. โดยสุจริต (ไม่รู้ว่าเป็นของที่ยักยอกมา)
4.ศาลพิพากษา ถึงจำเลยจะไม่รู้ และซื้อมาจาก ร. โดยสุจริต จำเลยก็ต้องคืนรถ หรือ ใช้ราคา ให้ไฟแนนซ์ เพราะแม้จำเลยที่ 1 จะซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตแต่เป็นการซื้อจาก ร. ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่า ร. คือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทด้วยเช่นกัน
( หลัก : ภาษิตกฎหมาย "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน(ละติน:Nemo dat qui non habet, ")
5.สรุป จำเลยที่ 1 และ 2 ต้องคืนรถให้ไฟแนนซ์ไป แม้จะซื้อไว้โดยสุจริต
6.เสียทั้งเงิน และเกือบเสียอนาคต
7.ของฟรีไม่มีในโลก..
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 357 "ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายแแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
#ดังนั้นเมื่อสรุปความผิดของขบวนการรถหลุดจำนำ สามารถแจกแจงได้ดังนี้
ผู้นำรถมาจำนำ - มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เนื่องจากไม่ได้รับความยินยอมจากไฟแนนซ์
ผู้รับจำนำ - มีความผิดฐานรับของโจร เนื่องจากไฟแนนซ์แจ้งความหายไว้
ผู้ซื้อรถจำนำ - มีความผิดฐานรับของโจรเช่นกัน
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 04:28:23
ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 04:33:53
ถ้าทรัพย์นั้นเป็นเพียงแต่อยู่ในความยึดถือของผู้กระทำ ส่วนการครอบครองอยู่กับเจ้าของหรือผู้อื่น ถ้าผู้กระทำผิดเอาทรัพย์ไปก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก แต่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง และเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 04:37:29
ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 04:37:29
การที่นายจ้างมอบให้ลูกจ้างดูแลหรือใช้สอยทรัพย์สินของนายจ้าง ถือว่าการครอบครองยังอยู่กับนายจ้าง ลูกจ้างมีเพียงการยึดถือเท่านั้น [Perkins, Criminal Law, p. 244]
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
Visitor Statistics
» 1 Online
» 18 Today
» 124 Yesterday
» 903 Week
» 4510 Month
» 201442 Year
» 1452847 Total
Record: 10208 (10.06.2023)