นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:36:10
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:36:10
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา ๑๔๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา ๑๕๑
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154 มาตรา ๑๕๔
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่หรือแสดงว่าตนมีหน้าที่ เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใด โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมหรือเงินนั้นหรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดเพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสีย หรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 มาตรา ๑๕๘
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสียหาย ทำลายซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 มาตรา ๓๕๒
ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1184 / 2505คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยเป็นปลัดอำเภอทำหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนอาวุธปืนส่งเจ้าหน้าที่เพื่อพิจารณาสั่งอนุญาตแล้วจึงเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ร้องขออนุญาตนั้น. หากรับคำขอจดทะเบียนและเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมไว้แล้วเบียดบังเงินค่าธรรมเนียมทั้งหมดเสีย และทำให้คำขอจดทะเบียนสูญหายไปบ้างบางส่วนนั้น จำเลยย่อมมีผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 หาผิดตามมาตรา 151,154,157,158,352 ด้วยไม่
คำพิพากษาย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 15 กันยายน 2501 ถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2501 จำเลยซึ่งเป็นปลัดอำเภอมีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนอาวุธปืนซึ่งทางราชการอนุญาตให้ผู้มีอาวุธปืนไม่จดทะเบียนเพื่อส่งเจ้าหน้าที่พิจารณาสั่งอนุญาตให้จดทะเบียนแล้วจึงเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ร้องขออนุญาตได้ จำเลยได้รับคำขอจดทะเบียนอาวุธปืนจากผู้มีชื่อไว้ 347 ราย แล้วไม่นำส่งเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่สั่งคำขอตามระเบียบ และจำเลยได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมในการขอจดทะเบียนสูญหายไป ทำให้เกิดเสียหายแก่ผู้ร้องขอ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 154, 157, 158, 352 ขอให้คืนหรือใช้เงินแก่เจ้าทรัพย์ด้วย
จำเลยให้การภาคเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยแสดงตนว่ามีหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากราษฎร ผู้มาขอจดทะเบียนอาวุธปืนโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้วยักยอกเงินและทำให้คำร้องขอจดทะเบียนสูญหายไป 218 รายพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 154, 157, 158, 352 รวมกระทงลงโทษจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนและใช้เงิน 33,325 บาท แก่เจ้าทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานโจทก์ขัดแย้งกันอยู่ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
อัยการโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษ
ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความรับฟังเชื่อเป็นความจริงได้โดยปราศจากข้อสงสัย เพราะนอกจากเงินค่าธรรมเนียมที่จำเลยกับนายสมบุญร่วมกันรับไว้จากราษฎรผู้ขอจดทะเบียนอาวุธปืนจำนวน 347 ราย จะขาดหายไปแล้ว คำขอก็สูญหายไปถึง 218 รายอีกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นชอบด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นแต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151, 154, 157, 158 และมาตรา 352 แล้ว รวมกระทงลงโทษจำคุกจำเลยมานั้นยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นว่าความผิดของจำเลยต้องด้วยมาตรา 147 เพียงมาตราเดียว
จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 คงให้จำคุกจำเลยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้พิพากษา
เชื้อ คงคากุล
ประกอบ หุตะสิงห์
จิตติ ติงศภัทิย์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!