นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 01:25:59
ปรับปรุงล่าสุด : วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 02:54:13
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 มาตรา ๓๓๔
ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 มาตรา ๓๓๕
ผู้ใดลักทรัพย์
(๑) ในเวลากลางคืน
(๒) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ
(๓) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ
(๔) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
(๕) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
(๖) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(๗) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(๘) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้นๆ
(๙) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถ หรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ
(๑๐) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
(๑๑) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
(๑๒) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไปผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ก็ได้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา ๓๔๑
ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 มาตรา ๓๕๗
ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกหรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำเพื่อค้ากำไรหรือได้กระทำต่อทรัพย์อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ (๑๐) ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดฐานรับของโจรนั้น ได้กระทำต่อทรัพย์ อันได้มาโดยการลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ ทวิ การชิงทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๙ ทวิ หรือการปล้นทรัพย์ตามมาตรา ๓๔๐ ทวิ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 6863 / 2543 (ประชุมใหญ่)
คำพิพากษาย่อสั้น
การกระทำของจำเลยที่กล่าวอ้างต่อผู้เสียหายว่าจะติดต่อให้ผู้เสียหายไถ่รถยนต์กระบะคืนจากคนร้าย และเรียกร้องเงินโดยอ้างเป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการจำนวน 3,500 บาท กับอ้างว่าคนร้ายต้องการค่าไถ่จำนวน50,000 บาท แต่ก็ไม่เกิดผลตามที่จำเลยอ้าง แม้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและให้จำเลยนำไปบ้านของผู้มีชื่อที่อ้างว่าเป็นที่ซ่อนรถยนต์กระบะก็ไม่พบ ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าเป็นการช่วยจำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไปอันจะทำให้จำเลยต้องมีความผิดฐานรับของโจรแต่พยานหลักฐานดังกล่าวรับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงผู้เสียหายเพื่อให้เงินแก่จำเลยและได้รับไปแล้ว จำนวน 3,500 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายลักรถยนต์กระบะของผู้เสียหายไป ต่อมาผู้เสียหายนำเจ้าพนักงานจับจำเลยได้ ทั้งนี้ ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุลักทรัพย์จำเลยเป็นคนร้ายลักรถยนต์กระบะของผู้เสียหายไป หรือมิฉะนั้นระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุลักทรัพย์ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยรับไว้ ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งรถยนต์กระบะคันดังกล่าวโดยจำเลยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 5 ปี ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อระหว่างกลางคืนวันที่ 25 ต่อเนื่องวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 มีคนร้ายลักรถยนต์กระบะของนายสมนึก สินไชย ผู้เสียหาย ไปจากบริเวณข้างบ้านพัก ต่อมาจำเลยได้กล่าวอ้างว่าสามารถติดต่อกับคนร้ายได้และเรียกเงินค่าใช้จ่ายจากผู้เสียหายและได้ไปจำนวนหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายและจำเลยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ในที่สุดผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รถยนต์กระบะคืน จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยดำเนินคดีนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายสมคิด รอดภัย ลูกจ้างของผู้เสียหายและพันตำรวจโทบรรลือ ชูเวทย์ สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองตรัง เป็นพยานเบิกความให้ข้อเท็จจริงต่อเนื่องกันว่า เมื่อรถยนต์กระบะของผู้เสียหายถูกลักไปจำเลยไปหานายสมคิดอาสาจะสืบหาให้ นายสมคิดจึงพาจำเลยไปพบผู้เสียหาย จำเลยบอกผู้เสียหายว่ารถยนต์กระบะที่ถูกลักไปอยู่ไม่ไกลจากบ้านของผู้เสียหาย ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยทราบว่าขอไถ่รถยนต์กระบะคืนจากคนร้ายหลังจากนั้นจำเลยเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายอ้างเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขอไถ่รถยนต์กระบะคืน ผู้เสียหายจ่ายเงินให้จำเลยไป 2 คราว รวมเป็นเงิน 3,500 บาท จำเลยแจ้งว่าคนร้ายต้องการค่าไถ่จำนวน 60,000 บาท ผู้เสียหายต่อรองเหลือ 30,000 บาท ต่อมาจำเลยแจ้งว่าคนร้ายลดค่าไถ่ให้เหลือ 50,000 บาท แต่ในที่สุดจำเลยก็แจ้งแก่ผู้เสียหายว่าจะไม่ยอมให้ผู้เสียหายไถ่รถยนต์กระบะเพราะไม่พอใจผู้เสียหายที่ให้นายอั้น รักษาชล กำนันในอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชช่วยสืบหารถยนต์กระบะด้วยผู้เสียหายจึงวางแผนให้จำเลยไปพบและแจ้งให้พันตำรวจโทบรรลือกับพวกทำการจับกุม ชั้นจับกุมจำเลยรับว่าร่วมกับพวกเป็นคนร้ายลักรถยนต์กระบะของผู้เสียหาย เห็นว่า จากพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่ปรากฏ โจทก์มิได้รถยนต์กระบะที่ถูกลักคืนจากคนร้าย คดีคงมีเพียงข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวอ้างต่อผู้เสียหายว่าจะติดต่อให้ผู้เสียหายไถ่รถยนต์กระบะคืนจากคนร้าย และเรียกร้องเงินโดยอ้างเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไปจากผู้เสียหาจำนวน 3,500 บาท กับอ้างว่าคนร้ายต้องการค่าไถ่จำนวน 50,000 บาท แต่ก็ไม่เกิดผลตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งแม้จำเลยถูกผู้เสียหายวางแผนให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย และให้จำเลยนำไปที่บ้านของนายไข่ขาว (ไม่ปรากฏชื่อสกุล) อยู่ที่บ้านควนสมบูรณ์ ตำบลท่าประจักษ์หรือท่าประจะ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจำเลยอ้างว่ารถยนต์กระบะของผู้เสียหายถูกนำไปซุกซ่อนไว้ ก็ไม่พบรถยนต์กระบะดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์เพียงเท่านี้จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้โดยสนิทใจว่า การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยจำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไป อันจะทำให้จำเลยต้องมีความผิดฐานรับของโจร แต่พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อให้เงินแก่จำเลยและจำเลยได้ไปแล้วจำนวน 3,500 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยปรับบทไว้ พยานจำเลยซึ่งนำสืบต่อสู้ในทำนองจำเลยเพียงแต่มีเจตนาช่วยเหลือผู้เสียหายนั้นขัดแย้งต่อเหตุผลและผิดวิสัยที่คนซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจะกล้าสอดเข้าไปเป็นตัวกลางระหว่างคนร้ายกับผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าไถ่รถยนต์กระบะดังกล่าวเพราะรังแต่จะเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดกับคนร้ายที่ลักรถยนต์กระบะของผู้เสียหายไป พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดโทษจำเลยเพียงจำคุก 6 เดือนปรับ 2,000 บาท และรอการลงโทษจำคุกให้นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า โทษดังกล่าวเบาไปไม่เหมาะสมแก่การกระทำของจำเลย จึงเห็นสมควรแก้ไขโทษที่ลงแก่จำเลยเสียใหม่และไม่รอการลงโทษจำคุกฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงเป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
ผู้พิพากษา
สมชาย จุลนิติ์
ระพินทร บรรจงศิลป
ชวลิต ตุลยสิงห์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!