มาตรา 352 | ประมวลกฎหมายอาญา |

 

ประมวลกฎหมาย
อาญา
ภาค ๒ ความผิด

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมวด ๕ ความผิดฐานยักยอก

หน้าก่อน

 

     มาตรา ๓๕๒  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

* มาตรา ๓๕๒  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๒ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา

 

คำอธิบาย

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 00:33:37
    วันที่ปรับปรุง : วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 00:33:37


    องค์ประกอบภายนอก
    1.ครอบครองทรัพย์
    2.ทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
    3.เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

    องค์ประกอบภายใน
    1.เจตนาธรรมดา
    2.เจตนาพิเศษ โดยทุจริต



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 เวลา 16:01:29
    วันที่ปรับปรุง : วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 20:22:11


    ครอบครองทรัพย์ หมายถึง ได้ยึดถือทรัพย์นั้นเพื่อตน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1367) คือผู้กระทำมิได้มีการยึดถือทรัพย์นั้นไว้กับตนตามสภาพความเป็นจริง และขณะเดียวกันก็มีเจตนายึดถือเพื่อตนด้วย การยึดถือไม่จำเป็นต้องถือไว้ในมือ เพียงอยู่ในอำนาจการคุ้มครอง ดูแลและสามารถใช้สอยทรัพย์นั้นได้ก็เป็นการครอบครองแล้ว ในความผิดฐานยักยอกนี้จะต้องปรากฏว่าผู้กระทำความผิดได้ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะมีการเบียดบังเอาทรัพย์นั้น

    ทรัพย์ หมายถึง จะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ แตกต่างจากความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ที่จะต้องเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น

    ข้อสังเกต ถ้าทรัพย์นั้นเป็นเพียงแต่อยู่ในความยึดถือของผู้กระทำ ส่วนการครอบครองอยู่กับเจ้าของหรือผู้อื่น ถ้าผู้กระทำผิดเอาทรัพย์ไปก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก แต่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง และเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

    ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คือ ทรัพย์ที่ยักยอกจะต้องเป็นของผู้อื่น หรือผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย หมายความว่า ทรัพย์จะต้องมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำผิดคนเดียว ถ้าผู้กระทำผิดได้กรรมสิทธ์ทั้งหมดในทรัพย์แล้วก็จะมีการยักยอกไม่ได้ ปัญหาข้อนี้มักจะเกิดจากการที่เจ้าของทรัพย์ส่งมอบการครอบครองให้ผู้อื่นตามนิติสัมพันธ์ทางแพ่งและเป็นปัญหาว่านิติสัมพันธ์นั้นถึงขั้นที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์แล้วหรือยัง

    เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม องค์ประกอบส่วนการกระทำในความผิดฐานยักยอก คือการเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือบุคคลที่สาม การเบียดบังมีความหมายกว้างกว่า "เอาไป" ในความผิดฐานลักทรัพย์ หมายถึง การกระทำหรืองดเว้นกระทำที่แสดงเจตนาของผู้ครอบครองทรัพย์ว่าจะเอาทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ การแสดงเจตนาดังกล่าวอันแสดงออกโดย การบริโภค ขาย เปลี่ยน แปลง จำนำ เอาทรัพย์รวมเข้ากับของตนหรือเพียงแต่ปฏิเสธสิทธิของเจ้าของที่แท้จริงก็เป็นการเบียดบังได้ และต้องเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่ใช่การกระทำที่เป็นแต่การทำลายทรัพย์ให้สูญสิ้นไป ทั้งนี้เพราะผู้กระทำผิดได้ครอบครองทรัพย์อยู่แล้ว เพียงแต่เจตนาทุจริตเอาทรัพย์ไว้เป็นของตนเมื่อใดก็เป็นการเบียดบัง แต่ลำพังการครอบครองทรัพย์เรื่อยมาโดยไม่ส่งคืนแก่เจ้าของตามสัญญายังไม่พอถือว่ามีการเบียดบัง เช่น โก่ง ขอยืมปืนของ ขาว โดยสัญญาว่าจะคืนให้ในเย็นวันนั้นปรากฏว่า โก่ง ไม่คืน คงครอบครองต่อมาอีก 8 เดือน โดย ขาว ก็ไม่ได้ทวงถาม เพียงเท่านี้ยังไม่ถือว่ามีการเบียดบัง

    เจตนา เจตนาตาม มาตรา 59

    โดยทุจริต เป็นเจตนาพิเศษตาม มาตรา 1(1) ดังนั้น การที่ผู้ครอบครองทรัพย์ปฏิเสธ ไม่ยอมคืนทรัพย์แก่เจ้าของ หากมีเหตุอันควร หรือเข้าใจผิดโดยสุจริต ก็ไม่ถือว่ามีเจตนาโดยทุจริตและไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

    อาญา-มาตรา-352




    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

คำพิพากษาศาลฎีกา

แสดงความคิดเห็น

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563 เวลา 22:06:01
    ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 01:56:36


    ซื้อรถหลุดจำนำ ถ้ารถที่เช่าซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อ (ไฟแนนซ์) ส่วนคนเช่าซื้อ เป็นเพียงผู้ครอบครอง จนกว่า จะชำระค่าเช่าซื้อหมดหมุนเงินไม่ทัน หันไปหาบ่อน หรือ คนรับจำนำรถ การนำรถที่กำลังเช่าซื้อ ไปจำนำ #โดยไฟแนนซ์ไม่ยินยอม ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เพราะมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ส่วนคนที่รับไว้ โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นทรัพย์ได้มาจากการกระทำความผิด จากการ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร เมื่อคนรับจำนำ รับซื้อไว้ จากคนที่ยักยอกมา ก็ย่อมมีความผิดฐานรับของโจร โจรนำมาขายต่อให้ท่าน ท่านรับไว้ ด้วยการซื้อ ก็ผิดฐานรับของโจร เช่นเดียวกัน เมื่อท่านรับของโจรไว้ ท่านจะอ้างอย่างไร ก็ฟังยาก เว้นแต่ท่านจะต่อสู้ว่า ไม่รู้ว่าเป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิด จากการ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ซึ่งคงแก้ตัวยากและฟังไม่ขึ้น เพราะขณะที่รับซื้อไว้ ท่านต้องรู้ว่าใครเป็นเจ้าของ เพราะต้องตรวจสอบจากสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ หากเป็นของคนอื่นไม่ใช่ของคนที่ขายให้ท่าน คนที่นำมาขายได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับความยินยอม จากเจ้าของที่แท้จริงหรือไม่ !!? แน่นอนล่ะ ผมเชื่อว่า ไฟแนนซ์ คงไม่ยอมให้ผู้เช่าซื้อนำรถที่เช่าซื้อมาขาย หรือ มาจำนำแน่นอน ดังนั้น ท่านรับซื้อมา จากบุคคลอื่นที่ยักยอกทรัพย์ของไฟแนนซ์มาด้วยแล้ว ท่านจึงต้องรับผิดฐานรับของโจร อีกคนด้วยแม้ท่านจะซื้อต่อๆมากี่ทอด หรือซื้อด้วยความสุจริตแค่ไหน ท่านก็ไม่อาจจะอ้างได้ เพราะเจ้าของที่แท้จริง ย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ (ประมวลกฎหมายแแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336) ซึ่งคนที่นำมาจำนำ ไม่มีสิทธิในตัวทรัพย์ คนรับไว้ ก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์นั้น ท่านรับของโจรมาก็ไม่มีสิทธิอ้าง เช่นกัน ภาษิตกฎหมาย กล่าวว่า "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน (ละติน:Nemo dat qui non habet," คดีตัวอย่างต่อไปนี้ เสียทั้งเงิน แถมเกือบจะติดคุกด้วย
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8865/2558
    การที่ ร. ได้รถยนต์พิพาทมาด้วยการกระทำความผิดฐานยักยอกซึ่งคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว ร. จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตแต่เป็นการซื้อจาก ร. ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่า ร. คือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาแทน

    สรุปสั้นๆว่า..
    1. ร.เป็นผู้เช่าซื้อ กับไฟแนนซ์ แล้วยักยอกรถที่เช่าซื้อ นำมาขายให้ จำเลยที่ 1
    2. ไฟแนนซ์ ฟ้องอาญา ร.ในข้อหายักยอก ซึ่งคดีถึงที่สุด
    3.จำเลยต่อสู้ว่า ซื้อมาจาก ร. โดยสุจริต (ไม่รู้ว่าเป็นของที่ยักยอกมา)
    4.ศาลพิพากษา ถึงจำเลยจะไม่รู้ และซื้อมาจาก ร. โดยสุจริต จำเลยก็ต้องคืนรถ หรือ ใช้ราคา ให้ไฟแนนซ์ เพราะแม้จำเลยที่ 1 จะซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตแต่เป็นการซื้อจาก ร. ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่า ร. คือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทด้วยเช่นกัน
    ( หลัก : ภาษิตกฎหมาย "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน(ละติน:Nemo dat qui non habet, ")
    5.สรุป จำเลยที่ 1 และ 2 ต้องคืนรถให้ไฟแนนซ์ไป แม้จะซื้อไว้โดยสุจริต
    6.เสียทั้งเงิน และเกือบเสียอนาคต
    7.ของฟรีไม่มีในโลก..

    ประมวลกฎหมายอาญา
    มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    มาตรา 357 "ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    ประมวลกฎหมายแแพ่งและพาณิชย์
    มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
    #ดังนั้นเมื่อสรุปความผิดของขบวนการรถหลุดจำนำ สามารถแจกแจงได้ดังนี้
    ผู้นำรถมาจำนำ - มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เนื่องจากไม่ได้รับความยินยอมจากไฟแนนซ์
    ผู้รับจำนำ - มีความผิดฐานรับของโจร เนื่องจากไฟแนนซ์แจ้งความหายไว้
    ผู้ซื้อรถจำนำ - มีความผิดฐานรับของโจรเช่นกัน



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 04:28:23
    ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 04:33:53


    ถ้าทรัพย์นั้นเป็นเพียงแต่อยู่ในความยึดถือของผู้กระทำ ส่วนการครอบครองอยู่กับเจ้าของหรือผู้อื่น ถ้าผู้กระทำผิดเอาทรัพย์ไปก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก แต่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง และเป็นความผิดฐานลักทรัพย์



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 04:37:29
    ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 04:37:29


    การที่นายจ้างมอบให้ลูกจ้างดูแลหรือใช้สอยทรัพย์สินของนายจ้าง ถือว่าการครอบครองยังอยู่กับนายจ้าง ลูกจ้างมีเพียงการยึดถือเท่านั้น [Perkins, Criminal Law, p. 244]



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 1 Online
» 18 Today
» 124 Yesterday
» 903 Week
» 4510 Month
» 201442 Year
» 1452847 Total
Record: 10208 (10.06.2023)
Free PHP counter