นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:16:47
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:17:51
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา ๑๔๙
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1749 / 2545คำพิพากษาย่อสั้น
พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์ของ ส. แล้วให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจประมาณ 30 นาที จึงเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีโดยนำผู้เสียหายออกมาโทรศัพท์หา ก. ภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงิน 3,000 บาท จากผู้เสียหายแล้ว จึงปล่อยผู้เสียหายไปนั้น เป็นกรณีไม่กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู ตำแหน่งพนักงานวิทยุงานป้องกันและปราบปราม มีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายอาญา และทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาได้จับกุมนายสถาพร ทองเงิน ในข้อหาลักทรัพย์ตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยตามกฎหมายแล้วเรียกให้นายสถาพรมอบเงิน 10,000 บาท แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยไม่นำตัวนายสถาพรส่งให้แก่พนักงานสอบสวนดำเนินคดีและปล่อยตัวนายสถาพรไปอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตทำให้นายสถาพรได้รับความเสียหายต้องยอมมอบเงิน 6,000 บาท และวิทยุติดตามตัว (แพคลิงค์) 1 เครื่อง ราคา 6,000บาท ให้แก่จำเลยไป ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมเงินส่วนหนึ่งที่จำเลยเรียกร้องเอาไปจากนายสถาพรเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149, 157 และคืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149,157 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 5 ปี ธนบัตรของกลางคืนเจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู ก่อนถูกจับกุมจำเลยได้จับกุมนายสถาพร ทองเงินผู้เสียหาย โดยกล่าวหาว่า ลักทรัพย์คาร์บูเรเตอร์รถจักรยานยนต์ของผู้อื่นและควบคุมตัวผู้เสียหายไว้ที่ห้องควบคุมสถานีตำรวจดังกล่าว ต่อมาจำเลยปล่อยผู้เสียหายไปโดยไม่ได้นำตัวส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี ในวันจับกุมจำเลยออกมารับเงิน 3,000 บาทจากนางกัณหา แซ่เล้า ภริยาผู้เสียหายที่บริเวณด้านหลังสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูจึงถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (สำนักงาน ป.ป.ป.) และเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามจับกุมพร้อมยึดธนบัตรฉบับละ 500 บาท 6 ฉบับ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยเป็นของกลาง คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์คาร์บูเรเตอร์ของผู้อื่นอันเป็นการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายและนางกัณหาพยานโจทก์ว่า เมื่อผู้เสียหายลงลายมือชื่อในแผ่นกระดาษแบบพิมพ์ซึ่งไม่ได้กรอกข้อความแล้ว จำเลยบอกว่าผู้เสียหายกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์ต้องจับกุมดำเนินคดี หากประสงค์ให้จำเลยช่วยเหลือเพื่อไม่ถูกดำเนินคดี ผู้เสียหายต้องจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้แก่จำเลย หากผู้เสียหายไม่จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวก็ต้องส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี จากนั้นจำเลยนำผู้เสียหายไปควบคุมในห้องควบคุมนานประมาณ 30 นาที จึงพาผู้เสียหายออกมาและให้ผู้เสียหายโทรศัพท์ไปแจ้งให้นางกัณหามาพบที่สถานีตำรวจ เมื่อนางกัณหามาพบผู้เสียหายเล่าให้ฟังว่า ถูกจำเลยจับกุมข้อหาลักทรัพย์และจำเลยต้องการเงิน 10,000 บาท ให้นางกัณหาไปหาเงินมาให้จำเลย นางกัณหานำเครื่องรับโทรทัศน์ไปจำนำได้เงิน 3,000 บาท แล้วนำไปให้ผู้เสียหาย ผู้เสียหายส่งมอบเงิน 3,000 บาท ให้จำเลยรับไปแต่ยังไม่ครบตามที่ต้องการ จำเลยจึงยึดวิทยุติดตามตัวของผู้เสียหายไว้เป็นประกันและจะคืนให้เมื่อได้รับเงินส่วนที่เหลือ จากนั้นจำเลยจึงปล่อยผู้เสียหายพร้อมกับให้หมายเลขโทรศัพท์ห้องพักจำเลยแก่ผู้เสียหายไว้สำหรับติดต่อ วันรุ่งขึ้นผู้เสียหายนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ไปจำนำกับเพื่อนได้เงิน 3,000 บาท จึงโทรศัพท์นัดให้จำเลยมารับเงินที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู แต่จำเลยไม่มาตามนัด ต่อมาผู้เสียหายไปร้องเรียนจำเลยต่อนายซาเล็ม อุสตัส เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ นายซาเล็มรับเรื่องร้องเรียนแล้วได้ประสานงานกับร้อยตำรวจเอกยุทธ กล่ำกล่อมจิตร เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปราม แล้วร่วมกันวางแผนจับกุมจำเลยโดยนำธนบัตรฉบับละ 500 บาท 6 ฉบับ มาให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อและทำตำหนิไว้ที่ด้านหน้าและด้านหลังของธนบัตร แล้วนำไปถ่ายสำเนาไว้ จากนั้นผู้เสียหายโทรศัพท์นัดหมายให้จำเลยมารับเงินโดยให้นางกัณหาเป็นผู้นำเงินไปให้จำเลยจนกระทั่งจับกุมจำเลยได้พร้อมธนบัตรของกลางดังกล่าว เห็นว่า จำเลยจับกุมผู้เสียหายได้ที่บริเวณลานจอดรถสถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู หากจำเลยมีเจตนาสุจริตก็น่าจะนำตัวผู้เสียหายพร้อมบันทึกการจับกุม ส่งมอบให้แก่ร้อยตำรวจเอกยุทธภูมิกิตติทรงภพ ซึ่งเข้าเวรสอบสวนอยู่ในขณะนั้น แต่จากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกยุทธภูมิมิได้ความว่า ในวันดังกล่าวพยานเข้าเวรสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูตั้งแต่เวลา 0.00 นาฬิกา จนถึง 6 นาฬิกา ในช่วงนั้นมีผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่14 คน แต่ไม่มีชื่อผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย การที่จำเลยไม่นำตัวผู้เสียหายพร้อมบันทึกการจับกุมส่งมอบให้แก่ร้อยตำรวจเอกยุทธภูมิดังกล่าวย่อมเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งผู้เสียหายและนางกัณหาเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหาย โดยนางกัณหาได้นำเครื่องรับโทรทัศน์ไปจำนำได้เงิน 3,000 บาท แล้วนำไปให้ผู้เสียหายที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลู และผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยแต่ยังไม่ครบจำนวนตามที่จำเลยต้องการ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าผู้เสียหายเคยถูกดำเนินคดีข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูก็ตาม แต่ในเอกสารฉบับนี้ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าจำเลยเป็นผู้จับกุมผู้เสียหาย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้เสียหายเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยเพราะเหตุถูกดำเนินคดีดังกล่าวถึงขนาดกลั่นแกล้งให้จำเลยต้องได้รับโทษในคดีนี้ เชื่อได้ว่าผู้เสียหายและนางกัณหาเบิกความตามความจริง พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์คาร์บูเรเตอร์ของนายสุริยา แซ่ซิ้ม แล้วให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ในห้องควบคุมที่สถานีตำรวจนครบาลตลาดพลูประมาณ 30 นาที จึงนำผู้เสียหายออกมาให้โทรศัพท์ไปหานางกัณหาภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงินจำนวน 3,000 บาท ไปจากผู้เสียหายแล้วจึงปล่อยผู้เสียหาย รับฟังได้ว่า การที่จำเลยปล่อยผู้เสียหายไปดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้เสียหายไปหาเงินมาให้จำเลยจนครบตามจำนวนที่จำเลยต้องการ สำหรับนายซาเล็มและร้อยตำรวจเอกยุทธพยานโจทก์ทั้งสองแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นว่าจำเลยเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเป็นการแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวผู้เสียหายก็ตาม แต่หลังจากนายซาเล็มได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายแล้วได้ประสานงานกับร้อยตำรวจเอกยุทธเพื่อวางแผนจับกุมจำเลย ต่อมาจับกุมจำเลยได้พร้อมธนบัตรของกลางฉบับละ 500 บาท 6 ฉบับ ซึ่งผู้เสียหายลงลายมือชื่อและทำตำหนิไว้ในด้านหน้าและด้านหลังตามที่วางแผนไว้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่า จำเลยได้เรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายในความผิดข้อหาลักทรัพย์ อันเป็นกรณีไม่กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 ดังฟ้อง ที่จำเลยนำสืบอ้างว่า ปล่อยผู้เสียหายไปเพื่อให้ผู้เสียหายไปหาเงินมาชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายสุริยา แซ่ซิ้ม เจ้าของคาร์บูเรเตอร์รถจักรยานยนต์ที่กล่าวหาผู้เสียหายว่าเป็นผู้ถอดเอาไปจากรถจักรยานยนต์ของนายสุริยาซึ่งขณะนั้นต้องขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ตลอดจนการรับเงิน 3,000 บาท จากนางกัณหาเป็นการรับไว้แทนนายสุริยา โดยมีนายสุริยามาเบิกความสนับสนุนนั้น หากเป็นความจริงจำเลยก็น่าจะได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน แต่จำเลยก็หาได้ให้การไว้ไม่ ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการแสร้งแต่งเรื่องขึ้นในภายหลังเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากความผิด ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดตามมาตรา 157 มาด้วย โดยเห็นว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 149 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 ที่เป็นบททั่วไปอีก แม้การกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 157 ด้วยก็ตาม ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เพียงบทเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
ชวลิต ตุลยสิงห์
ดวงมาลย์ ศิลปอาชา
สมชาย จุลนิติ์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!