นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 06:07:47
ปรับปรุงล่าสุด : วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 06:18:21
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา ๙๐
เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 93 มาตรา ๙๓
ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดที่จำแนกไว้ในอนุมาตราต่อไปนี้ซ้ำในอนุมาตราเดียวกันอีก ในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายในเวลาสามปีนับแต่วันพ้นโทษก็ดี ถ้าความผิดครั้งแรกเป็นความผิดซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่น้อยกว่าหกเดือน หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง
(๑) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๓๕
(๒) ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๖ ถึงมาตรา ๑๔๖
(๓) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗ ถึงมาตรา ๑๖๖
(๔) ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๗ ถึงมาตรา ๑๙๒ และมาตรา ๑๙๔
(๕) ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๐ ถึงมาตรา ๒๐๔
(๖) ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๐๙ ถึงมาตรา ๒๑๖
(๗) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๗ ถึงมาตรา ๒๒๔ มาตรา ๒๒๖ ถึงมาตรา ๒๓๔ และมาตรา ๒๓๖ ถึงมาตรา ๒๓๘
(๘) ความผิดเกี่ยวกับเงินตรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๔๐ ถึงมาตรา ๒๔๙ ความผิดเกี่ยวกับดวงตราแสตมป์และตั๋ว ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๐ ถึงมาตรา ๒๖๑ และความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖๔ ถึงมาตรา ๒๖๙
(๙) ความผิดเกี่ยวกับการค้า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๐ ถึงมาตรา ๒๗๕
(๑๐) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ ถึงมาตรา ๒๘๕
(๑๑) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๐ และมาตรา ๒๙๔ ความผิดต่อร่างกายตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๒๙๙ ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๑ ถึงมาตรา ๓๐๓ และความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วย เจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๖ ถึงมาตรา ๓๐๘
(๑๒) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๐๙ มาตรา ๓๑๐ และมาตรา ๓๑๒ ถึงมาตรา ๓๒๐
(๑๓) ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ถึงมาตรา ๓๖๕ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184 มาตรา ๑๘๔
ผู้ใดเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199 มาตรา ๑๙๙
ผู้ใดลอบฝัง ซ่อนเร้น ย้ายหรือทำลายศพหรือส่วนของศพเพื่อปิดบังการเกิด การตายหรือเหตุแห่งการตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 มาตรา ๒๐๐
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้นเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1202 / 2520คำพิพากษาย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 232 ที่บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึงห้ามโจทก์อ้างตัวจำเลยเป็นพยานของโจทก์เท่านั้น ฉะนั้นถึ้งแม้ร้อยเอกจุลจะเคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยทั้งสามมาก่อน ศาลก็ได้สั่งให้แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีที่ร้อยเอกจุลเคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยทั้งสาม โจทก์จึงอ้างร้อยเอกจุลเป็นพยานได้ โดยขณะที่ร้อยเอกจุลเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ ร้อยเอกจุลมิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย
การที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิด ได้ทราบแล้วว่านายเซ่งเป็นคนยิงนายชาญตาย แต่ไม่ทำการจับกุมอันเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 200 ทั้งยังร่วมกันขนย้ายศพนายชาญผู้ตายไปทิ้งเพื่อปิดบังการตายอันเป็นความผิดตามมาตรา 199 นอกจากนี้ยังร่วมกันโกยเลือดนายชาญไปทิ้งที่อื่นอันเป็นความผิดฐานทำลายพยานหลักฐาานในการกระทำผิดตาม มาตรา 184 เช่นนี้ แม้การกระทำของจำเลยทั้งสามจะเป็นการกระทำหลายอย่าง แต่ก็ด้วยเจตนาอันเดียวกัน คือ เพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษและเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นกรรมเดียวกัน แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง มีอำนาจสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทำผิดอาญา จำเลยที่ 2 เป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่และเป็นพนักงานสอบสวนจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าสถานีตำรวจกิ่งอำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2512 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 9 มกราคม 2516 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยทั้งสามได้ประสพเหตุรู้ว่านายเซ่งจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 334/2516 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 6 (ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด) ใช้อาวุธปืนยิงนายชาญตาย จำเลยมีอำนาจจับกุม สืบสวนสอบสวน แต่จำเลยร่วมกันละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ ไม่จับกุมนายเซ่งและไม่ทำการสืบสวน สอบสวน ดำเนินคดี ทำให้เกิดความเสียหายแก่นางพรมและประชาชนตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสามกับร้อยเอกจุลซึ่งศาลพิพากาาลงโทษไปแล้วกับพวกอีกหลายคน ร่วมกันยักย้ายทำลายศพนายชาญโดยเอาศพบรรทุกรถยนต์ไปทิ้งในเขตอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร เพื่อปิดบังการตาย เพื่อช่วยเหลือนายเซ่งมิให้ต้องรับโทษ และจำเลยทั้งสามกับร้อยเอกจุลได้ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้นและทำให้สูญหายซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำผิดของนายเซ่ง โดยร่วมกันขุดโกยเอาโลหิตของนายชาญที่พื้นดินหน้าชุดคุ้มครองหมู่บ้านดงบังไปทิ้งที่อื่น แล้วเอาดินมากลบเพื่อช่วยเหลือนายเซ่งมิให้ต้องรับโทษ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 184, 199, 200 และ 93 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 13
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 184, 199, 200 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 13 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 157 อันเป็นบทหนัก ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาใน (ปัญหา) ข้อเท็จจริงได้
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามที่จำเลยฎีกาว่าร้อยเอกจุลถูกฟ้องมาในคดีเดียวกับจำเลยทั้งสาม แต่โดยที่ร้อยเอกจุลรับสารภาพ ศาลจึงสั่งให้แยกฟ้องจำเลยทั้งสามที่ให้การปฏิเสธเป็นคดีนี้เสียใหม่ จึงเท่ากับเป็นคดีเดียวกัน โจทก์จึงอ้างร้อยเอกจุลเป็นพยานและนำสืบไม่ได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 ที่บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึงห้ามโจทก์อ้างตัวจำเลยเป็นพยานของโจทก์เท่านั้นถึงแม้ร้อยเอกจุลจะเป็นผู้ที่เคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยทั้งสามมาก่อนก็ตาม ก็มิใช่ตัวจำเลยในคดีที่โจทก์ประสงค์จะอ้างเป็นพยาน เพราะศาลได้สั่งให้แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ต่างหาก จากคดีที่ร้อยเอกจุลเคยถูกฟ้องร่วมกับจำเลยทั้งสามแล้ว โจทก์จึงอ้างร้อยเอกจุลเป็นพยานได้ไม่ต้องห้าม โดยขณะที่ร้อยเอกจุลเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ ร้อยเอกจุลมิได้อยู่ในฐานะเป็นจำเลย กรณีไม่ต้องห้ามตามมาตรา 232 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าร้อยเอกจุลผู้นี้ยังไม่มีการสอบสวนในฐานะพยาน ย่อมอ้างเป็นพยานไม่ได้นั้น เห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดเลยที่บัญญัติไว้เช่นนั้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจสืบสวนสอบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดได้ทราบแล้วนายเซ่งเป็นคนยิงนายชาญตาย แต่ไม่ทำการจับกุมอันเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 รวมทั้งสมคบร่วมกันขนย้ายศพนายชาญผู้ตายไปทิ้งเพื่อปิดบังการตายอันเป็นความผิดตามมาตรา 199 นอกจากนี้จำเลยทั้งสามยังสมคบร่วมกันโกยเลือดนายชาญไปทิ้งที่อื่น อันเป็นความผิดฐานทำลายพยานหลักฐานในการกระทำผิดตามมาตรา 184 ก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า แม้การกระทำผิดของจำเลยทั้งสามจะเป็นการกระทำหลายอย่าง แต่ก็ด้วยเจตนาอันเดียวกัน คือ เพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษ และเป็นกระทำต่อเนื่องกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นกรรมเดียวกัน แต่เป็นผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งบัญญัติให้ใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดแก่ผู้กระทำผิด แต่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้งสามมีคุณงามความดีและไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกมาก่อน จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำเลยทั้งสามไว้มีกำหนดคนละ 3 ปี
ผู้พิพากษา
ประภาศน์ อวยชัย
รัตน์ ศรีไกรวิน
ชลูตม์ สวัสดิทัต
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 02:08:03
ปรับปรุงล่าสุด : วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 02:08:03
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 60 มาตรา ๖๐
ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่ กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคล หรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำกฎหมายนั้น มาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา ๙๐
เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 มาตรา ๒๘๘
ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มาตรา ๒๙๕
ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มาตรา ๓๗๑
ผู้ใดพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย หรือโดยไม่มีเหตุสมควร หรือพาไปในชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการ การรื่นเริงหรือการอื่นใด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 205 / 2516คำพิพากษาย่อสั้น
ผู้ตาย ผู้เสียหาย และจำเลย ร่วมดื่มสุราด้วยกันจนเมาแล้วผู้ตายกับจำเลยทะเลาะกัน ผู้เสียหายจึงชวนจำเลยกลับบ้าน ผู้ตายตามมาต่อยและเตะจำเลยจนล้ม ลุกขึ้นก็ยังถูกเตะอีก เมื่อผู้ตายเตะ จำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมที่ติดตัวไปแทงสวนไปสองสามครั้ง ถูกผู้ตาย ระหว่างนั้นผู้เสียหายเข้าขวางเพื่อห้าม จึงถูกมีดได้รับบาดเจ็บ ส่วนผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยต่อผู้ตายเป็นการกระทำโดยป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แม้จะพลาดไปถูกผู้เสียหายเข้าด้วย ซึ่งตามมาตรา 60 ประมวลกฎหมายอาญา จะถือว่าจำเลยมีเจตนาแทงผู้เสียหายก็ดี แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิ พอสมควรแก่เหตุอันไม่เป็นความผิด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายด้วย
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลมไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรแล้วใช้มีดนั้นแทงนายกำพล ศรีบัว ถึงแก่ความตายและแทงนายสุเทพ ทรงวิรัชธร ผู้เสียหาย ถูกที่ใต้ไหปลาร้าขวาได้รับบาดเจ็บ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 295, 371, 90, 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด จำเลยคงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย และฐานพาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรให้ลงโทษตามมาตรา 295 ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุด
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันและศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 เบาไป
ศาลอุทธรณ์คงเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยแทงผู้ตายเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ และวินิจฉัยความผิดตามมาตรา 295 ต่อไปว่า บาดแผลของผู้เสียหายอาจเกิดจากถูกมีดเอง โดยจำเลยมิได้แทงก็ได้ หรือหากเกิดจากแทงพลาดก็ถือว่าขาดเจตนาอีกทั้งเป็นกรณีเกิดจากการป้องกันตัวโดยชอบด้วย จำเลยไม่มีความผิด คงมีความผิดฐานพาอาวุธไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อหาฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเพียงฐานเดียว
ศาลฎีกาเห็นว่า คืนเกิดเหตุ จำเลยกับผู้เสียหายพากันไปบ้านงานบวชนาคและจำเลยกับผู้ตายเกิดโต้เถียงกัน ผู้เสียหายจึงชวนจำเลยกลับ มาได้ประมาณ 10 เมตร ผู้ตายตามมาเรียกให้หยุด แล้วต่อยเตะจำเลย จำเลยล้มลง ลุกขึ้นก็ยังถูกเตะอีก เมื่อผู้ตายเตะ จำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมที่ติดตัวแทงสวนไป กระทำอยู่เช่นนี้ 2-3 ครั้ง ระหว่างนั้นผู้เสียหายเข้าขวางเพื่อห้าม จึงถูกมีดได้รับบาดเจ็บการที่ผู้เสียหายถูกแทงนั้น จำเลยไม่มีเจตนาแทงผู้เสียหายโดยตรงแม้ตามมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จะถือว่าจำเลยมีเจตนาแทงผู้เสียหายก็ดี แต่การกระทำของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยแทงผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิพอสมควรแก่เหตุ อันไม่เป็นความผิดแม้ผลของการกระทำอาจเกิดแก่ผู้เสียหายโดยพลาดไป ก็ต้องถือว่าการกระทำโดยพลาดไปนั้น เป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยพอสมควรแก่เหตุเช่นเดียวกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ผู้พิพากษา
ธวัช สิทธิชัย
บุณยเกียรติ อรชุนะกะ
รัตน์ ศรีไกรวิน
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 19:11:29
ปรับปรุงล่าสุด : วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 19:11:29
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา ๙๐
เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 มาตรา ๑๖๒
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสาร หรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการดังต่อไปนี้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่
(๑) รับรองเป็นหลักฐานว่า ตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ
(๒) รับรองเป็นหลักฐานว่า ได้มีการแจ้งซึ่งข้อความอันมิได้มีการแจ้ง
(๓) ละเว้นไม่จดข้อความซึ่งตนมีหน้าที่ต้องรับจด หรือจดเปลี่ยนแปลงข้อความเช่นว่านั้น หรือ
(๔) รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 4392 / 25314392-4393/2531
จําเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ไม่ออกไปตรวจสอบไม้ในที่ดิน น.ส.3 เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งต่อเนื่องกับการที่จําเลยลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจสอบได้รับรองว่าตนได้ไปตรวจสอบแล้ว อันเป็นความเท็จ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (1) โดยจําเลยมีเจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายในคราวเดียวกัน ดังนั้นเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษที่หนักที่สุด ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:46:16
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:46:16
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา ๘๓
ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา ๙๐
เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 มาตรา ๑๔๘
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา ๑๔๙
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2906 / 2517คำพิพากษาย่อสั้น
เมื่อตามพฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด ข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลย โดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุม มิใช่ว่าจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมโดยชอบด้วยอำนาจในตำแหน่ง แล้วเรียกเอาเงินเพื่อไม่ให้นำตัวโจทก์ร่วมไปส่งให้พนักงานสอบสวนตามหน้าที่เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 148 หาใช่ความผิดตามมาตรา 149 ไม่
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 148 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีอำนาจหน้าที่ป้องกันปราบปรามและจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย ได้ร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบข่มขืนใจผู้เสียหายทั้งห้าว่าทำการประมงจับปลาชายฝั่งอันเป็นเขตหวงห้ามด้วยอวนรุนอันเป็นความผิดจะต้องจับกุม ถ้าไม่ให้จำเลยจับกุมก็ต้องมอบเงินให้จำเลย 100 บาทต่อเรือจับปลา 1 ลำ ซึ่งความจริงผู้เสียหายไม่ได้กระทำผิดกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด แต่เพราะกลัวถูกจับจึงได้มอบเงินให้จำเลยไปตามที่จำเลยเรียกร้อง อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายทั้งห้าเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148, 157, 83 ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 148 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยคนละ 6 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในเขตท้องที่ห้ามใช้อวนรุนจับสัตว์น้ำ คืนเกิดเหตุได้ไปพบโจทก์ร่วมทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าของเรือประมงใช้อวนรุนรวม 6 ลำที่จอดอยู่ชายฝั่งทะเลที่เกิดเหตุจึงพูดกับโจทก์ร่วมว่า คืนนี้จะมาจับเรืออวนรุนในเขตหวงห้าม โจทก์ร่วมขอร้องไม่ให้จับกุม จำเลยว่าถ้าไม่ให้จับก็ให้เอาเงินมา โจทก์ร่วมจึงต่างรวบรวมเงินมอบให้จำเลยทั้งสองรับไปจำนวน 600 บาท แล้วจำเลยได้ทำบันทึกข้อความว่า ได้ตรวจพบและสงสัยว่ามีการกระทำผิดพระราชบัญญัติการประมง จับสัตว์น้ำในเขตหวงห้ามอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของกระทรวงเกษตร จึงได้ว่ากล่าวตักเตือนและห้ามมิให้โจทก์ร่วมกระทำผิดอีก
วินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะใช้อำนาจในตำแหน่งเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดข่มขืนใจให้โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลยโดยขู่ว่าถ้าไม่ให้เงินก็จะจับกุมฐานจับปลาโดยใช้อวนรุน มิใช่ว่าจำเลยจับกุมโจทก์ร่วมโดยชอบด้วยอำนาจในตำแหน่ง แล้วเรียกเอาเงินเพื่อไม่ให้นำตัวโจทก์ร่วมไปส่งให้พนักงานสอบสวนตามหน้าที่ ที่จำเลยกล่าวแก่โจทก์ร่วมว่าจะมาจับเรือที่ใช้อวนรุนในเขตหวงห้ามนั้น จึงเป็นแต่เพียงแกล้งกล่าวหาขึ้นเพื่อจะเรียกเอาเงินเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา 148 ตามฟ้อง เพียงแต่ว่าเมื่อเป็นความผิดตามมาตรา 148 อันเป็นบทเฉพาะแล้วจำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก การกระทำของจำเลยหาใช่ความผิดตามมาตรา 149 ดังที่จำเลยฎีกาไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 6 ปี
ผู้พิพากษา
แผ้ว ศิวะบวร
สัญชัย สัจจวานิช
สนิท บริรักษ์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:05:24
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:06:54
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา ๙๐
เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา ๑๔๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา ๑๕๗
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 มาตรา ๑๕๘
ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ทำให้เสียหาย ทำลายซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ หรือเอกสารใดอันเป็นหน้าที่ของตนที่จะปกครองหรือรักษาไว้หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2175 / 2529คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีคำสั่งกองกำกับการตำรวจภูธรที่จำเลยสังกัดกำหนดให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างซ่อมแซมสถานที่ราชการและมีหน้าที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างเขียนใบเสร็จรับเงินเสนอรองผู้กำกับการตำรวจภูธรต้นสังกัดลงชื่อเป็นผู้รับเงินและนำเงินที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างได้ส่งมอบแก่สมุห์บัญชีกองกำกับการฯเพื่อส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไปจำเลยมิได้นำเงินที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างได้จำนวน 7,600 บาทส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามระเบียบจนพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบและแนะนำให้จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งคลังจำเลยจึงปฏิบัติตามพฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริตเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157,158 แต่เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของมาตรา 157 แล้วการกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157,158
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 157,158 แต่การกระทำของจำเมาตรา 147,157,158 แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 5 ปี จำเลยชดใช้เงินคืนแล้วเป็นการบรรเทาผลร้ายเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน จึงเป็นคดีที่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติงานตามคำสั่งกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย ที่ 72/2523โดยเฉพาะข้อ 9.9 กำหนดให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ตลอดจนการซ่อมแซมสถานที่ราชการ และผู้บังคับบัญชามอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้าง ตลอดจนเป็นผู้เขียนใบเสร็จรับเงินนำเสนอรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลยลงชื่อเป็นผู้รับเงินและนำเงินที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างนั้นส่งมอบแก่สมุห์บัญชีกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเลย เพื่อส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไปด้วย ต่อมาพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบพบว่าเงินค่าจำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างรวมเป็นเงิน 7,600 บาทจำเลยยังมิได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามระเบียบของทางราชการพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และเบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริต เมื่อพนักงานตรวจเงินแผ่นดินแนะนำให้จำเลยนำเงินส่งคลัง จำเลยก็จัดการนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งคืนเป็นรายได้ของแผ่นดินในภายหลัง ที่จำเลยฎีกาอ้างเป็นข้อกฎหมายว่า จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างและรับเงินค่าจำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน และการที่จำเลยไม่นำเงินค่าจำหน่ายแบบแปลนการก่อสร้างส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินก็เพราะหาใบเสร็จรับเงินไม่พบ จำเลยจึงเก็บเงินนั้น เมื่อพนักงานตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบและแนะนำให้จำเลยเอาเงินส่งคลัง จำเลยก็ได้จัดการนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินจนครบ จำเลยมิได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและไม่มีเจตนาเบียดบังทรัพย์ดังกล่าวเป็นของตนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาของจำเลยล้วนเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาทั้งสิ้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับลงโทษจำเลยว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147,157,158 ลงโทษตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำนั้นก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นทั่วไปอีก ปัญหาเรื่องการปรับบทมาตราลงโทษจำเลยนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
ไพจิตร วิเศษโกสิน
อาจ ปัญญาดิลก
ดำรง สายเชื้อ
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 18:47:27
ปรับปรุงล่าสุด : วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 18:47:27
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 มาตรา ๙๐
เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 4730 / 2553โจทก์บรรยายฟ้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) ซึ่งถือเอาผลของการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 1 กันยายน 2549 เป็นเลขถูกรางวัลสลากกินรวบ และจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันสลากกินรวบ (หวยหุ้น) ซึ่งถือเอาเลขท้าย 2 ตัว ระหว่างจุดทศนิยมของดัชนีหุ้นเวลาเปิดและปิดตลาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย งวดประจำวันที่ 1 กันยายน 2549 เป็นเลขถูกรางวัลสลากกินรวบ เมื่อข้อหาความผิด ตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษา โดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริง ย่อมรับฟังเป็นยุติได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง ซึ่งการที่จำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) โดยถือผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเลขถูกรางวัลสลากกินรวบ และจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันสลากกินรวบ (หวยหุ้น) ซึ่งถือเอาเลขท้าย 2 ตัว ระหว่างจุดทศนิยมของดัชนีหุ้นเวลาเปิดและปิดตลาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นเลขถูกรางวัลสลากกินรวบเป็นการกระทำความผิดซึ่งอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้แม้จำเลยจะเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ในการเล่นการพนันสลากกินรวบ (หวยใต้ดิน) และการเล่นการพนันสลากกินรวบ (หวยหุ้น) ในคราวเดียวกัน และเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายเดียวกันก็ตาม การกระทำความผิดของจำเลยตามที่ปรากฏในคำฟ้องจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งจะต้องลงโทษจำเลยเพียงแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ไม่
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!