มาตรา 59 | ประมวลกฎหมายอาญา |

 

ประมวลกฎหมาย
อาญา
ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป

ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

หมวด ๔ ความรับผิดในทางอาญา

หน้าก่อน

 

     มาตรา ๕๙  บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา

    กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น

    ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้

    กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่

    การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา

 

คำอธิบาย

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 01:49:16
    วันที่ปรับปรุง : วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 01:49:16


    การวินิจฉัยความรับผิดในทางอาญา สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ
    1. ต้องมีการกระทำ
    2. การกระทำนั้น ครบทั้ง องค์ประกอบภายนอก และ องประกอบภายใน ของความผิดในเรื่องนั้นๆ
    3. เป็นไปตามหลักเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล
    4. ไม่มีกฎหมาย ยกเว้นความผิด และ ไม่มีกฎหมาย ยกเว้นโทษ





  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:13:58
    วันที่ปรับปรุง : วันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:13:58


    ความหมาย กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ที่ศาลฎีกาวางหลักไว้มีว่าอย่างไร
    กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ได้แก่ การกระทำโดยไม่จงใจ แต่ผู้กระทำได้ กระทำโดยขาดความระมัดระวังตามสมควร คือ เป็นการกระทำที่อยู่ในลักษณะที่ บุคคลผู้มีความระมัดระวังไม่กระทำด้วย เพราะฉะนั้นการที่เขาทำไป ถือว่าเป็น การกระทำที่ขาดความระมัดระวัง เรียกว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ แล้ว เมื่อเปรียบกับคำว่า “ประมาท” ตามที่ ปอ.มาตรา ๕๙ วรรคสี่ ว่า “กระทำ โดยประมาท ได้แก่ กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจาก ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และ ผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
    มีปัญหาว่าประมาทเลินเล่อในทางแพ่งกับประมาทในทางอาญา เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร ในเรื่องนี้ศาสตราจารย์ประมูล สุวรรณศร ได้ อธิบายว่า “ความจริงประมาทในทางอาญากับประมาทเลินเล่อในทางแพ่งนั้น ว่า ตามทฤษฎีระดับไม่เท่ากัน กล่าวคือประมาทเลินเล่อในทางแพ่งนั้นเพ่งอยู่ที่การ ทำให้เกิดความเสียหายโดยไม่ระมัดระวังตามที่คนธรรมดาควรจะระวังเท่านั้น ส่วนประมาทในทางอาญานั้นเพ่งถึงการไม่ระมัดระวังถึงขนาดที่จะเป็นภัยแก่ ชุมชน กฎหมายทางอาญาจึงหาทางป้องกันโดยกำหนดโทษไว้ ฉะนั้นประมาท เลินเล่อในทางแพ่งอาจจะไม่ถึงขนาดที่จะเป็นความผิดทางอาญาก็ได้
    แต่ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ มีความเห็นต่างไปโดยอธิบายว่า “แต่ ในทางแพ่งอาจมีความระวังที่ต้องใช้หลายขนาดแตกต่างกันแล้วแต่กรณี ที่ กฎหมายบัญญัติไว้ให้ใช้ความระวังขนาดใด อาจต้องรับผิดในอุบัติเหตุ หรือต้องระมัดระวังอย่างวิญญชน หรือ ระมัดระวังอย่างที่เคยประพฤติในกิจการของตนเองหรืออย่างวิญญูชนใน พฤติการณ์เช่นเดียวกัน รวมทั้งการใช้ฝีมือพิเศษในพฤติการณ์เช่นเดียวกัน หรือในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างเดียวกันนั้น



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:19:03
    วันที่ปรับปรุง : วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:19:03


    ...ท่านศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายเรื่องเจตนาโดยอ้อม ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ วรรค ๒ ว่า เจตนาโดยอ้อม หมายถึงการที่ผู้กระทำ " ย่อมเล็งเห็นผล " ของการกระทำ ผู้กระทำอาจไม่ประสงค์ให้เกิดผลอันทำให้การกระทำนั้นเป็นความผิดที่เกิดขึ้น แต่ถ้าผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลนั้นแล้ว ก็ต้องถือว่าผู้กระทำมีเจตนาดุจเดียวกับได้กระทำโดยประสงค์ต่อผลที่เล็งเห็นนั้นด้วยเหมือนกัน โดยได้อธิบายต่อไปว่า
    ...การกระทำเป็นเครื่องชี้เจตนา ( ฎีกาที่ ๑๐๖๐/๒๔๘๐ )
    ...จำเลยทีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายหรือไม่ อาจทราบได้จากการกระทำของจำเลยเอง ( ฎีกาที่ ๑๓๓๔/๒๕๑๐ )
    ...จำเลยใช้ขวานฟันศีรษะผู้ตายอย่างแรง กระโหลกแตก โลหิตไหล แพทย์ไม่สามารถห้ามเลือดได้ นับได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า จำเลยไม่ฟันซ้ำและอุ้มผู้ตายไปที่ถนน รอขึ้นรถประจำทางไปโรงพยาบาล เป็นเหตุการณ์ภายหลังซึ่งจำเลยทำไปโดยสำนึกในความผิด ไม่ทำให้การกระทำโดยเจตนาฆ่าก่อนหน้านั้นกลายเป็นขาดเจตนาฆ่า ( ฎีกาที่ ๓๐๓๐/๒๕๒๖ )



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

คำพิพากษาศาลฎีกา

แสดงความคิดเห็น

    ...

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 1 Online
» 8 Today
» 124 Yesterday
» 893 Week
» 4500 Month
» 201432 Year
» 1452837 Total
Record: 10208 (10.06.2023)
Free PHP counter