มาตรา 326 | ประมวลกฎหมายอาญา |

 

ประมวลกฎหมาย
อาญา
ภาค ๒ ความผิด

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

หมวด ๓ ความผิดฐานหมิ่นประมาท

หน้าก่อน

 

     มาตรา ๓๒๖  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๒๖  แก้ไขโดย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๕๓๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๓ หน้า ๑ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕)

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา

 

คำอธิบาย

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 03:25:31
    วันที่ปรับปรุง : วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 03:25:31


    ด่าว่า "รัฐบาลฆาตกร" ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะ รัฐบาล ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมาย
    มีพิธีการรายการ ถกไม่เถียง และ คุณศรีสุวรรณ แย้งว่า
    รัฐบาลย่อมหมายความรวมถึง คณะบุคคลหรือคณะรัฐมนตรีด้วย
    ดังนั้น รัฐมนตรี ผู้หนึ่งผู้ใด ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
    เรื่องนี้ ผมได้อธิบายในรายการไว้แล้วว่า
    ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องเฉพาะเจาะจงตัวบุคคล อย่างชัดเจน หรืออย่างน้อย ก็ต้องชี้ได้ว่า คนพูดหมายถึงใคร
    ถ้าไม่ได้เจาะจงว่าผู้ใดผู้หนึ่ง แม้จะมีบุคคลในองค์กรนั้น รู้สึกว่าได้รับความเสียหาย หรือถูกพาดพิง ก็ ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
    เช่น ด่าว่า ตำรวจนายหนึ่ง ในกองปราบปราม
    ตำรวจในกองปราบ คนใดคนหนึ่ง ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
    หรือกล่าวว่า หมอชายที่โรงพยาบาลศิริราช ชั่วช้า โดยไม่ได้เจาะจง
    หมอชาย คนใดคนหนึ่งก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย
    เมื่อเทียบกับคำว่า รัฐบาล ที่ไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย คณะรัฐมนตรี ทั้งหมด หรือ คนใดคนหนึ่งก็ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย

    ทนายความเกิดผล แก้วเกิด
    31 กรกฎาคม 2564 19:12 น.



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]

    วันที่บันทึก : วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลา 20:59:06
    วันที่ปรับปรุง : วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลา 20:59:06


    ความแตกต่าง ระหว่าง ดูหมิ่น(393) กับ หมิ่นประมาท(326)
    =================================
    ดูหมิ่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393)
    -------------------------------------------
    1. การดูถูก ดูแคลน เหยียดหยาม ทำให้อับอาย การด่า การสบประมาท
    2. ผู้กระทำเป็นผู้ดูหมิ่นผู้เสียหาย
    3. ไม่จำต้องกล่าวต่อบุคคลที่สาม
    4. การด่าผู้อื่นไม่ทำให้ผู้ถูกด่าเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นก็ได้ ตรงกันข้าม กลับทำให้ผู้ด่านั้นเองเสียชื่อเสียงที่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่เป็นผู้ดี เป็นที่ดูหมิ่นของผู้ฟังด้วยซ้ำไป ดังนั้นการดูหมิ่นจึงอาจไม่ถึงหมิ่นประมาท
    5. เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้
    ----------------------------------------------
    หมิ่นประมาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326)
    ----------------------------------------------
    1. การใส่ความ ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
    2. บุคคลที่สามเป็นผู้ดูหมิ่น หรือเกลียดชังผู้เสียหาย
    3. ต้องกล่าวต่อบุคคลที่สาม
    4. การหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำหยาบคายอาจเป็นการดูหมิ่นไปในตัวได้ จึงเป็นกรรมเดียวผิดฐานดูหมิ่นบทหนึ่งฐานหมิ่นประมาทอีกบทหนึ่ง แต่การหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำสุภาพย่อมไม่เป็นการดูหมิ่น
    5. เป็นความผิดอันยอมความได้



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

คำพิพากษาศาลฎีกา

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 02:20:46
    ปรับปรุงล่าสุด : วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 02:20:46


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1734 / 2503 (ประชุมใหญ่)

    มารดาจำเลยถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ จำเลยไม่เห็นคนขว้าง แต่ได้กล่าวต่อหน้าคนหลายคนว่า "ไม่มีใครนอกจากไอ้แก้ว (โจทก์) อ้ายชาติหมา อ้ายฉิบหาย" ดังนี้ ตามพฤติการณ์แสดงว่า เป็นแต่คาดคะเนไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ ไม่ผิดตามมาตรา 326


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 02:31:13
    ปรับปรุงล่าสุด : วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 02:31:13


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328    มาตรา ๓๒๘
        ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329    มาตรา ๓๒๙
        ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
        (๑) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
        (๒) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
        (๓) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
        (๔) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
        ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 11118 / 2558
    ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่สำนักงาน น. ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง ว. นั้น โจทก์ร่วมดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน น. และในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั้น จำเลยที่ 1 รับจ้างทำงานให้แก่ศูนย์ พ. ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่ให้ทุนสนับสนุนทางวิชาการด้านเกษตรอินทรีย์แก่สำนักงาน น. เพื่อดำเนินงานโครงการนวัตกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพในหัวข้อ “การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของภาคเกษตรอินทรีย์ไทย” (Strengthening the Export Capacity of Thailand’s Organic Agriculture) โดยทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมงานซึ่งดำเนินงานตามโครงการนี้ดังนั้นไม่ว่าการดำเนินงานตามโครงการนี้จะอยู่ในขอบเขตการทำงานตามที่สำนักงาน น. ว่าจ้างจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อปรากฏชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินโครงการนั้นย่อมถือได้ว่าทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว ซึ่งต่อมาทีมดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ขึ้นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษอันมีใจความสำคัญและรายนามผู้เขียนร่วมกันตรงกันกับบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการฉบับหนึ่ง คงมีความแตกต่างในลำดับของรายนามผู้เขียน ซึ่งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างก็โต้แย้งว่าตนเองเป็นผู้เขียนหลักในบทความดังกล่าว ดังนั้นเมื่อทั้งรายงานฉบับสมบูรณ์ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการดังกล่าวมีรายนามผู้เขียนร่วมกัน 7 คน เหมือนกัน และมีชื่อทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันเหมือนกันโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เขียนคนใดเขียนในเนื้อหาส่วนใด จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าบุคคลทั้งเจ็ดคนดังกล่าวเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าวร่วมกันทั้งหมด แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการดำเนินการตามโครงการนวัตกรรม ชื่อ “โครงการวิเคราะห์เชิงลึกการผลิตหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ตามกรอบยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทย” ที่บริษัท ส. ได้รับทุนอุดหนุนการดำเนินโครงการจากสำนักงาน น. แต่เมื่อปรากฏว่าหัวข้อโครงการที่บริษัท ส. ดำเนินการดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันกับหัวข้อโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และระยะเวลาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับระยะเวลาดำเนินโครงการของสำนักงาน น. ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. และใกล้เคียงกับช่วงระยะเวลาที่ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าเนื้อหาการดำเนินโครงการของบริษัท ส. ดังกล่าวอาจมีความทับซ้อนกันกับเนื้อหาการดำเนินโครงการตามรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีชื่อโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานจัดทำขึ้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมทำดุษฎีนิพนธ์ในการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อดุษฎีนิพนธ์ที่มีความใกล้เคียงกันกับหัวข้อดำเนินงานวิจัยในโครงการที่สำนักงาน น. ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ พ. ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 อยู่ในทีมดำเนินงาน และคล้ายคลึงกันกับหัวข้อบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งไปพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารทางวิชาการ ทั้งยังเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันทั้งหมด โดยเอกสารทางวิชาการที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นมีเนื้อหาอันเป็นใจความสำคัญเหมือนกันโดยบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ที่โจทก์ร่วมทำขึ้นก็อ้างอิงถึงรายงานฉบับสมบูรณ์ที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 พร้อมทั้งทีมงานได้จัดทำขึ้นด้วย ทั้งยังได้ความอีกด้วยว่า จำเลยที่ 1 สนใจศึกษาต่อระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตโดยจะเสนอหัวข้อดุษฎีนิพนธ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยส่งบทความทางวิชาการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการมาแล้วนั้น แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 แจ้งว่า ไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินงานโครงการวิจัยและมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมกันในบทความทางวิชาการที่มีการพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการก่อนที่โจทก์ร่วมจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทำดุษฎีนิพนธ์ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกัน ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อได้ว่าโจทก์ร่วมนำผลงานทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมวินิจฉัยและร่วมเขียนบทความไปใช้ในการเขียนดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมในผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องตามที่กล่าวอ้างถึงข้างต้นหรือไม่ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้เขียนร่วมในผลงานทางวิชาการที่กล่าวอ้างถึงดังกล่าว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วม ทั้งในวงวิชาการนั้นพึงมีบรรทัดฐานด้านจรรยาบรรณของนักวิชาการในระดับสากลเช่นเดียวกัน กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้วิจัยหรือผู้เขียนผลงานทางวิชาการนำผลงานทางวิชาการของผู้สร้างสรรค์ร่วมกันมาใช้ในผลงานทางวิชาการของตน ก็ควรอย่างยิ่งที่โจทก์ร่วมจะได้บอกกล่าวผู้สร้างสรรค์ร่วมกันทุกคนรวมทั้งจำเลยที่ 1 ว่าจะนำบทความที่เขียนร่วมกันนั้นไปใช้ในดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม และเมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม โดยในส่วนของจำเลยที่ 1 คือการกระทำในส่วนที่ให้สัมภาษณ์แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ลงพิมพ์เผยแพร่ข้อความคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1 ในหนังสือพิมพ์เป็นบทความภาษาอังกฤษ จึงต้องพิจารณาจากข้อความในบทความที่เป็นภาษาอังกฤษเป็นเบื้องต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อความภาษาอังกฤษในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แล้ว เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้กล่าวยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ข้อความดังกล่าวตามฟ้องทั้งหมด ทั้งใจความสำคัญของข้อความที่กล่าวอ้างไว้ในบทความภาษาอังกฤษล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม รายงานการดำเนินงานวิจัยที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ร่วมอยู่ในทีมดำเนินงาน และบทความที่โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ต่างคนต่างส่งพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับรายงานการดำเนินงานตามโครงการที่บริษัท ส. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งงานสร้างสรรค์ในลักษณะงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมทั้งหกชิ้นดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหรืออาจถึงขนาดที่กล่าวได้ว่าทับซ้อนกันในเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นทั้งหมด ประกอบกับปรากฏตามสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงจากรายงานการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำสั่ง จ. ว่า คณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเอกสารทางวิชาการที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นผลงานของจำเลยที่ 1 จริงหรือไม่ แต่ดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วมมีการคัดลอกงานวิชาการจากเอกสารจำนวน 4 ฉบับ ซึ่งเป็นงานเขียนของกลุ่มบุคคลในปริมาณงานที่มาก แม้ว่าโจทก์ร่วมจะอ้างอิงเอกสารบางรายการไว้ในบรรณานุกรมของดุษฎีนิพนธ์ แต่การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการลอกเลียนวรรณกรรมโดยมิชอบ (Plagiarism) ไม่ว่าจะเป็นการลอกวรรณกรรมของตนเองหรือเป็นการลอกวรรณกรรมของผู้อื่นหรือโดยผู้อื่นเป็นเจ้าของผลงานร่วมด้วย นอกจากนี้ สัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ในงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับดุษฎีนิพนธ์ของโจทก์ร่วม ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อโต้แย้งของทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับข้อตกลงเรื่องความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการทำรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและในบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้น รวมทั้งบทความทางวิชาการที่เผยแพร่ต่อเนื่องจากการจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ ด้วยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาทั้งหมดข้างต้นย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับบุคคลอื่นในคณะบุคคลหรือเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกันกับหน่วยงานผู้ให้สนับสนุนการวิจัยที่เกี่ยวข้อง และแม้ลิขสิทธิ์ในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่กลุ่มบุคคลซึ่งมีโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 รวมอยู่ด้วยเป็นผู้จัดทำขึ้นจะมิใช่ของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย แต่ในฐานที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในผลงานวิชาการในรูปแบบงานนิพนธ์อันเป็นงานวรรณกรรมซึ่งมีลิขสิทธิ์ดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะผู้สร้างสรรค์งานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น จึงมีเหตุผลให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าจำเลยที่ 1 พึงได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิในฐานะผู้เขียนเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดังกล่าวนั้นด้วยการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความเป็นธรรม การแสดงข้อความตามฟ้องที่ปรากฏในบทความภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์ตามฟ้องนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยที่ 1 แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนร่วมในรายงานการดำเนินโครงการวิจัยและบทความที่จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์ร่วมได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงข้อความอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าวของผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยมิได้บอกกล่าวหรือขออนุญาตผู้สร้างสรรค์ร่วมกันหรือผู้เขียนร่วม หรือผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานนั้นครบถ้วนทุกคน ตาม ป.อ. มาตรา 329 (1) การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328 ประกอบมาตรา 326 ดังที่โจทก์ฟ้อง


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 02:24:44
    ปรับปรุงล่าสุด : วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 02:24:44


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2034 / 2530
    คำพิพากษาย่อสั้น
    การที่จำเลยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาของจำเลยแต่งตั้งขึ้นเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้กล่าวหา ส. ว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกล่าวว่า จำเลยได้ยิน ข่าวเล่าลือว่า ส. กับโจทก์เดินด้วยกันนอกโรงเรียนและมีความสัมพันธ์ถึงขั้นได้เสียกับโจทก์นั้น เป็นการกล่าวในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวม และเป็นการกล่าวไปตามข่าวลือ ไม่ยืนยันว่าเป็นความจริง และไม่ตั้งใจให้ผู้ฟังเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมตามข่าวลือนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326.
    คำพิพากษาย่อยาว
    โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326
    ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา
    จำเลยปฏิเสธ
    ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
    โจทก์อุทธรณ์
    ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
    โจทก์ฎีกา
    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่าการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 หรือไม่
    พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่จำเลยกล่าวว่าเห็นนายเสนาะ จันทร์สุริยา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์อยู่ในห้องผู้อำนวยการโรงเรียนกับโจทก์ตามลำพังในเวลาเช้า เย็น และหลังเวลาราชการบ่อย ๆ ...จำเลยได้ยินข่าวเล่าลือกันว่า นายเสนาะ จันทร์สุริยา กับโจทก์เดินด้วยกันนอกโรงเรียน และเคยได้ยินครูและนักเรียนพูดกันว่า นายเสนาะ จันทร์สุริยา มีความสัมพันธ์ถึงขึ้นได้เสียกับโจทก์นั้น เป็นการกล่าวในการให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการที่อธิบดีกรมสามัญศึกษาแต่งตั้งขึ้นเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีกล่าวหาว่านายเสนาะ จันทร์สุริยา ประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์เป็นกรณีที่จำเลยกล่าวในฐานะที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาถูกถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวม ทั้งข้อความที่จำเลยกล่าวเป็นการกล่าวตามข่าวลือไม่ยืนยันว่าเป็นความจริง ส่อแสดงว่าจำเลยไม่ได้ตั้งใจจะให้ผู้ฟังเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมดังข่าวลือนั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ตามฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
    พิพากษายืน.
    ผู้พิพากษา
    คำนึง อุไรรัตน์
    ดุสิต วราโห
    สวัสดิ์ รอดเจริญ



    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 02:27:57
    ปรับปรุงล่าสุด : วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 02:31:55


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328    มาตรา ๓๒๘
        ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 3520 / 2543 (ประชุมใหญ่)

    คำพิพากษาย่อสั้น
    ข้อความที่ตีพิมพ์โฆษณาว่า ผู้เสียหายอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษฝ่าฝืนมติที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครั้งล่าสุดห้ามไม่ให้ผู้เสียหายดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และข้อความว่าผู้เสียหายเจตนากำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาที่ปรากฏอยู่ในเงื่อนไขทั่วไป ส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายหนึ่งที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหายมานานข้อความทั้งสองประการดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงข้อความจริงอันเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่า ผู้เสียหายอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษฝ่าฝืนต่อมติที่ประชุมคณะกรรมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้เสียหายเจตนากำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็รับมาในฎีกาว่าเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนไปจริง ข้อความทั้งสองประการดังกล่าวจึงเป็นข้อความที่ยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความผู้เสียหายด้วยการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่ น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หาใช่เป็น การแสดงข้อความโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน ย่อมกระทำไม่ จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้เสียหาย โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร
    เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 แล้วไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 326 อีก
    คำพิพากษาย่อยาว
    โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เขียนและโฆษณาตีพิมพ์ข้อความใส่ความหมิ่นประมาทนายจุลพงศ์ จุลเกศผู้เสียหายต่อประชาชนโดยทั่วไปลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับประจำวันที่ 4 เมษายน 2539 ความว่า "จุลพงศ์" หน้ามืดไม่สนคุก หวังพ้นผิดเอาใจเทศบาลเชียงใหม่ลงนามป้อนโรงไฟฟ้าถึงขั้นไม่กลัวอาญา งบจ้างเหมาเคเบิล 92.2 ล้านบาท อนุมัติเกินอำนาจพบไม่โปร่งใสเพียบทุกอย่างแล้วเสร็จภายในวันเดียว ไม่แคร์มติบอร์ดห้ามจัดซื้อจัดจ้างพิเศษ และมีรายละเอียดประกอบว่าเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา นายจุลพงศ์ จุลเกศ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้อนุมัติให้มีการดำเนินการจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้ารอบคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ด้วยวิธีพิเศษในลักษณะ TURN KEY ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมติที่ประชุมของคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครั้งล่าสุด ห้ามมิให้นายจุลพงศ์จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษโดยเด็ดขาด แต่ปรากฏว่านายจุลพงศ์ ไม่ยอมปฏิบัติแต่อย่างใด ฯลฯ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวไม่อยู่ในแผนการลงทุนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปี 2539 แต่อย่างใด แต่นายจุลพงศ์พยายามผลักดันโดยการให้สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 ภาคเหนือ เป็นผู้เสนอโครงการขึ้นมาโดยอ้างเหตุผลว่าเป็นความต้องการเร่งด่วน และยังมีการหมกเม็ดโดยการเขียนบันทึกในการอนุมัติว่าอนุมัติในหลักการเสนอคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (บอร์ดเล็ก) เพื่อเลี่ยงมิให้บอร์ดยับยั้งโครงการนี้ รายงานข่าวแจ้งต่อไปว่าได้มีการเสนอหลักการและเหตุผลของโครงการนี้ว่าเป็นความร่วมมือเทศบาลนครเชียงใหม่ในการฉลองวาระครบ 700 ปี ของเมืองเชียงใหม่ในปี 2539 โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการ 92.2 ล้านบาท รายงานข่าวแจ้งว่ายังมีการกำหนดวงเงินค่าก่อสร้างจำนวน 92.2 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการในชั้นต้นประมาณ 70 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งมีส่วนต่างกันถึง 22 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาที่ปรากฏอยู่ในเงื่อนไขทั่วไปที่เป็นเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญาตามเงื่อนไขข้อ 1.4 จะต้องมีประวัติเป็นคู่สัญญากับทางราชการหรือองค์การของรัฐหรือผู้รับจ้างช่วงโดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท เท่ากับเป็นการปิดทางเอกชนรายอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ในงานวางระบบเคเบิลใต้ดิน แต่ไม่เคยมีประวัติในฐานะคู่สัญญาของหน่วยราชการมาก่อน และส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายหนึ่งที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับนายจุลพงศ์มายาวนานยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่าในวันที่ 22 มีนาคม 2539 เป็นวันที่นายชาญ ถิระศุภะ ผู้อำนวยการฝ่ายเร่งรัดโครงการได้รับหนังสือจากกองจัดการโครงการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วอนุมัติเสนอต่อนายจุลพงศ์ แล้วมีการลงนามในวันเดียวกันโดยไม่มีขั้นตอนในการพิจารณารอบคอบแต่อย่างใด รายละเอียดข้อความดังกล่าวปรากฏในสำเนาภาพถ่ายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเอกสารท้ายฟ้อง หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้วางจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักร ข้อความดังกล่าวมีความหมายเป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สามว่าผู้เสียหายซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ผิดระเบียบ มีเงื่อนงำ เร่งรัดจ้างเหมาโดยวิธีพิเศษ กำหนดประมาณการวงเงินค่าก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้ารอบคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่สูงผิดปกติ เป็นการอนุมัติวงเงินเกินอำนาจโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและกำหนดเงื่อนไขพิเศษต่างหากเพื่อให้โอกาสกับบริษัทเอกชนที่เป็นพรรคพวกได้รับงานประมูลการก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นความจริงทำให้ผู้เสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทั้งทางด้านส่วนตัวและทางการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326,328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48
    จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
    ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484มาตรา 48 จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน และประกอบอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง เห็นควรให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
    จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
    ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
    จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 2กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้เสียหายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุได้มีข้อความเรื่องการอนุมัติโครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้ารอบคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ของผู้เสียหายตามฟ้องตีพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา สำหรับข้อความที่ตีพิมพ์โฆษณาว่าผู้เสียหายอนุมัติโครงการเกินวงเงินที่ผู้เสียหายมีอำนาจ งบจ้างเหมาเคเบิลพิเศษ 92.2ล้านบาท สูงกว่าประมาณการขั้นต้นประมาณ 70 ล้านบาทเท่านั้น โครงการนี้ไม่อยู่ในแผนการลงทุนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปี 2539 แต่ผู้เสียหายพยายามผลักดันเพื่อเลี่ยงมิให้บอร์ดยับยั้งโครงการและการอนุมัติของผู้เสียหายเป็นการดำเนินการที่เกินอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายชัดเจนผู้เสียหายไม่มีอำนาจดำเนินการอนุมัติการจัดซื้อ จัดจ้างในวงเงิน 92.2 ล้านบาทโดยไม่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะข้อความที่ตีพิมพ์โฆษณาว่า ผู้เสียหายอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษฝ่าฝืนมติที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครั้งล่าสุดห้ามไม่ให้ผู้เสียหายดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และข้อความว่าผู้เสียหายเจตนากำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาที่ปรากฏอยู่ในเงื่อนไขทั่วไป ส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายหนึ่งที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหายมานานจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่เห็นว่า ข้อความทั้งสองประการดังกล่าว มิได้อ้างถึงข้อความจริงอันเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่าผู้เสียหายอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษฝ่าฝืนต่อมติที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้เสียหายเจตนากำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหายซึ่งจำเลยที่ 2 ก็รับมาในฎีกาว่าเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนไปจริง ข้อความทั้งสองประการดังกล่าวจึงเป็นข้อความที่ยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความผู้เสียหายด้วยการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หาใช่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าพนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพูดกันว่า คณะกรรมการเคยมีมติห้ามผู้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จำเลยที่ 2 ในฐานะสื่อมวลชนต้องการเสนอข่าวโดยฉับไวและเข้าใจว่าคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีมติห้ามผู้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนเพราะฝ่ายบริหารของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพยายามปกปิดข้อมูลนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะต้องเสนอข่าวโดยฉับไว แต่ข้อความที่ตีพิมพ์โฆษณาก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง จำเลยที่ 2 มิได้ตีพิมพ์โฆษณาว่าพนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพูดกันว่าคณะกรรมการการไฟฟ้าภูมิภาคเคยมีมติห้ามผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษเท่าที่ได้ข่าวมา แต่กลับตีพิมพ์โฆษณายืนยันข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษฝ่าฝืนต่อมติคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไม่เป็นการตีพิมพ์โฆษณาโดยเข้าใจคลาดเคลื่อนดังที่อ้างและที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ตีพิมพ์โฆษณาข้อความว่าผู้เสียหายเจตนาจัดทำคุณสมบัติผู้เสนอราคาส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหาย จากพฤติกรรมการอนุมัติโครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้ารอบคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ของผู้เสียหายที่บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและขัดต่อระเบียบข้อบังคับของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายจัดทำคุณสมบัติผู้เสนอราคาเป็นการกระทำคนละส่วนกับการอนุมัติโครงการก่อสร้าง การที่จำเลยที่ 2 ตีพิมพ์โฆษณาข้อความว่าผู้เสียหายเจตนาจัดทำคุณสมบัติผู้เสนอราคาส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหาย โดยไม่มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่าผู้เสียหายได้กระทำดังที่ตีพิมพ์โฆษณาจริงย่อมเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่ามุ่งประสงค์ใส่ความผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้เสียหายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารเฉพาะข้อความสองประการดังที่วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นแต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดเฉพาะข้อความสองประการจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นความผิดทุกข้อความตามฟ้องเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นผลร้ายน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ก็ควรเปลี่ยนไปในทางลดลงจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาก็แก้ไขโดยกำหนดโทษให้เหมาะสมได้
    อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 มาด้วยนั้น เห็นว่า ยังไม่ถูกต้อง เพราะในความผิดฐานหมิ่นประมาทเมื่อจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามมาตรา 328 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องยกมาตรา 326 ขึ้นปรับบทลงโทษอีก"
    พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 1 เดือนและปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
    ผู้พิพากษา
    สมศักดิ์ เนตรมัย
    กนก พรรณรักษา
    ปรีดี รุ่งวิสัย


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:02:04
    ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 03:17:51


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328    มาตรา ๓๒๘
        ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1513 / 2551 (ประชุมใหญ่)

    การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด
    ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 01:12:08
    ปรับปรุงล่าสุด : วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 01:12:08


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83    มาตรา ๘๓
        ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91    มาตรา ๙๑
        เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
        (๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
        (๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
        (๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157    มาตรา ๑๕๗
        ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177    มาตรา ๑๗๗
        ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
        ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1033 / 2533
    คำพิพากษาย่อสั้น
    การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น หมายถึงหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่โดยตรงแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานที่ศาลไม่ใช่หน้าที่ราชการหรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 บัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันมิให้จำเลยที่ถูกฟ้องร้องได้รับโทษหรือได้รับความเสียหายอันเกิดจากการรับฟังพยานอันเป็นเท็จ เมื่อโจทก์ในคดีนี้มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่จำเลยในคดีนี้ไปเบิกความเป็นพยาน โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงในการเบิกความของจำเลย โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามมาตรานี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2) ข้อความที่จำเลยเบิกความเกี่ยวกับตัวโจทก์ เป็นข้อที่จำเลยสืบทราบมาจากชาวบ้าน จำเลยไม่ได้ประสบมาด้วยตนเอง และข้อที่ชาวบ้านบอกให้จำเลยรับทราบนี้จะเป็นความจริงหรือไม่โจทก์ก็ไม่ทราบดังนี้ การที่จำเลยเบิกความจึงมีเพียงเจตนาจะให้ความจริงต่อศาลในการพิจารณาคดีตามที่จำเลยสืบทราบมาเท่านั้น หาได้มีเจตนาใส่ความโจทก์ให้ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังไม่ จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326.
    คำพิพากษาย่อยาว
    โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยในฐานะพยานโจทก์ได้เบิกความต่อศาลจังหวัดสวรรคโลกในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายเป็ง เสาแก้วคำ เป็นจำเลยว่าโจทก์ว่าจ้างให้นายเป็งใช้อาวุธปืนยิงนายเลื่อน วงศ์ใจคำถึงแก่ความตาย เพราะโจทก์โกรธนายเลื่อนเกี่ยวกับเรื่องเงินของวัดที่โจทก์เป็นกรรมการอยู่ ซึ่งเป็นความเท็จ จำเลยมีเจตนาใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และการเบิกความของจำเลยเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 326, 157, 83 และ 91
    ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง
    โจทก์อุทธรณ์
    ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
    โจทก์ฎีกา
    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 บัญญัติว่า"ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต้องระวางโทษ..." ศาลฎีกาเห็นว่า การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตรานี้ หมายถึงหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้นถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนของโจทก์ได้ความว่า จำเลยได้เบิกความเป็นพยานโจทก์ที่ศาลจังหวัดสวรรคโลกซึ่งการเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจไม่ใช่หน้าที่ราชการหรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามมาตรานี้
    ข้อหาต่อมา คือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ซึ่งบัญญัติว่า"ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษ..." ที่กฎหมายบัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อป้องกันมิให้จำเลยที่ถูกฟ้องร้องได้รับโทษหรือได้รับความเสียหาย อันเกิดจากการรับฟังพยานอันเป็นเท็จ ผู้ที่จะเสียหายคือจำเลยในคดีนั้น แต่ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวปรากฏว่าโจทก์มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายโดยตรงในการเบิกความของจำเลย ดังนั้นโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามกฎหมายมาตรานี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (2)
    ข้อหาสุดท้าย คือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งบัญญัติว่า"ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ..." การใส่ความตามมาตรานี้ผู้กระทำต้องมีเจตนาใส่ความผู้อื่น ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบชั้นไต่สวนโจทก์เบิกความว่า ข้อที่จำเลยเบิกความเกี่ยวกับตัวโจทก์ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 125/2531 ของศาลจังหวัดสวรรคโลกนั้น เป็นข้อที่จำเลยสืบทราบมาจากชาวบ้านไม่ใช่ข้อที่จำเลยประสบมาด้วยตนเอง ส่วนข้อที่ชาวบ้านบอกให้จำเลยรับทราบนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่โจทก์ไม่ทราบ เห็นได้ว่า การเบิกความของจำเลย จำเลยมีเจตนาจะให้ความจริงต่อศาลในการพิจารณาคดีตามที่จำเลยสืบทราบมาเท่านั้น จำเลยหาได้มีเจตนาใส่ความโจทก์ให้ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชังแต่อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว
    พิพากษายืน.

    ผู้พิพากษา
    ไมตรี กลั่นนุรักษ์
    พนม พ่วงภิญโญ
    สุเทพ กิจสวัสดิ์


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 22:14:07
    ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 22:14:07


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137    มาตรา ๑๓๗
        ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 173    มาตรา ๑๗๓
        ผู้ใดรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความแก่พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาว่าได้มีการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 174    มาตรา ๑๗๔
        ถ้าการแจ้งข้อความตามมาตรา ๑๗๒ หรือ มาตรา ๑๗๓ เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
        ถ้าการแจ้งตามความในวรรคแรกเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษนักขึ้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 8611 / 2553
    การที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเห็นโจทก์ร่วมหยิบเอาเศษสร้อยคอทองคำของจำเลยไปและได้แจ้งความแก่พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีโจทก์ร่วมในข้อหาลักทรัพย์ซึ่งเป็นข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยรู้ดีว่ามิได้มีการกระทำผิดในข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้นแต่กลับไปแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนดังกล่าวว่าได้มีการกระทำผิดข้อหาลักทรัพย์อันเป็นเท็จ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเชื่อว่าได้มีความผิดข้อหาลักทรัพย์เกิดขึ้น เพื่อให้โจทก์ร่วมได้รับโทษ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 137, 174 วรรคสอง ประกอบมาตรา 173 นอกจากนี้ จำเลย ยังมีเจตนาแจ้งความเพื่อให้โจทก์ร่วมถูกดูหมิ่นเกลียดชังและเสียชื่อเสียง จึงเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอีกด้วย


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564 เวลา 03:27:48
    ปรับปรุงล่าสุด : วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 03:02:05


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328    มาตรา ๓๒๘
        ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1612 / 2564
    การแจ้งหรือไขข่าวลงในกลุ่มไลน์ไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แต่ผิดหมิ่นประมาท
    ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณะชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์ นี้เท่านั้นจึงยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณะชนหรือประชาชนทั่วไปการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

    คำพิพากษาฎีกาที่ 1612/2564
    พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี โจทก์
    นาย บ. โจทก์ร่วม
    นาย ช. จำเลย

    ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่อง อุทธรณ์ฎีกา ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (มาตรา 218)
    แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ไขทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษ อันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่จำเลยส่งข้อความเข้าไปในกลุ่มไลน์มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ฎีกาของโจทก์ทำนองว่ามิได้มีเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในไลน์เท่านั้น เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328
    โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาประกาศให้ประชาชนทั่วไปทราบด้วยตัวอักษร โดยการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ตผ่านสังคมออนไลน์ในแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "เพื่อน.พฤกษา.20" โดยทำให้ปรากฎข้อความอักษรใส่ความนาย บ. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้เสียหายคนหนึ่งในบรรดาผู้เสียหายจำนวนหลายคนที่ถูกจำเลยใส่ความเผยแพร่ให้แก่นางสาว ด. นาย ก. และบุคคลผู้เป็นสมาชิกในกลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามซึ่งสามารถเห็นและอ่านข้อความบทสนทนาได้ โดยข้อความเท็จดังกล่าวมีเนื้อหาใส่ความว่า "แผนที่ให้คนของตัวเองมาเป็นประธานหรือหัวหน้า 48 คน ก็เพราะซูเอี๋ยระหว่างผู้มีอำนาจในเทศบาลกับบริษัทพฤกษา ซึ่งเงินก้อนใหญ่ ประมาณ 20 ล้าน ก็จะหายไปกับสายลมทั้งๆ ที่บริษัทพฤกษาต้องนำมาปรับปรุงถนน ท่อระบายและอื่นๆ จากนั้นเมื่อโอนเรียบร้อยเทศบาลก็หางบประมาณลงมาทำให้เพราะตอนนี้พฤกษา 20 ยังไม่โอน เทศบาลยังกล้าทำแผนพัฒนาเตรียมงบมาลง" ซึ่งทำให้บุคคลที่สามและบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าผู้เสียหายมีพฤติกรรมที่ทุจริตเงินแผ่นดิน มีการสมยอมกับบริษัทเอกชนยักยอกเงินหลวง จำนวน 20 ล้านบาท แล้วนำมาแบ่งกันระหว่างผู้เสียหายกับบริษัทเอกชนดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อ่านหรือประชาชนทั่วไปได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
    จำเลยให้การปฏิเสธ
    ระหว่างพิจารณา นาย บ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้ยกคำร้อง
    ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 จำคุก 2 ปีให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
    จำเลยอุทธรณ์
    ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ลงโทษปรับ 20,000 บาท
    สถานเดียว ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
    โจทก์ฎีกา
    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปรากฎว่าโจทก์ฎีกาทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง กล่าวคือ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำมาสืบรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 จำคุก 2 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าโจทก์ร่วมเป็นนายกเทศมนตรีเมืองลำสามแก้ว ส่วนจำเลยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองลำสามแก้ว เขต 2 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 บริษัทพฤกษา เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) มีหนังสือถึงสภาเทศบาลเมืองลำสามแก้ว ขอให้พิจารณารับโอนที่ดินแปลงสาธารณูปโภคโครงการบ้านพฤกษา 20 เป็นสาธารณประโยชน์และอยู่ในพื้นที่การปกครองดูแลของเทศบาลเมืองลำสามแก้ววันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมสภาเทศบาลเมืองลำสามแก้วมีมติเห็นชอบรับโอนที่ดินแปลงสาธารณูปโภคโครงการบ้านพฤกษา 20 ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่เทศบาลเมืองลำสามแก้ว วันที่ 27 มกราคม 2560 โจทก์ร่วมในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองลำสามแก้วมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการบริการสาธารณะหมู่บ้านพฤกษา 20 จำนวน 48 คน นาย ช. เป็นผู้พักอาศัยในหมู่บ้านพฤกษา 20 และเป็นผู้ตั้งกลุ่มในแอปพลิเคชันไลน์ ชื่อ "เพื่อน.พฤกษา.20" จำเลยเป็นหนึ่งในสมาชิกจำนวน 344 คน ของแอปพลิเคชันไลน์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560 จำเลยส่งข้อความเข้าไปในแอปพลิเคชันไลน์ดังกล่าวว่า "แผนที่ให้คนของตัวเองมาเป็นประธานหรือหัวหน้า 48 คน ก็เพราะซูเอี๋ยระหว่างผู้มีอำนาจในเทศบาลกับบริษัทพฤกษาซึ่งเงินก้อนใหญ่ประมาณ 20 ล้าน ก็จะหายไปกับสายลมทั้งๆ ที่บริษัทพฤกษาต้องนำมาปรับปรุงถนน ท่อระบายและอื่นๆ จากนั้นเมื่อโอนเรียบร้อยเทศบาลก็หางบประมาณลงมาทำให้ เพราะตอนนี้พฤกษา 20 ยังไม่โอน เทศบาลยังกล้าทำแผนพัฒนาเตรียมงบมาลง" ต่อมา นาวาอากาศเอก ก. ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการบริการสาธารณะหมู่บ้านพฤกษา 20 ส่งข้อความดังกล่าวเข้าไปในกลุ่มแอปพลิเคชันไลน์ ชื่อ "พฤกษา 20 เฟส 1 " ซึ่งมีนาย ก. หัวหน้าคณะทำงานดังกล่าวเป็นสมาชิกอยู่ด้วย นาย ก. บันทึกหน้าจอข้อความดังกล่าวแล้วส่งต่อให้แก่นางสาว ด. รองนายกเทศมนตรีเมืองลำสามแก้ว นางสาว ด.ส่งข้อความดังกล่าวต่อให้แก่โจทก์ร่วม แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยส่งข้อความเข้าไปในแอปพลิเคชันไลน์กลุ่ม เพื่อน.พฤกษา.20 มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าวไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พิพากษาแก้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ลงโทษปรับ 20,000 บาท สถานเดียว โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 328 ด้วย โดยฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายรวมกันมา กล่าวคือฎีกาว่า การที่จำเลยส่งข้อความดังกล่าวทางแอปพลิเคชันไลน์ในกลุ่มชื่อ เพื่อน.พฤกษา.20 ปรากฎว่ามีสมาชิกในกลุ่มถึง 344 คน ถือว่าเป็นกลุ่มแอปพลิเคชันไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนมากผู้ที่รับข้อความหมิ่นประมาทจึงมีจำนวนมากเหมือนการโพสต์ข้อความแบบสาธารณะ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมอย่างแพร่หลาย อีกทั้งกลุ่มไลน์ดังกล่าวก็อาจเพิ่มจำนวนได้โดยการรับเพื่อนเพิ่มเติมเข้ามาได้อีกถ้ามิใช่กลุ่มปิด ข้อความที่ส่งก็จะคงอยู่ในไลน์นั้นตลอดไปหากมีผู้เซฟข้อความเอาไว้ ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าข้อความนั้นอาจมีผู้อื่นอ่านได้ถึง 344 คน หรือมากกว่านั้นถ้าสมาชิกในกลุ่มส่งข้อความให้บุคคลภายนอกกลุ่มผู้รับข้อความก็จะเพิ่มมากขึ้นได้อีก การส่งข้อความในไลน์กลุ่มจึงมิใช่การไขข่าวเฉพาะกลุ่ม แต่มีบุคคลภายนอกกลุ่มอาจรับรู้ได้ด้วย และกลุ่มไลน์ที่มีสมาชิกในกลุ่มเป็นจำนวนมากถึงพันคนหรือหมื่นคนก็มี ทั้งบุคคลในกลุ่มก็อาจไม่ได้รู้จักกันทุกคน การส่งข้อความทางกลุ่มไลนซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากอาจมีผู้อ่านไลน์มากกว่าการโพสต์แบบสาธารณะเสียอีก จำเลยย่อมเล็งเห็นผลและประสงค์ต่อผลในการกระทำของตนได้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการโฆษณาต่อสาธารณชน การส่งข้อความของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อสาธารณชนโดยการโฆษณาอันเป็นความผิดตามมาตรา 328 แล้วนั้น เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ไขทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษ อันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าที่จำเลยส่งข้อความเข้าไปในกลุ่มไลน์นี้มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์นี้เท่านั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริง การที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวเป็นการฎีกาทำนองว่ามิได้มีเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในไลน์นี้เท่านั้นเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงส่วนที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ที่ฎีกาว่า การที่จำเลยส่งข้อความดังกล่าวทางแอปพลิเคชันไลน์ในกลุ่มชื่อเพื่อน.พฤกษา.20 ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มถึง 344 คน ถือว่าเป็นกลุ่มไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนมาก ผู้ที่รับรู้ข้อความหมิ่นประมาทจึงมีจำนวนมากเหมือนการโพสต์ข้อความแบบสาธารณะซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมอย่างแพร่หลายนั้น เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชันไลน์นี้ ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังมาดังกล่าวแล้วว่ามีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์นี้เท่านั้น ดังนั้น จึงยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนปัญหาข้อกฎหมายนี้ ฟังไม่ขึ้น"
    พิพากษายืน
    (ประทีป ดุลพินิจธรรมา โสภณ บางยี่ขัน กษิดิศ มงคลศิริภัทรา)


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 22:24:26
    ปรับปรุงล่าสุด : วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 22:24:26


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2673 / 2563
    *จำเลยเขียนข้อความซึ่งเป็นบทกลอนลงในโปรแกรม Facebook พร้อมภาพประกอบ แต่ไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงผู้เสียหายหรือทำให้เข้าใจว่าหมายถึงผู้เสียหาย อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายไปสอบถามจากเพื่อนร่วมงานของจำเลยว่าบุคคลที่จำเลยลงข้อความพร้อมภาพนั้น หมายถึง ผู้เสียหายใช่หรือไม่ เพื่อนของจำเลยตอบว่า “แล้วแต่จะคิด” กรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าหมายถึงผู้เสียหายหรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

    ฎีกาที่ 2673/2563
    การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความ เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่า หมายถึง บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

    ข้อความซึ่งเป็นบทกลอนที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook พร้อมภาพไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงผู้เสียหายโดยตรงหรือทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงผู้เสียหาย ประกอบกับได้ความจาก ป. พยานโจทก์ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน กับผู้เสียหายและจำเลยว่าผู้เสียหายมาสอบถามพยานว่าบุคคลที่จําเลยลงข้อความพร้อมภาพนั้นหมายถึงผู้เสียหายใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “แล้วแต่จะคิด” อันเป็นการไม่ยืนยันข้อเท็จจริงว่าหมายถึงผู้เสียหายหรือไม่ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายนำข้อความพร้อมภาพที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook พร้อมข้อความและภาพอื่น ๆ มารวมเข้าด้วยกันแล้วสรุปว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายนั้น จึงเป็นเพียงความเข้าใจของผู้เสียหาย หาใช่เป็นความเข้าใจของบุคคลทั่วไปไม่ บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความพร้อมภาพและข้อความพร้อมภาพอื่น ๆ ย่อมไม่ทราบหรือเข้าใจได้ว่าข้อความพร้อมภาพทั้งหมดที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook มานั้นหมายความถึงผู้ใด หากต้องการทราบความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วจะเป็นผู้เสียหายจริงหรือไม่และในกรณีที่สืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงผู้เสียหาย ก็เป็นการทราบจากการที่บุคคลนั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง ดังเช่นที่ ป. เบิกความว่าพยานขอนัดจำเลยมาเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นแก่จำเลย หาได้ทราบโดยอาศัยข้อความที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook แต่เพียงลำพังไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือพยายามหมิ่นประมาทผู้เสียหาย


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 20:41:30
    ปรับปรุงล่าสุด : วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 20:41:30


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29    มาตรา ๒๙
        ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้
        ความในวรรคสองของมาตรา ๒๔ มิให้นำมาใช้บังคับแก่การกักขังแทนค่าปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30    มาตรา ๓๐
        ในการกักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตราห้าร้อยบาทต่อหนึ่งวัน และไม่ว่าในกรณีความผิดกระทงเดียวหรือหลายกระทง ห้ามกักขังเกินกำหนดหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีก็ได้
        ในการคำนวณระยะเวลานั้น ให้นับวันเริ่มกักขังแทนค่าปรับรวมเข้าด้วยและให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง
        ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังนั้นออกจากจำนวนเงินค่าปรับ โดยถืออัตราห้าร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ผู้นั้นต้องคำพิพากษาให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าจะต้องหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากเวลาจำคุกตามมาตรา ๒๒ ก็ให้หักออกเสียก่อนเหลือเท่าใดจึงให้หักออกจากเงินค่าปรับ
        เมื่อผู้ต้องโทษปรับถูกกักขังแทนค่าปรับครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด ถ้านำเงินค่าปรับมาชำระครบแล้ว ให้ปล่อยตัวไปทันที

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393    มาตรา ๓๙๓
        ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1623 / 2551
    การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
    ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า "ไอ้ทนายเฮงซวย" จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิด ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ), มาตรา 30 (กักขังแทนค่าปรับ)


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:49:25
    ปรับปรุงล่าสุด : วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:49:25


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2180 / 2531
    ฎีกาที่ 2180/2531 และ ฎีกาที่ 1201/2505
    จำเลยซึ่งเป็นตำรวจไปจับแผ่นกระดาษจดหมายเลขสลากกินรวบที่นางพีเป็นผู้ขาย ก่อนจับได้ก็มีการยื้อแย่งกันและจับได้บนบ้านของโจทก์ จำเลยพูดกับโจทก์ว่า เดี๋ยวจับเป็นอันธพาลทั้งพ่อทั้งลูก (โจทก์ที่2 เป็นบุตรสาวของโจทก์ที่1) ดังนี้ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานใส่ความหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เพราะจำเลยมิได้กล่าวว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลอันธพาล เป็นคำขู่เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าขัดขวางช่วยเหลือผู้กระทำผิดเท่านั้น


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:50:30
    ปรับปรุงล่าสุด : วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:50:30


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1201 / 2505
    ฎีกาที่ 2180/2531 และ ฎีกาที่ 1201/2505
    จำเลยซึ่งเป็นตำรวจไปจับแผ่นกระดาษจดหมายเลขสลากกินรวบที่นางพีเป็นผู้ขาย ก่อนจับได้ก็มีการยื้อแย่งกันและจับได้บนบ้านของโจทก์ จำเลยพูดกับโจทก์ว่า เดี๋ยวจับเป็นอันธพาลทั้งพ่อทั้งลูก (โจทก์ที่2 เป็นบุตรสาวของโจทก์ที่1) ดังนี้ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานใส่ความหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326 เพราะจำเลยมิได้กล่าวว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลอันธพาล เป็นคำขู่เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าขัดขวางช่วยเหลือผู้กระทำผิดเท่านั้น


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:49:15
    ปรับปรุงล่าสุด : วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:49:15


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59    มาตรา ๕๙
        บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
        กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
        ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
        กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
        การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83    มาตรา ๘๓
        ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327    มาตรา ๓๒๗
        ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้ บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒๖ นั้น

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332    มาตรา ๓๓๒
        ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
        (๑) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท
        (๒) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้งโดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 3493 / 2562 (ประชุมใหญ่)

    (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2562)

    ความผิดฐานหมิ่นประมาท ถึงแม้ไม่ได้ระบุชื่อ แต่คนทั่วไปรู้ว่าหมายถึงใคร หากถ้อยคำนั้นเป็นการใส่ความคนอื่น ก็ผิดฐานหมิ่นประมาทได้
    ---------------------
    แม้ข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุชื่อหรือชื่อ สกุลของโจทก์หรือชื่อร้านค้าของโจทก์ แต่เมื่อร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้าม บริษัท ค. มีร้านค้าของโจทก์เพียงร้านเดียว การที่หนังสือพิมพ์ ท. ลงพิมพ์ข้อความว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัท ค. ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความดังกล่าวย่อมทราบหรือเข้าใจได้ทันที่ว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวของโจทก์จำหน่ายยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. ดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามทำให้โจทก์เสื่อมเสีย ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และมิไช่เป็น การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความ โดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์
    --------------------
    คำพิพากษาย่อสั้น
    พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ท. จึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. มิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ ท. ที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 83
    ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ ท. 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

    คำพิพากษาย่อยาว
    โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 327 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันลงโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์
    ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
    จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
    ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
    โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
    ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
    โจทก์ฎีกา
    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขาย โดยใช้บ้านของโจทก์ ซึ่งเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวด้านหน้าเป็นร้านค้าขายก๋วยเตี๋ยว อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าเบ็ดเตล็ด เปิดร้านตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกา ด้านหลังใช้พักอาศัย บ้านของโจทก์ตั้งอยู่ริมถนนโพธาราม - ช่องพราน ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน "ไทยรัฐ" โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับปีที่ 66 ฉบับที่ 20986 วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2558 คอลัมน์ห้องร้องทุกข์หน้าที่ 10 ย่อหน้าสุดท้ายลงข้อความว่า "สุดท้าย ที่หมู่ 1 ต.ท่าชุมพล อ.โพธาราม จังหวัดราชบุรี มีร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น เป็นบริษัททำรั้วสำเร็จรูป ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า กลางคืนลูกค้าเพียบ! แจ้ง! สภ.โพธาราม ก็เฉย ฝาก! คสช. ลงพื้นที่ปราบหน่อย" ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ได้มีเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นร้านค้าของโจทก์ดังกล่าว ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ลงแก้ข่าวให้แก่โจทก์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
    คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะมีความผิดอาญา หากข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อร้านค้าของโจทก์ถูกตรวจค้นจากการที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข้อความดังกล่าวในคอลัมน์ห้องร้องทุกข์ที่ระบุเพียงหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อ ไม่ปรากฏชื่อผู้รับผิดชอบคอลัมน์ โจทก์จึงโทรศัพท์ไปยังหมายเลขที่ระบุในคอลัมน์ห้องร้องทุกข์เพื่อสอบถามถึงชื่อผู้แจ้งข่าวและผู้เขียนบทความ แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ได้รับคำตอบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์ โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ที่จำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ โดยมีหน้าที่เพียงติดต่อกับบุคคลหรือองค์กรภายนอก เข้าร่วมประชุม เข้าร่วมสัมมนา รับรางวัลในฐานะตัวแทนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไม่มีหน้าที่ตรวจข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ การดูแลข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นหน้าที่บรรณาธิการข่าวแต่ละแผนกเป็นผู้ดูแลนั้น ก็ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีเพียงจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาแต่ผู้เดียว เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาร่วมกับผู้เขียนข้อความในการกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
    เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ และของจำเลยที่ 2 อีกหลายข้อ แต่เมื่อคู่ความได้สืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และของจำเลยที่ 2 ไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย
    คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า บ้านของโจทก์ที่พักอาศัยอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ด้านหน้าเปิดเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยว อาหาร เครื่องดื่ม ด้านหลังใช้พักอาศัย ร้านที่ขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทดังกล่าวมีร้านเดียวคือร้านของโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่า ร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มีร้านอื่นนอกจากร้านของโจทก์ด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ ดังนั้น แม้ข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุชื่อหรือชื่อสกุลของโจทก์ หรือชื่อร้านค้าของโจทก์ แต่เมื่อร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มีร้านค้าของโจทก์เพียงร้านเดียว การที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์ข้อความว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความดังกล่าวย่อมทราบหรือเข้าใจได้ทันทีว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวของโจทก์จำหน่ายยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
    มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
    มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ภายหลังจากที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการได้ลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์แล้วปรากฏว่าได้มีการลงแก้ข่าวให้แก่โจทก์ในภายหลัง นับว่าเป็นการพยายามแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่โจทก์ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
    พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 83 ส่วนโทษให้บังคับคดีจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

    ผู้พิพากษา
    ชัยเจริญ ดุษฎีพร
    วรงค์พร จิระภาค
    ชูชีพ ปิณฑะสิริ




    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลา 03:13:51
    ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 เวลา 03:13:51


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78    มาตรา ๗๘
        เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
        เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328    มาตรา ๓๒๘
        ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 238 / 2524
    โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์เห็นใจและให้อภัยจำเลยแล้ว ไม่ติดใจเอาโทษจำเลยต่อไป คำแถลงดังกล่าวเป็นการแถลงขอให้ศาลปรานีจำเลย เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษเท่านั้น มิใช่เป็นการยอมความ สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับ
    คดีที่จำเลยฎีกาได้เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจใช้ดุลพินิจลดโทษจำเลยให้เบาลงได้

    คำพิพากษาย่อยาว

    โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใส่ความโจทก์ต่อบุคคลอื่นว่าเงินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกู้ยืมไปนั้น เป็นเงินที่โจทก์มอบให้จำเลยเพื่อตอบแทนการที่จำเลยให้ความสุขแก่โจทก์ในทางเพศ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328
    ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
    จำเลยให้การรับสารภาพ
    ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 328, 78 จำคุก 3 เดือน
    จำเลยอุธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
    ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 500 บาทให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี
    จำเลยฎีกาว่า โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลอุทธรณ์มีใจความว่า เห็นใจและให้อภัยจำเลยแล้ว ไม่ติดใจเอาโทษจำเลยต่อไป ถือได้ว่ามีการยอมความแล้วสิทธิในการฟ้องคดีเป็นอันระงับไป ขอให้จำหน่ายคดี แต่ถ้าจำหน่ายคดีไม่ได้ก็ขอให้ยกโทษจำคุก
    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลอุทธรณ์ว่า โจทก์เห็นใจและให้อภัยจำเลยแล้ว ไม่ติดใจเอาโทษจำเลยต่อไป คำแถลงดังกล่าวเป็นการแถลงขอให้ศาลปรานีจำเลย เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษเท่านั้น มิใช่เป็นการยอมความ สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องไม่ระงับ
    ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ยกโทษจำคุกนั้น เห็นว่าจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อนทั้งเมื่อกระทำความผิดคดีนี้แล้ว จำเลยได้ขอขมาโจทก์หลายครั้ง โจทก์ไม่ติดใจเอาโทษจำเลยคดีมีเหตุสมควรปรานีจำเลย
    พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกโทษจำคุก คงปรับแต่อย่างเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 55 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
    ผู้พิพากษา
    ธาดา วัชรานันท์
    กุศล บุญยืน
    บรรเทอง ภู่กฤษณา


    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

แสดงความคิดเห็น

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:03:49
    ปรับปรุงล่าสุด : วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 18:08:45


    สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก บางท่านใช้งานอย่างสนุกสนายจนลืมไปว่า มีกฎหมายคุ้มครองการใช้งานอยู่หลายประการ สิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้ และ สำนึกในความรับผิดชอบและใช้งานอย่างมีขอบเขต

      กฎหมายที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ,มาตรา 328 และ มาตรา 393

    แต่หากผู้เสียหายไปแจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาการกลั่นแกล้งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีกลับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ได้เช่นกัน


    ประมวลกฎหมายอาญา-มาตรา-326




    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 2 Online
» 13 Today
» 124 Yesterday
» 898 Week
» 4505 Month
» 201437 Year
» 1452842 Total
Record: 10208 (10.06.2023)
Free PHP counter