ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป
ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป
หมวด 1 บทนิยาม
มาตรา ๑
ในประมวลกฎหมายนี้
(๑) "โดยทุจริต"
หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
(๒) "ทางสาธารณะ"
หมายความว่า ทางบกหรือทางน้ำสำหรับประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดิน สำหรับประชาชนโดยสารด้วย
(๓) "สาธารณสถาน"
หมายความว่า สถานที่ใดๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
(๔) "เคหสถาน"
หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรีอหรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึง บริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม
(๕) "อาวุธ"
หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ
(๖) "ใช้กำลังประทุษร้าย"
หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน
(๗) "เอกสาร"
หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
(๘) "เอกสารราชการ"
หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึง สำเนาเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
(๙) "เอกสารสิทธิ"
หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ
(๑๐) "ลายมือชื่อ"
หมายความรวมถึงลายพิมพ์นิ้วมือและเครื่องหมายซึ่งบุคคลลงไว้แทนลายมือชื่อของตน
(๑๑) "กลางคืน"
หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น
(๑๒) "คุมขัง"
หมายความว่า คุมตัว ควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก
(๑๓) "ค่าไถ่"
หมายความว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอาหรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง
(๑๔) "บัตรอิเล็กทรอนิกส์"
หมายความว่า
(ก) เอกสารหรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิ์ใช้ ซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกันซึ่งรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงหรือวิธีการทางแม่เหล็กให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข รหัส หมายเลขบัตร หรือสัญลักษณ์อื่นใด ทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
(ข) ข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือทางตัวเลขใดๆ ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ โดยมิได้มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ แต่มีวิธีการใช้ในทำนองเดียวกับ (ก) หรือ
(ค) สิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ
* มาตรา ๑(๑๔) เพิ่มเติมโดย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๗) พ.ศ.๒๕๔๗ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๖๕ ก หน้า ๒๒ วันที่ ๒๕๔๗)
(๑๕) "หนังสือเดินทาง"
หมายความว่า เอกสารสำคัญประจำตัวไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่รัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศออกให้แก่บุคคลใด เพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางระหว่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและแบบหนังสือเดินทางที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเกี่ยวกับผู้ถือหนังสือเดินทางด้วย
* มาตรา ๑(๑๕) เพิ่มเติมโดย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ.๒๕๕๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๔๒ ก หน้า ๑ วันที่ ๒๕๕๐)
(๑๖) "เจ้าพนักงาน"
หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่
* มาตรา ๑(๑๖) เพิ่มเติมโดย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ.๒๕๕๘ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๐ ก หน้า ๔๓ วันที่ ๒๕๕๘)
(๑๗) "สื่อลามกอนาจารเด็ก"
หมายความว่า วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนต์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพหรือรูปแบบอื่นใด ในลักษณะทำนองเดียวกันและให้หมายรวมถึง วัตถุหรือสิ่งต่างๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้
* มาตรา ๑(๑๗) เพิ่มเติมโดย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๔) พ.ศ.๒๕๕๘ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๘๖ ก หน้า ๘๔ วันที่ ๒๕๕๘)
(๑๘) "กระทำชำเรา"
หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น
* มาตรา ๑(๑๘) เพิ่มเติมโดย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ.๒๕๖๒ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๖๙ ก หน้า ๑๒๗ วันที่ ๒๕๖๒)
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่บันทึก : วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 17:26:33
วันที่ปรับปรุง : วันศุกร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 17:26:33
ในนิยามของ (8) และ (9) มีอ้างระบุในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 "ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท" ซึ่งเป็นเหตุฉกรรจ์หรือเหตุที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าการปลอมเอกสารทั่วไป และต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ผู้กระทำความผิดรู้อยู่ในขณะกระทำความผิดว่าเป็นเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ เพราะถ้าไม่รู้ก็รับผิดเพียงการปลอมเอกสารทั่วไปตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่บันทึก : วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 23:11:08
วันที่ปรับปรุง : วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 23:11:08
คำว่า "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญา กว้างกว่าคำว่า เอกสาร ตามความเข้าใจโดยทั่วไป เพราะมิได้หมายความเฉพาะที่เป็นกระดาษเท่านั้น แต่จะเป็นวัตถุอื่นใดก็ได้เช่น โลหะ แผ่นหนัง ไม้ กระจก ขี้ผึ้ง คอนกรีต แผ่นพลาสติก แผ่นไฟเบอร์กลาส น้ำแข็ง เป็นต้น ข้อสำคัญจะต้องทำให้ปรากฏความหมายขึ้นบนกระดาษหรือวัตถุนั้นด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น และการทำให้ปรากฏความหมายนี้จะทำโดยวิธีใดๆก็ได้ เช่น เขียน พิมพ์ ถ่ายภาพ สกัด เคาะรหัสโทรเลข กดเครื่องคิดเลข ให้ปรากฏตัวเลขออกมา พูดอัดเสียงในเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ชนิดหนึ่ง ทำให้ปรากฏตัวเลขตัวอักษรขึ้นมาบนกระดาษตรงตามที่พูด ดีดลูกคิดคำนวณตัวเลขเอาไว้ เอาตราประทับไว้ที่ต้นไม้ ให้เป็นเครื่องหมายเพื่อให้รู้ว่าไม้ต้นนั้นจะต้องถูก ตัด ฟัน กดปุ่มนาฬิกาจับเวลาการแข่งขันวิ่งเร็ว เพื่อให้รู้ว่าใช้เวลาวิ่งเท่าใด เป็นต้น ไม่จำกัดวิธีการในการทำให้ความหมายปรากฏ แต่ก็จะต้องมีลักษณะที่สามารถเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้นได้ ถ้าไม่อาจเป็นหลักฐานได้ ก็ไม่ถือว่าเป็นเอกสาร เช่น สัญญาณธงของทหารเรือ สัญญาณควันของลูกเสือ สัญญาณมือของตำรวจจราจร สัญญาณธงของพนักงานการรถไฟ เป็นต้น เพราะเมื่อปรากฏความหมายแล้วก็หายไปในทันที ไม่สามารถเป็นหลักฐานอย่างใดได้
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่บันทึก : วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 23:29:39
วันที่ปรับปรุง : วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 23:29:39
ความหมายของคำว่า ลายมือชื่อ แยกได้ 3 อย่าง คือ
1.ลายมือชื่อหรือลายเซ็น ซึ่งรวมถึงพระปรมาภิไธย ตามมาตรา 250
2.ลายพิมพ์นิ้วมือ
3.เครื่องหมายต่างๆ ซึ่งบุคคลลงไว้แทนลายมือชื่อของตน (ในปัจจุบันมีน้อย หรือแทบจะไม่มีแล้ว เช่น กากบาทหรือแกงได)
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 15:09:49
ปรับปรุงล่าสุด : วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2565 เวลา 15:09:49
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มาตรา ๒๖๔
ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2092 / 2564การปลอมเอกสาร ไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
------------------------
คำพิพากษาฎีกาที่ 2092/2564
เอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ เมื่อพิจารณาหนังสือจะซื้อจะขายที่ดินกับกรมบังคับคดี มีข้อความระบุข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างกรมบังคับคดีฝ่ายจำหน่ายทรัพย์ภายในผู้จะขายกับนาย ส.ผู้จะซื้อ
ส่วนหนังสือเรื่อง คำสั่งรอการพิจารณาการจำหน่ายทรัพย์ มีข้อความแจ้งนาย ส.ว่าจำเลย ที่เป็นผู้ถือครองทรัพย์ที่ดินเดิม ขอโอกาสไถ่ถอนซื้อคืนทรัพย์ ซึ่งหากไถ่ถอนชื้อคืนได้ฝ่ายจำหน่ายทรัพย์กรมบังคับคดี จะคืนเงินให้แก่นาย ส. แต่หากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามคำร้องขอต่อศาลได้ จะแจ้งให้ทราบ เพื่อมาทำ สัญญาต่อไป หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวด้านบนระบุชื่อของกรมบังคับคดี และมีข้อความในบรรทัดแรกว่าทำที่กรมบังคับคดี ซึ่งเป็นส่วนราชการโดยมีเนื้อหาข้อความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการของกรมบังคับคดี ทั้งยังระบุตำแหน่งและลายมือชื่อปลอมของผู้อำนวยการกองจำหน่ายทรัพย์ อันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การปลอมรูปแบบ เนื้อหาข้อความลายมือชื่อ รวมทั้งตำแหน่งของผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือ ล้วนมุ่งประสงค์ให้นาย ส. และผู้พบเห็นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงซึ่งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีที่ได้ทำขึ้นในหน้าที่ เพื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนาย ส.และแจ้งผลการดำเนินการให้นาย ส.ทราบ แม้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าหนังสือจะซื้อจะขายที่ดินและหนังสือเรื่องคำสั่งรอการพิจารณาการจำหน่ายทรัพย์ ไม่ใช่หนังสือราชการของกรมบังคับคดีที่ต้องมีเครื่องหมายครุฑและกรมบังคับคดี ไม่เคยมีหนังสือลักษณะดังกล่าวก็ตาม แต่การทำเอกสารปลอมนั้น ไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อนและไม่จำต้องทำให้เหมือนจริง ดังนั้น หนังสือดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารปลอม ที่มุ่งประสงค์ให้นาย ส.และผู้พบเห็นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงซึ่งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีได้ทำขึ้นในหน้าที่ จึงเป็นเอกสารราชการปลอม การที่จำเลยนำหนังสือจะซื้อจะขายที่ดินกับกรมบังคับคดีและหนังสือเรื่องคำสั่งรอการพิจารณาการจำหน่ายทรัพย์ไปมอบให้แก่นาย ส.จึงเป็นการกระทำความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 19:01:11
ปรับปรุงล่าสุด : วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 19:01:11
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 มาตรา ๓๓๙
ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(๕) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 10094 / 2557ผู้เสียหายเป็นหนี้จำเลย 500 บาท จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องทางแพ่งเพื่อขอให้ผู้เสียหายชำระหนี้ จำเลยหามีสิทธิเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปเพื่อเป็นประกันให้ผู้เสียหายชำระหนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการบังคับให้ผู้เสียหายชำระหนี้โดยพลการซึ่งไม่มีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย เป็นการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต เมื่อจำเลยใช้อาวุธปืนข่มขู่ผู้เสียหายไม่ให้ขัดขืนด้วย จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืน
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 01:42:32
ปรับปรุงล่าสุด : วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 02:38:54
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 มาตรา ๘๐
ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 มาตรา ๘๒
ผู้ใดพยายามกระทำความผิด หากยับยั้งเสียเองไม่กระทำการให้ตลอด หรือกลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดนั้น แต่ถ้าการที่ได้กระทำไปแล้วต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้นๆ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 339 / 2564ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ยังเป็นเด็ก ร่างกายไม่พร้อมต่อการมีเพศสัมพันธ์ ที่จำเลยจะใช้อวัยวะเพศสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ให้สำเร็จได้โดยง่าย อีกทั้งผู้เสียหายที่ 1 ยังใช้มือปัดป้องเป็นการขัดขวางไม่ให้จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงต้องหยุดกระทำ กรณีเช่นนี้ถือว่าเรื่องที่จำเลยยับยั้งเสียเองโดยสมัครใจ เข้าข้อยกเว้นให้ไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 หรือไม่
------------------
การยับยั้งเสียเองซึ่งทำให้ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 เป็นกรณีที่ผู้กระทำได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่มีการยับยั้งไม่กระทำความผิดไปให้ตลอด ซึ่งจะต้องเป็นการยับยั้งโดยสมัครใจของผู้กระทำเอง จำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 10 ปีเศษ ถึง 13 ปีเศษ แต่ที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ไปไม่ตลอด เป็นเพราะผู้เสียหายที่ 1 ยังเป็นเด็กร่างกายไม่พร้อมต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่จำเลยจะใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ให้สำเร็จได้โดยง่าย อีกทั้งผู้เสียหายที่ 1 ยังใช้มือปัดป้องเป็นการขัดขวางไม่ให้จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงต้องหยุดกระทำ เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยยับยั้งเสียเองโดยสมัครใจ แต่เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยภายนอกที่ทำให้จำเลยต้องจำใจหยุดกระทำต่อไป จึงไม่เข้าข้อยกเว้นให้ไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82
------------------
ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 10 ปีเศษ ถึง 13 ปีเศษ แม้จะปรากฎข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาว่า อวัยวะเพศของจำเลยยังไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แล้วจำเลยเลิกกระทำต่อไป จึงเป็นผลให้การกระทำยังไม่บรรลุผลเป็นความผิดสำเร็จก็ตามแต่ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ว่า ขณะที่จำเลยลงมือกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำเลยพยายามเอาอวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่สามารถกระทำได้ ผู้เสียหายที่ 1 รู้สึกเจ็บ พยายามใช้มือปัดออก จำเลยจึงไม่สามารถสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ได้ จำเลยจึงหยุดกระทำ พฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า ที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ไปไม่ตลอด เป็นเพราะผู้เสียหายที่ 1 ยังเป็นเด็ก ร่างกายไม่พร้อมต่อการมีเพศสัมพันธ์ที่จำเลยจะใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 ให้สำเร็จได้โดยง่าย อีกทั้งผู้เสียหายที่ 1 ยังใช้มือปัดป้องเป็นการขัดขวางไม่ให้จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงต้องหยุดกระทำกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยยับยั้งเสียเองโดยสมัครใจ แต่เป็นเพราะมีเหตุปัจจัยภายนอกที่ทำให้จำเลยต้องจำใจหยุดกระทำต่อไป จึงไม่เข้าข้อยกเว้นให้ไม่ต้องรับโทษสำหรับการพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 จำเลยต้องรับโทษฐานพยายามกระทำชำเรา ตามประมวลกฎหมายอาญ มาตรา 277 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (เดิม) ประกอบมาตรา 80 ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าวมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก็ฟังขึ้น
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 18:31:48
ปรับปรุงล่าสุด : วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 18:31:48
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 มาตรา ๒
บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 มาตรา ๒๗๗
ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิจารณาให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กแทนการลงโทษก็ได้ ในการพิจารณาของศาล ให้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ สภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อมของผู้กระทำความผิดและเด็กผู้ถูกกระทำ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำความผิดกับเด็กผู้ถูกกระทำ หรือเหตุอื่นอันควรเพื่อประโยชน์ของเด็กผู้ถูกกระทำด้วย
ในกรณีที่ได้มีการดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้ถูกกระทำหรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กแล้ว ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ถ้าการคุ้มครองสวัสดิภาพดังกล่าวไม่สำเร็จ ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ในการพิจารณาของศาล ให้คำนึงถึงเหตุตามวรรคห้าด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 มาตรา ๒๗๙
ผู้ใดกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำแก่เด็กอายุไม่เกินสิบสามปีต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ผู้กระทำได้กระทำโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้เด็กนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเด็กนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสี่ เป็นการกระทำแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสี่หรือวรรคห้า ได้กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสี่หรือวรรคห้า ได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 7469 / 2562 (ประชุมใหญ่)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 23/2562)
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน และมาตรา 3 ให้เพิ่มความในมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานกระทำชำเราว่า จะต้องเป็นการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้ถูกระทำ จึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด อันเป็นการปรับปรุงนิยามคำว่า "กระทำชำเรา" ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับลักษณะการกระทำชำเราทางธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อคดีได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ใช้มือจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายรูดขึ้นลงแล้วใช้ปากของจำเลยดูดและอมอวัยวะเพศของผู้เสียหาย โดยไม่ได้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องทางปากของผู้เสียหาย จึงไม่เป็นการกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) อีกต่อไป ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก (เดิม) หรือเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะไม่ได้เข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศอันเป็นการล่วงเกินผู้เสียหายแล้ว จึงเป็นการล่วงล้ำอวัยวะเพศของผู้เสียหาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) แต่ความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กยังไม่เกินสิบสามปีโดยการล่วงล้ำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคห้า (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสี่แสนบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต เท่ากันกับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบสามปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ระวางโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณ ศาลต้องพิจารณาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยกระทำความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 18:10:43
ปรับปรุงล่าสุด : วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 18:10:43
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 มาตรา ๓๓๕
ผู้ใดลักทรัพย์
(๑) ในเวลากลางคืน
(๒) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ
(๓) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ
(๔) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
(๕) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้
(๖) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน
(๗) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป
(๘) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้นๆ
(๙) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถ หรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ
(๑๐) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
(๑๑) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง
(๑๒) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไปผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ก็ได้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ มาตรา ๓๓๖ ทวิ
ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๓๔ มาตรา ๓๓๕ มาตรา ๓๓๕ ทวิ หรือมาตรา ๓๓๖ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจหรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 320 / 2562การกระทำโดยเล็งเห็นผล หมายความว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายอย่างแรง เป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น รถจักรยานอาจจะล้มหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น แม้รถจักรยานของผู้เสียหายจะล้มลง ก็เป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าของจำเลยที่ 2 หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลที่จะใช้กำลังประทุษร้ายแก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด ทั้งผู้เสียหายก็ไม่มีบาดแผลจากการล้มลงปรากฏให้เห็น ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องว่าแรงกายภาพที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำนั้น ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหาย สภาพเช่นนี้จึงยังไม่พอให้ถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย ตามความหมายของ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (6) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดตามมาตรา 335 (1)(7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 19:23:33
ปรับปรุงล่าสุด : วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เวลา 19:25:24
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มาตรา ๒๖๔
ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2347 / 2561แม้หนังสือมอบอำนาจกับหนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ทำปลอมขึ้นจะเป็นเอกสารคนละประเภทกันและเขียนวันที่คนละวันกัน แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกันคือเพื่อให้ได้เงินกู้จากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
หนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงเอกสารที่บุคคลหนึ่งเป็นผู้มอบอำนาจมอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทน มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ หนังสือมอบอำนาจจึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 1 (9)
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นเอกสารราชการ แต่มีเพียงการปลอมลายมือชื่อของเจ้าของบัตรและเจ้าของทะเบียนบ้านลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่แท้จริง โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านให้แตกต่างไปแต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว ยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อเจ้าของบัตรและเจ้าของทะเบียนบ้านลงในสำเนาบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน จึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23:55:11
ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23:55:11
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 มาตรา ๓๓๙
ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
(๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
(๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
(๕) ให้พ้นจากการจับกุม
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท
ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสามแสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 3269 / 2531คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยกับพวกใช้ยากดประสาทอย่างแรงใส่ลงในกาแฟให้ผู้เสียหายดื่ม เมื่อผู้เสียหายดื่มแล้วสิ้นสติไปแทบจะทันทีแล้วจำเลยกับพวกได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป ผู้เสียหายฟื้นคืนสติที่โรงพยาบาลหลังจากเวลาล่วงไปประมาณ 12 ชั่วโมงดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้รับอันตรายแก่กายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ถือได้ว่าเป็นอันตรายแก่จิตใจของผู้เสียหายแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยร่วมกับพวกชิงทรัพย์ผู้เสียหาย โดยใช้ยาสลบใส่ลงในกาแฟให้ผู้เสียหายดื่ม จนมึนเมาสลบไม่ได้สติจำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม จำคุก 12 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ฟ้อง ได้มีคนร้ายใช้ยาสลบใส่ลงในกาแฟให้นายชาญ เรืองวุฒิชนะพืช นาวาอากาศโทสุรีย์ คุณฑีทองนายนิรันดร์ ไทยเนียม และนาวาอากาศตรีประจวบ พึ่งพัฒน์ผู้เสียหายทั้งสี่ดื่ม จนผู้เสียหายทั้งสี่มึนเมาสลบไม่ได้สติและคนร้ายได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องไปเจ้าหน้าที่ตำรวจจับจำเลยได้ในคืนเกิดเหตุแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายผู้เสียหายทั้งสี่แล้วลงความเห็นว่าได้รับยากดประสาทอย่างแรงส่วนเศษกาแฟของกลางผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์พบสารชนิดพีโนบาร์บิตาล ซึ่งเป็นสารชนิดวัตถุออกฤทธิ์ต่อประสาทเจือปนอยู่ทำให้ผู้ดื่มสารดังกล่าวหมดสติ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยได้กระทำผิดดังฟ้องโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายนิรันดร์ นาวาอากาศโทสุรีย์และนาวาอากาศตรีประจวบผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า ขณะผู้เสียหายทั้งสี่ นางสาวต๋อยและจำเลยเล่นไพ่ในห้องเลขที่ 609 ของโรงแรมวังใต้ นางสาวต๋อยได้พูดโทรศัพท์สั่งกาแฟจากห้องอาหาร เมื่อพนักงานโรงแรมนำกาแฟมาให้แล้วนางสาวต๋อยเป็นผู้ชงกาแฟและร่วมกับจำเลยแจกกาแฟให้ทุกคนที่อยู่ในห้องดื่ม ผู้เสียหายทั้งสี่ได้ดื่มกาแฟ ส่วนจำเลยกับนางสาวต๋อยไม่ได้ดื่มกาแฟด้วย เมื่อดื่มแล้วผู้เสียหายทั้งสี่ก็หมดสติ เมื่อฟื้นขึ้นมาปรากฏว่าทรัพย์สินสูญหายไป และโจทก์มีนายอรุณ ต่อศิริ พนักงานขับรถของกรมป่าไม้มาเบิกความเป็นพยานประกอบใกล้ชิดขณะเกิดเหตุว่า คืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ขณะพยานจะเข้าห้องพักเลขที่ 611 ได้พบจำเลยและนางสาวต๋อยเปิดประตูห้องเลขที่ 609 ออกมา พยานจึงชวนจำเลยกับนางสาวต๋อยไปที่ห้องพยาน แต่จำเลยบอกว่าจะรีบกลับ หลังจากนั้นจำเลยกับนางสาวต๋อยก็ลงลิฟต์ไปชั้นล่างเมื่อพยานเข้าไปในห้องเลขที่ 609 พบผู้เสียหายทั้งสี่นอนสิ้นสติอยู่เชื่อว่าถูกวางยา จึงวิ่งลงมาทางบันไดเพื่อตามหาจำเลยกับนางสาวต๋อย พบจำเลยยืนอยู่หน้าร้านอาหารในโรงแรมจึงควบคุมตัวไว้และแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับ ตามคำพยาน โจทก์ดังกล่าวซึ่งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยกับพวกมาก่อน จึงไม่ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งปรักปรำจำเลยโดยไม่เป็นความจริง น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามที่รู้เห็นจริง คดีนี้แม้โจทก์จะไม่มีพยานรู้เห็นขณะจำเลยกับพวกใส่ยาสลบลงในกาแฟให้ผู้เสียหายทั้งสี่ดื่มแต่ก็ได้ความว่าในห้องเลขที่ 609 นอกจากผู้เสียหายทั้งสี่แล้วคงมีจำเลยกับนางสาวต๋อยอยู่ด้วยโดยไม่มีคนอื่นอีกเลยนางสาวต๋อยเป็นคนชงกาแฟเมื่อชงแล้วจำเลยกับนางสาวต๋อยก็ช่วยกันแจกกาแฟให้ผู้เสียหายทั้งสี่ดื่มโดยทั้งสองคนไม่ได้ดื่มกาแฟและไม่ได้หมดสติไปด้วย หากจำเลยกับพวกไม่ทราบว่าในกาแฟมียาสลบผสมอยู่ จำเลยกับพวกก็คงจะร่วมดื่มกาแฟและคงจะหมดสติอยู่ในห้องกับผู้เสียหายทั้งสี่ด้วย อีกประการหนึ่ง ถ้าจำเลยกับพวกมิได้วางยาสลบผู้เสียหายทั้งสี่เพื่อหวังเอาทรัพย์สินจริงแล้ว เมื่อเห็นผู้เสียหายทั้งสี่นอนสลบเช่นนั้น จำเลยกับพวกก็น่าจะช่วยแก้ไขให้ฟื้นจากสลบ หรืออย่างน้อยก็น่าจะแจ้งเหตุให้พนักงานโรงแรมหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบทันที แต่กลับปรากฏว่าจำเลยกับพวกได้ออกจากห้องไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้ใดทราบเลยและในคืนเกิดเหตุ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยไว้ที่หน้าห้องอาหารในโรงแรมวังใต้ตามที่นายอรุณแจ้ง เมื่อตรวจค้นตัวจำเลยก็พบธนบัตร เหรียญกษาปณ์ ใบมีดโกนหนวด และไม้ขีดไฟแช็ก ตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายทั้งสี่ พฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยกับพวกอีก1 คน ได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ยาสลบผสมในกาแฟให้ผู้เสียหายทั้งสี่ดื่มเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสี่หมดสติไป อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วจำเลยกับพวกได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสี่ไป ทั้งนี้เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์และการพาเอาทรัพย์ไป จึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยเองก็ได้ดื่มกาแฟจนมีอาการมึนศีรษะหมดสติไปด้วยนั้นไม่น่าเชื่อเพราะนายอรุณเบิกความว่าได้พบจำเลยและนางสาวต๋อยออกมาจากห้องเลขที่ 609 เมื่อนายอรุณเข้าไปในห้องเลขที่ 609 เห็นผู้เสียหายทั้งสี่หมดสติจึงวิ่งลงไปข้างล่าง พบจำเลยยืนอยู่หน้าห้องอาหารจึงควบคุมตัวจำเลยไว้แล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาจับจำเลย พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ส่วนที่ว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม หรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยกับพวกใช้สารพีโนบาร์บิตาลซึ่งเป็นยากดประสาทอย่างแรงใส่ลงในกาแฟให้ผู้เสียหายดื่ม เมื่อผู้เสียหายดื่มแล้วสิ้นสติไปแทบจะทันทีและไปฟื้นคืนสติที่โรงพยาบาลหลังจากเวลาล่วงไปประมาณ 12 ชั่วโมงแม้ผู้เสียหายจะไม่ได้รับอันตรายแก่กายอย่างหนึ่งอย่างใดก็ถือได้ว่าเป็นอันตรายแก่จิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสาม ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยต้องกันมา และที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้นศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ซึ่งกฎหมายกำหนดโทษให้จำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี ที่ศาลล่างทั้งสองวางโทษจำคุกเพียง 12 ปีนั้น นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
ผู้พิพากษา
ประชา บุญวนิช
ดุสิต วราโห
เสริมพงศ์ วรยิ่งยง
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 21:54:26
ปรับปรุงล่าสุด : วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 03:44:49
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 มาตรา ๒๖๙/๕
ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/7 มาตรา ๒๖๙/๗
ถ้าการกระทำดังกล่าวในหมวดนี้ เป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 350 / 2564มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่จำเลยนำข้อมูลบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระค่าบริการที่พักของจำเลยผ่านเว็บไซค์ อโกด้า ดอทคอม โดยโจทก์ไม่ยินยอม เป็นความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยมิชอบหรือไม่
บัตรเครดิตถือเป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์ " ตามบทนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) เนื่องจากผู้ออกได้ออกเอกสารคือบัตรเครดิตให้แก่ผู้มีสิทธิใช้โดยมีการบันทึกข้อมูลในชิปการ์ดและเทปแม่เหล็ก ซึ่งเป็นวิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน
ส่วนข้อมูลบัตรเครดิต ได้แก่ หมายเลขบัตรเครดิต ชื่อผู้ถือ และวันหมดอายุ เมื่อปรากฎอยู่บนบัตรเครดิต ซึ่งเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย ถือว่าเป็นกรณีที่มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ จึงไม่เป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามบทนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ข)
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) เป็นเพียงบทนิยามว่าสิ่งใดเป็น "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่มิได้ระบุเกี่ยวกับวิธีใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ไว้โดยเฉพาะ การวินิจฉัยว่าการกระทำใดเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำนั้นเป็นวิธีใช้โดยทั่วไปของบัตรอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนั้นหรือไม่ โดยไม่จำกัดว่าหากเป็น "บัตรอิล็กทรอนิกส์" ตามนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) แล้ว การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์จะต้องเป็นการใช้เอกสารหรือวัตถุอื่นใดที่ผู้ออกได้ออกให้โดยตรงเท่านั้น ดังจะเห็นได้จาก "บัตรอิเล็กทรอนิกส์" ตามนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ข) ที่ระบุว่า "....วิธีการใช้ทำนองเดียวกับ (ก)" ทั้งที่ไม่มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดไว้ให้ แสดงว่าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามนิยามแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (14) (ก) ย่อมสามารถใช้เฉพาะข้อมูลหรือรหัสได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้การวินิจฉัยว่าจำเลยใช้บัตรเครดิตของโจทโดยมิชอบหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นวิธีใช้
บัตรเครดิตโดยทั่วไปหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันการกรอกข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสดผ่านทางเว็บไซต์ โดยผู้รับชำระไม่ต้องเห็นบัตรเครดิต เป็นวิธีใช้บัตรเครดิตโดยทั่วไปวิธีหนึ่ง
การที่จำเลยนำข้อมูลบัตรเครดิตของโจทก์ไปใช้ชำระค่าบริการที่พักของจำเลยผ่านเว็บไซต์ อ. ดอทคอม จึงเป็นการใช้บัตรเครดิตของโจทก์แล้ว จำเลยมีความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ออกให้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด โดยมิชอบตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23:36:32
ปรับปรุงล่าสุด : วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 23:56:32
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 มาตรา ๓๖๔
ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 มาตรา ๓๖๕
ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๖๒ มาตรา ๓๖๓ หรือมาตรา ๓๖๔ ได้กระทำ
(๑) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
(๒) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
(๓) ในเวลากลางคืน
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 7824 / 2556 (ประชุมใหญ่)
เคหสถานตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(4) ให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย ฉะนั้นหลังคาบ้านย่อมเป็นเคหสถานตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ผู้เสียหายทั้งสองกับจำเลยจะมีบ้านอยู่ใกล้กัน แต่ก็หาได้คุ้นเคยหรือสนิทสนมกันไม่ กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องการถือวิสาสะ อีกทั้งขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน จำเลยย่อมไม่มีอำนาจหรือไม่มีสิทธิจะเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อน แม้จำเลยอ้างว่าเข้าไปเพราะต้องการจะเก็บปืนของเล่นให้แก่บุตรชายของตนก็ตาม แต่เหตุตามที่จำเลยอ้างมิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วนถึงขนาดว่าจำเลยจะปีนขึ้นไปบนหลังคาบ้านผู้อื่นในยามวิกาลตามอำเภอใจโดยไม่บอกกล่าวหรือขออนุญาตเจ้าของบ้านก่อน ทั้งเมื่อจำเลยถูกตำหนิที่ไม่ขออนุญาต กลับโต้เถียงและด่าว่าผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของเคหสถานด้วยถ้อยคำหยาบ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 364
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 03:31:39
ปรับปรุงล่าสุด : วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 03:31:39
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 มาตรา ๒๙
ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้
ความในวรรคสองของมาตรา ๒๔ มิให้นำมาใช้บังคับแก่การกักขังแทนค่าปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 มาตรา ๓๐
ในการกักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตราห้าร้อยบาทต่อหนึ่งวัน และไม่ว่าในกรณีความผิดกระทงเดียวหรือหลายกระทง ห้ามกักขังเกินกำหนดหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแต่ไม่เกินสองปีก็ได้
ในการคำนวณระยะเวลานั้น ให้นับวันเริ่มกักขังแทนค่าปรับรวมเข้าด้วยและให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง
ในกรณีที่ผู้ต้องโทษปรับถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังนั้นออกจากจำนวนเงินค่าปรับ โดยถืออัตราห้าร้อยบาทต่อหนึ่งวัน เว้นแต่ผู้นั้นต้องคำพิพากษาให้ลงโทษทั้งจำคุกและปรับ ในกรณีเช่นว่านี้ ถ้าจะต้องหักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากเวลาจำคุกตามมาตรา ๒๒ ก็ให้หักออกเสียก่อนเหลือเท่าใดจึงให้หักออกจากเงินค่าปรับ
เมื่อผู้ต้องโทษปรับถูกกักขังแทนค่าปรับครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด ถ้านำเงินค่าปรับมาชำระครบแล้ว ให้ปล่อยตัวไปทันทีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มาตรา ๕๖
ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือลงโทษปรับ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น
(๑) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ
(๒) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ
(๓) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
และเมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว ศาลจะพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกําหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่าง เพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกินห้าปี
นับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้
เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อตามควรแก่กรณีได้ ดังต่อไปนี้
(๑) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์
(๒) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(๓) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
(๔) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(๕) ให้เข้ารับการฝึกอบรม ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(๖) ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนด ทั้งนี้ จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางด้วยก็ได้
(๗) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเยียวยาความเสียหายโดยวิธีอื่นให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายตกลงกัน
(๘) ให้แก้ไขฟื้นฟูหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม หรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการดังกล่าว
(๙) ให้ทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินตามที่ศาลเห็นสมควรว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายหรือก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน
(๑๐) เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อ แก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก หรือเงื่อนไขในการเยียวยาผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร
เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคสองนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการ หรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควรศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขข้อใดตามที่กล่าวในวรรคสองที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้หรือถ้ามีการกระทำผิดทัณฑ์บนให้นำบทบัญญัติมาตรา ๔๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มาตรา ๒๖๔
ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 มาตรา ๒๖๕
ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 มาตรา ๒๖๘
ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖ หรือมาตรา ๒๖๗ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเอง ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 4495 / 2548คำพิพากษาย่อสั้น
คำว่า "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานความหมายนั้น ดังนั้น เอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้ การปลอมเอกสารจึงไม่ต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบของกำนันโดยลงลายมือชื่อปลอมบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออก กับปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของกำนันลงในเอกสารเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำปลอมขึ้นซึ่งหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองว่าความเห็นชอบของกำนันอันเป็นเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับโดยนำแบบพิมพ์หนังสือลาออกของที่ว่าการอำเภอพานทองมาเขียนกรอกข้อความว่า "เขียนที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน วันที่ 30 เดือน พ.ย. พ.ศ.2543 เรื่อง ขอลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เรียน นายอำเถอพานทอง เนื่องด้วย ข้าพเจ้า นายแมน เขียวสม ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายให้ได้ดีเท่าที่ควร อาจเกิดความเสียหายแก่ทางราชการและประชาชน จึงขอลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบางนาง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 30 เดือน พ.ย. พ.ศ.2543 ขอได้โปรดพิจารณาอนุญาตให้ข้าพเจ้าลาออกจากตำแหน่งได้ตามประสงค์ด้วย ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อ แมน เขียวสม ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลบางนาง ความเห็นกำนันผู้ใหญ่บ้านท้องที่ เห็นสมควรตามที่ผู้ช่วยขอลาออก ลงชื่อ (ลายมือชื่อ) ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ลงชื่อ สายสุนีย์ บุญมี ตำแหน่งกำนันตำบลบางนาง" เพื่อให้นายอำเภอพานทองหลงเชื่อว่า นายแมนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ขอลาออกจากตำแหน่งจะได้ออกคำสั่งอนุญาต ความจริงแล้วนายแมนไม่ได้เขียนหนังสือออกแต่อย่างใด และจำเลยนำเอกสารราชการปลอมดังกล่าวไปใช้อ้างแสดงต่อนางสาวนพรัตน์ กุญแจทอง และนายอำเภอพานทอง ว่า นายแมนขอลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 เพื่อให้นางสาวนพรัตน์ดำเนินการตรวจสอบเอกสารและนำเสนอนายอำเภอพานทองเพื่ออนุมัติ นางสาวนพรัตน์ตรวจสอบแล้วเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงนำเสนอนายอำเภอพานทอง นายอำเภอพานทองหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงออกคำสั่งให้นายแมนออกจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายอำเภอพานทอง นางสายสุนีย์ บุญมี นางสาวนพรัตน์ กุญแจทอง นายแมน เขียวสม ผู้อื่นหรือประชาชน ต่อมาจำเลยปลอมเอกสารหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อันเป็นเอกสารราชการโดยจำเลยในฐานะผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลบางนางในขณะนั้น ได้จัดทำหนังสือถึงนายอำเภอพานทองขอแต่งตั้งนางสาวนวลลักษณ์ ชลา เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แทนบุคคลเดิมที่ลาออก โดยปลอมลายมือชื่อของนางสายสุนีย์ บุญมี กำนันตำบลบางนาง ลงในเอกสารดังกล่าวเพื่อให้นายอำเภอพานทองหลงเชื่อว่านางสายสุนีย์ได้ร่วมกับจำเลยพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งดังกล่าวเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ ต่อมาจำเลยนำเอกสารราชการปลอมดังกล่าวอ้างแสดงต่อนางสาวนพรัตน์ กุญแจทอง และนายอำเภอพานทอง นางสาวนพรัตน์ตรวจสอบเอกสารแล้วเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ได้นำเสนอนายอำเภอพานทองและนายอำเภอพานทองตรวจสอบเอกสารแล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงดำเนินการแต่งตั้งนางสาวนวลลักษณ์เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ความจริงแล้วนางสายสุนีย์ไม่ได้ร่วมพิจารณาคัดเลือกและไม่ได้ลงชื่อดังกล่าว ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสายสุนีย์ บุญมี นายอำเภอพานทอง ผู้อื่นหรือประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 12 เดือน และริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธร์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง, 268 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่งเพียงกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า การปลอมเอกสารจำต้องปลอมจากเอกสารที่มีอยู่จริงก่อนหรือไม่ เห็นว่า คำว่า "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น ดังนั้นเอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้เหตุนี้การปลอมเอกสารจึงไม่ต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน การที่จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบของกำนันโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออกดังกล่าว กับการที่จำเลยปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของกำนันลงในเอกสารดังกล่าวเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เช่นนี้ จึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษปรับจำเลยกระทงละ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่งลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษปรับกระทงละ 3,000 บาท เรียงกระทงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมลงโทษปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีกกับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
ผู้พิพากษา
สุรพล เอกโยคยะ
ชวลิต ตุลยสิงห์
เกษม วีรวงศ์
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:24:19
ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20:24:19
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2030 / 2554 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (5) อาวุธ หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพแต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ
สเปรย์พริกไทย ผลิตขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ฉีดพ่นเพื่อยับยั้งบุคคลหรือสัตว์ร้ายมิให้เข้าใกล้หรือทำอันตรายผู้อื่นผู้ที่ถูกฉีดพ่นสารในกระป๋องสเปรย์ใส่ จะมีอาการสำลักจาม ระคายเคืองหรือแสบตา หลังจากนั้นไม่นานก็สามารถหายเป็นปกติได้ เห็นได้ว่าการผลิตสเปรย์พริกไทยดังกล่าวมิได้ผลิตขึ้นเพื่อทำร้ายผู้ใด จึงไม่เป็นอาวุธโดยสภาพใช้ประทุษร้ายร่ายกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ สเปรย์พริกไทยจึงไม่เป็นอาวุธ ตามมาตรา 1 (5)
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:39:11
ปรับปรุงล่าสุด : วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 19:39:11
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 มาตรา ๓๖๔
ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เข้าไปหรือซ่อนตัวอยู่ในเคหสถาน อาคารเก็บรักษาทรัพย์หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น หรือไม่ยอมออกไปจากสถานที่เช่นว่านั้น เมื่อผู้มีสิทธิที่จะห้ามมิให้เข้าไปได้ไล่ให้ออก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 มาตรา ๓๖๕
ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๖๒ มาตรา ๓๖๓ หรือมาตรา ๓๖๔ ได้กระทำ
(๑) โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย
(๒) โดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป หรือ
(๓) ในเวลากลางคืน
ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 5459 / 2562จำเลยเดินเข้ามาถึงบริเวณใต้ชายคาบ้านที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุตามฟ้องโดยเปิดประตูหน้าบ้านและขว้างขวดแก้วเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุอันแสดงว่าจำเลยเข้ามาในบริเวณของบ้านที่เกิดเหตุแล้ว แม้จะไม่ได้เข้าไปในบ้านโดยเดินเข้าประตูหน้าบ้านมาก็ถือว่าจำเลยเข้ามาในเคหสถานแล้ว ตามนิยามในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (4) ที่ว่า “เคหสถาน” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้ความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกเคหสถานโดยใช้กำลังประทุษร้ายและมีอาวุธตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 364
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-
นาวิน ขำแป้น
[ทนายความ]
วันที่เพิ่ม : วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 21:29:39
ปรับปรุงล่าสุด : วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 21:34:19
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 มาตรา ๓๓
ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
(๑) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
(๒) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด
เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 มาตรา ๗๘
เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา ๘๓
ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มาตรา ๙๑
เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
(๑) สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี
(๒) ยี่สิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 มาตรา ๒๖๔
ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกันประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 มาตรา ๒๖๕
ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 มาตรา ๒๖๘
ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา ๒๖๔ มาตรา ๒๖๕ มาตรา ๒๖๖ หรือมาตรา ๒๖๗ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเอง ให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 4073 / 2545จำเลยที่ 1 ถ่ายสำเนารายการจดทะเบียนรถจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการ แล้วแก้ไขรายการในช่องผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้นฉบับ และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แก้ไขรายการจดทะเบียนรถในเอกสารที่แท้จริง แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แล้ว
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกได้ร่วมกันปลอมสำเนารายการจดทะเบียนโดยมีเจตนาอย่างเดียวกับการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์เพื่อให้เจ้าพนักงานเห็นว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ-6302 กรุงเทพมหานคร ได้จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจำเลยกับพวกจะได้ใช้รถยนต์นั้นโดยชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในการปลอมรายการจดทะเบียนจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมซึ่งจะต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265 และโดยที่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิจารณาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์และฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่กรมการขนส่งทางบกออกให้แก่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียนผ - 7950 สุพรรณบุรี โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเลขทะเบียนรถเป็น 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานคร แก้ไขวันสิ้นอายุจากเดิมวันที่ 3 เมษายน 2542 เป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2542 อันเป็นการแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารราชการและจำเลยทั้งสี่ร่วมกันปลอมแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นเอกสารราชการของกรมการประกันภัย โดยนำแผ่นป้ายซึ่งกรมการประกันภัยออกให้แก่ยานพาหนะอื่น มาแก้ไขหมายเลขทะเบียนรถจากเดิมเป็นหมายเลขทะเบียน 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานครอันเป็นการแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารราชการนอกจากนี้จำเลยทั้งสี่ยังร่วมกันปลอมเอกสารราชการสำเนารายการจดทะเบียนรถขึ้นทั้งฉบับแล้วจำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์และแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถซึ่งเป็นเอกสารราชการที่จำเลยทั้งสี่ทำปลอมขึ้นไปติดไว้ที่กระจกด้านหน้ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ผ - 7950 สุพรรณบุรี ซึ่งติดแผ่นป้ายทะเบียน 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานคร ของรถคันอื่นแล้วใช้อ้างแสดงต่อร้อยตำรวจโทมนต์ชัย พุ่มพูน กับพวกต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมยึดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและสำเนารายการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยทั้งสี่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 91, 83, 33 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 41, 42 และริบของกลาง
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องมาเป็นคดีใหม่
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 91, 83, 33 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 41, 42 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ2 ปี รวม 3 กระทง จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 3 ปี ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265 จำคุกคนละ 2 ปี ฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปลอม ลงโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 42 วรรคสอง ประกอบมาตรา 41 จำคุกคนละ 2 ปีฐานปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265จำคุกคนละ 2 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกคนละ 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีคงมีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกา ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ถ่ายสำเนารายการจดทะเบียนรถจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วแก้ไขรายการเจ้าของรถในสำเนาเอกสารดังกล่าวในช่องผู้ถือกรรมสิทธิ์จากเดิมเป็นชื่อผู้อื่นเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ได้แยกการกระทำเป็น 2 ประการ คือ การทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดประการหนึ่ง และการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง อีกประการหนึ่งการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดไม่จำต้องกระทำลงในเอกสารที่แท้จริง ต่างไปจากการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ซึ่งต้องกระทำในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด จำเลยที่ 1 ถ่ายสำเนารายการจดทะเบียนรถจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วจำเลยที่ 1 แก้ไขรายการในช่องผู้ถือกรรมสิทธิ์ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้นฉบับ และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้แก้ไขรายการจดทะเบียนรถในเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปลอม และปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถ แม้เอกสารทั้ง 3 รายการ จะเป็นเอกสารคนละประเภทแต่จำเลยมีเจตนาประการเดียวคือเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นเอกสารสำหรับใช้ประกอบกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานคร การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น เห็นว่า สำหรับการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นปรากฏชัดเจนว่าเป็นการปลอมขึ้นสำหรับใช้กับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานคร แต่การปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุให้เห็นชัดเจนเช่นในข้อหาอื่นว่าเป็นการทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้รถยนต์คันดังกล่าวหรือต่างคันกันแต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์ทั้งฉบับแล้วก็พอจะแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่าเป็นการปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถหรือสำเนาใบคู่มือจดทะเบียนรถเพื่อใช้กับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ - 6302กรุงเทพมหานคร นั่นเอง ทั้งนี้เพราะการจะใช้รถยนต์คันนี้ได้นอกจากจะต้องติดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์แล้ว ตามกฎหมายผู้ขับรถหรือควบคุมรถจะต้องมีสำเนาใบคู่มือจดทะเบียนรถด้วยเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ในคดีนี้กับพวกได้ร่วมกันปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาอย่างเดียวกันกับการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ เพื่อให้เจ้าพนักงานเห็นว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานคร ได้จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจำเลยดังกล่าวกับพวกจะได้ใช้รถยนต์นั้นโดยชอบการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในการปลอมรายการจดทะเบียนจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมซึ่งจะต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265และโดยที่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาข้อนี้ให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 ส่วนการปลอมและใช้แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนั้น เห็นได้ว่าก็เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ามีการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 อันเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไว้อย่างละเอียดแล้ว ศาลฎีกาไม่ต้องกล่าวซ้ำอีกข้อนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดฐานปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ ฐานปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถ และฐานใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม ความผิดของจำเลยทั้งสามฐานนี้เป็นกรรมเดียวกันให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 265 จำคุกคนละ 2 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 1 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225
ผู้พิพากษา
ประเสริฐ เขียนนิลศิริ
สุเมธ ตังคจิวางกูร
ชวลิต ยอดเณร
ฎีกาน่าสนใจ
กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!
-